‘การุณยฆาต’ คำขอสุดท้ายจากผู้ป่วย! ประเทศไหนเห็นชอบถูกกฎหมายแล้วบ้าง?

1 พ.ค. 2567 - 00:00

  • บางครั้งอาการเจ็บป่วยอันแสนทรมานและไม่มีวันหายได้จนบั่นทอนชีวิตก็ทำให้พวกเขาต้องเอ่ยคำขอสุดท้ายนั่นก็คือ ‘การการุณยฆาต’

  • แล้วการการุณยฆาตประเทศไหนบ้าง? ที่เห็นชอบถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

assisted-dying-euthanasia-around-the-world-where-and-when-it-is-allowed-SPACEBAR-Hero.jpg

หญิงชาวเปรูวัย 47 ปี ‘อานา เอสตราดา’ กลายเป็นบุคคลแรกในประวัติศาสตร์ประเทศที่เสียชีวิตจากการ ‘การุณยฆาต’ (euthanasia) หลังป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หายติดเตียงจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและได้รับการดูแลตลอดเวลา อีกทั้งเธอยังเผชิญกับการต่อสู้ทางกฎหมายอันยาวนานเพื่อขอใช้สิทธิ์การุณยฆาต เนื่องจากการกระทำดังกล่าวถือเป็นสิ่งต้องห้ามในเปรู แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ศาลเปรูได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ‘เคารพการตัดสินใจของเอสตราดา’ ที่เลือกจะจบชีวิตของเธอด้วยกระบวนการทางการแพทย์ 

ในปี 2022 เอสตราดาได้รับข้อยกเว้นจากศาลฎีกาของประเทศ ซึ่งยึดถือคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้สิทธิเอสตราดาตัดสินใจว่าจะยุติชีวิตของเธอเมื่อใด และกล่าวว่าผู้ที่ช่วยเหลือเธอจะไม่ถูกลงโทษ นั่นจึงทำให้กรณีของเอสตราดากลายเป็นเคสแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศเปรูที่ระบบยุติธรรมยอมรับและอนุญาตให้บุคคลมีสิทธิที่จะจบชีวิตของตัวเองได้

‘การุณยฆาต’ หรือที่มักเรียกกันว่า ‘การตายอย่างสงบ’ หมายถึง การจงใจจบชีวิตเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานที่ถูกกฎหมายด้วยวิธีการทางการแพทย์ ซึ่งมีวิธีที่แตกต่างกันไปทั่วโลก แต่ก็มีประเทศจำนวนไม่มากที่อนุญาตให้มีการกระทำเช่นนี้

แล้วมีประเทศไหนบ้างที่อนุญาตให้ ‘การการุณยฆาต’ ถูกกฎหมาย

assisted-dying-euthanasia-around-the-world-where-and-when-it-is-allowed-SPACEBAR-Photo01.jpg

-สวิตเซอร์แลนด์- 

ประมวลกฎหมายอาญาของสวิสปี 1942 อนุญาตให้มี ‘การช่วยฆ่าตัวตาย’ ได้ ตราบใดที่แรงจูงใจในการทำเช่นนั้น ‘ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว’ โดยผู้ที่ช่วยเหลือบุคคลนั้นให้ตายไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ ใครๆ ก็สามารถช่วยเหลือได้ตราบเท่าที่แรงจูงใจของพวกเขาคือ ‘การเห็นแก่ผู้อื่น’  

แต่ ‘การการุณยฆาต’ ทุกรูปแบบยัง ‘เป็นสิ่งต้องห้าม’ ตามมาตรา 114 ของประมวลกฎหมายอาญา ในปี 2000  มีการพยายามหลายครั้งเพื่อทำให้การปฏิบัตินี้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในที่สุดสภาสหพันธรัฐ (รัฐบาล) ก็ต้องยอมแพ้ไปในเดือนมิถุนายนปี 2000 

ดังนั้นจึงไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการช่วยฆ่าตัวตาย แต่มีเพียงคำสั่งด้านจริยธรรมทางการแพทย์ที่ออกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งสวิส (Swiss Academy of Medical Sciences) เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขหลักที่ต้องปฏิบัติดังนี้ : 

  • ต้องเป็นผู้ใหญ่มีอำนาจในการไตร่ตรองเต็มที่ 
  • สามารถใช้ยาขนาดที่อันตรายถึงชีวิตได้ด้วยตนเอง 
  • ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างใดอย่างหนึ่ง จากโรคร้ายที่รักษาไม่หาย หรือทุกข์ทรมานจนทนไม่ได้ หรือมีโรคประจำตัวหลายอย่างเกี่ยวกับวัยชรา  

-เนเธอร์แลนด์-

assisted-dying-euthanasia-around-the-world-where-and-when-it-is-allowed-SPACEBAR-Photo02.jpg

สำหรับประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นมีกรอบกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับการ ‘การุณยฆาต’ ซึ่งควบคุมโดย ‘พระราชบัญญัติการยุติชีวิตตามคำขอและการช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ (อยู่ในกระบวนการพิจารณา)’ ปี 2001 ต่อมาในเดือนเมษา 2002 เนเธอร์แลนด์ก็กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้การการุณยฆาตนั้นถูกกฎหมาย โดยแพทย์จะจ่ายยาในปริมาณที่อันตรายถึงชีวิตแก่ผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานจากอาการที่รักษาไม่หาย 

กฎหมายของเนเธอร์แลนด์ระบุว่า “ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหว และไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น และมีความประสงค์ที่จะตายในลักษณะที่ ‘สมัครใจ’” 

ในปี 2012 กฎหