‘นักการเมือง’ แบบใดอยู่กับ ‘ทักษิณ’ รอด ภายใต้ปรากฏการณ์ ‘ชลน่าน - ปานปรีย์’

30 เม.ย. 2567 - 10:42

  • วิเคราะห์ ‘นักการเมือง’ แบบใดอยู่กับ ‘ทักษิณ’ รอด ภายใต้ปรากฏการณ์ ‘ชลน่าน - ปานปรีย์’ ตกเก้าอี้สำคัญ ในมุมมองของ ‘รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ และ ‘รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’

Adjustment-analysis-Thaksin's-Cabinet-SPACEBAR-Hero.jpg

 หากอ่านตัวตนของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ผ่านการเป็นเบื้องหลังในการปรับ ‘ครม. เศรษฐา 1/1’ จะเห็นได้ว่า เขาบริหารเมืองเหมือนๆ กับบริหารธุรกิจ มี ‘เก้าอี้’ เป็นผลตอบแทน ขณะที่บุคคลที่ไร้ซึ่ง ‘อำนาจการต่อรอง’ และ ‘ผลประโยชน์’ ก็ถูก ‘ปลดออก’ จากตำแหน่งสำคัญ ไม่ว่าจะกรณีของ ‘ชลน่าน ศรีแก้ว’ หรือ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ ที่แสดงให้เห็นภาพเหล่านี้ชัดเจน ทั้งๆ เพิ่งเข้าสู่อำนาจร่วมการบริหารกับรัฐบาลได้ไม่เกิน 8 เดือน เท่านั้น 

นักวิเคราะห์ทั้งหลายเชื่อว่า ‘ลูกหม้อ’ ที่จะมัดใจ ‘นายใหญ่’ ได้ต้องมีลักษณะของการเป็น ‘ผู้ร่วมทุน’ มากกว่าการเป็น ‘ลูกน้อง’ มิเช่นนั้นถึงเวลา ‘หมดประโยชน์’ ก็จะถูกเฉดหัวไป ซึ่งความเคลื่อนไหวแบบสามัญประจำทำเนียบฯ ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย 

'สามมิตร' คือตัวอย่างของ 'นักการเมืองอยู่เป็น'

‘รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล’ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ตั้งสมมติฐานออกมาในทำนองเดียวกัน ว่าจะการจะคงอยู่ในอำนาจได้นาน สส. พรรคเพื่อไทย จำเป็นต้องมีทรัพยากรอันเป็นประโยชน์ให้ทักษิณได้ เฉกเช่น ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ และ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่ไม่ทำตัวเป็นลูกน้อง แต่เป็น ‘ผู้ร่วมทุน’ และต้องมีแทคติกทางการเมือง ตามสำนวนขุนนางโบราณ ‘รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’  

หากไม่เป็นผู้ร่วมทุน หรือไม่มีลูกเล่นทางการเมือง ธนพร เชื่อว่า บุคคลนั้นจะไม่ถูกนับรวมว่าเป็นขุนพลสำคัญของพรรค ดังนั้นไม่ว่าใครต่อใคร ที่อาศัยร่มเงาพรรคเพื่อไทยมานมนาน ต่างมีสิทธิ์ที่จะโดนแบบ ‘ชลน่าน’ และ ‘ปานปรีย์’ ทั้ง ซึ่งก้าวถัดไปในฐานะประชาชน จะต้องมองไปข้างหน้า ถึงการเฝ้าระวังการเปลี่ยนถ่ายตำแหน่ง ในกระทรวงสำคัญๆ ต่างๆ ด้วย

“เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับแบรนด์รอยัลตี้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะสไตล์การเมืองของคนที่จะมีตำแหน่งสำคัญ ต้องรู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี อย่างคุณสมศักดิ์ แต่อย่างไรก็ดี อยากให้ทุกคนช่วยกันจับตามองความเคลื่อนไหว ในกระทรวง สธ. ต่อจากนี้ แม้จะมีข่าวลึกๆ ว่าคุณสมศักดิ์ กับคุณสันติ (พร้อมพัฒน์) จะไม่ถูกกัน แต่ต้องระวังข้าราชการและฝ่ายนโยบายด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าจะรวมหัวกันทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า”

ธนพร ศรียางกูล กล่าว

ธนพร ยกกรณีที่เห็นภาพชัดเจน ถึงการมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้กับบุคคลที่สามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับพรรคเพื่อไทยได้ในวันข้างหน้า อย่างการที่ ‘พิชิต ชื่นบาน’ ได้เข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ อาจเป็นการมอบความเสี่ยงให้กับ ‘ทักษิณ’ และ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ที่จะถูกตั้งข้อครหาว่า นำบุคคลที่ไม่เหมาะสมเข้ารับหน้าที่สำคัญ ซึ่งในห้วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เคยมีรัฐบาลที่ถูกโจมตี แบบนี้มาแล้ว จากการนำบุคคลที่เคยมีพฤติกรรมในทางลบ (อันเป็นที่ประจักษ์) เข้าสู่คณะรัฐมนตรี  

ส่วนการมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถึง 3 คน ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย มองว่าเป็นการแต่งตั้งแบบ ‘ฟุ่มเฟือย’ เกินไป เพราะนับตั้งแต่สมัยของ ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่มีการแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานในสำนักนายกฯ และกฎหมายทุกฉบับจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ซึ่งประธานไม่ได้มาจากรัฐมนตรี แต่มาจาก ‘นายกฯ’ และ ‘รองนายกฯ’ ฝ่ายต่างๆ (ยกเว้นกรณีการกำกับดูแลสื่อของรัฐ ที่รัฐมนตรีสำนายกฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ) 

ขณะที่ ‘รศ.ดร. พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต' ผอ.หลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ขยายจากปัจจัยที่เห็นได้ในขณะนี้ โดยมี 2 ตัวแปร คือ 1) ต้องมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ - สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน มีผลต่อภาพลักษณ์ทางบวก 2) บุคคลที่มีส่วนในการรับใช้ ความต้องการของทักษิณ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะในบางกรณี ให้ทำงานบรรลุตามเป้าหมายโดยไม่จำเป็นต้องสนใจวิธีการ  

ซึ่งตัวแปรที่ 2 ย่อมมีน้ำหนักและความสำคัญกว่า ตัวแปรที่ 1 อย่างกรณีของ ‘ชลน่าน’ ก็เห็นได้ชัดเจนว่า ‘ภาพลักษณ์เสีย’ จากการ ‘ตระบัตย์สัตย์’ แม้จะเป็นตำรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่สามารถเรียกคืนคะแนนนิยมให้กับพรรคได้  

สำหรับ ‘สมศักดิ์’ และ ‘สุริยะ’ อยู่ในข่ายตัวแปรที่ 2 สามารถตอบสนองความต้องการของนายใหญ่ได้ อาทิ สามารถสร้าง สส. ด้วยกำลังของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาศูนย์กลางอำนาจ และสามารถแสวงหาทรัพยากรต่างๆ มาสนับสนุนพรรคได้  คล้ายคลึงกับกรณีของ ‘สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ ที่มีขุมกำลังบ้านใหญ่ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว   

แล้วทำไม ‘ภูมิใจไทย’ ถึงไม่ร่วมวง ‘เก้าอี้ดนตรี’ 

ธนพร กล่าวต่อในกรณีที่ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ออกตัวแสดงเจตจำนงค์ตั้งแต่แรกเริ่ม ว่าจะไม่ขอให้มีการปรับเก้าอี้ ในสัดส่วนโควต้าของตนเอง เป็นเพราะทราบดีว่าไม่มีสิทธิ์ไปต่อรองอยู่แล้ว เนื่องจากบ้านใหญ่ภายในพรรค เข้าสู่ภาวะถดถอยจน และบุคลากรของภูมิใจไทยถูกชี้มูลมีการกระทำความผิด จนทำให้ภาพลักษณ์เรื่องความโปร่งใสหมดไป 

กระนั้น ได้กล่าวชื่นชม ‘เนวิน ชิดชอบ’ และ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ที่อ่านเกมการปรับ ครม. ตามมุมมองของสังคมได้เด็ดขาด ซึ่ง ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย มองว่า สภาพของรัฐบาลกำลังจะแย่ลง และเป็น ‘การนิ่งเพื่อไม่ให้เสีย’ ฉะนั้นภูมิใจไทยจึงเลือกจะไม่เข้าร่วมเล่นเกมเก้าอี้ดนตรีในครั้งนี้ 

ด้าน พิชาย ยังคงมองว่า พรรคภูมิใจไทยยังคงมีบทบาทในด้านการสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลเพื่อไทยอยู่ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่อนุทินจะออกตัวไม่ขอร่วมวงในการปรับ ครม. และพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้ตัดโควต้าใดๆ ของภูมิใจไทยออกแม้แต่คนเดียว แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า พรรคภูมิใจไทย กำลังเป็นแกนนำของปีกพรรคการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยมอยู่ เพราะสถานการณ์การปรับ ครม. ของรัฐบาลเศรษฐา ยังไม่ใช่จุดวัดอำนาจพรรคการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ แต่ต้องให้ดูกันยาวๆ จนกว่าจะถึงห้วงเลือกตั้ง 

เมื่อถามว่า ภาพของการปรับ ครม. สะท้อนภาพความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทยและภูมิใจไทย (ทักษิณ ชินวัตร , เนวิน ชิดชอบ) ออกมาในมิติใด  พิชายวิเคราะห์ว่าเป็นการแสดงให้เห็นนัยของความร่วมมือ เนื่องจากเป็นพรรคที่มีระบบคิดที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งหากมองจากจุดนี้ไปจนถึงการเลือกตั้ง เชื่อว่าทั้งสองพรรคจะยังคงเป็นพันธมิตรกันต่อ เพื่อต่อสู้กับ ‘พรรคก้าวไกล’

“การปรับ ครม. ครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า คุณทักษิณไม่ได้มองเนวิน ในฐานะลูกน้อง หรือผู้ร่วมทุนทางการเมือง แต่เป็นพาร์ทเนอร์ ที่มีอำนาจต่อรองอยู่ แต่เมื่อเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมสายปฏิบัติ ถึงจุดหนึ่งเราอาจได้เห็นการเปลี่ยนข้างของภูมิใจไทยก็ได้ แต่ตอนนี้ยังคงต้องเป็นพันธมิตรกันอยู่ ตามกระบวนทัศน์ในฐานคิดแบบเดียวกัน”

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์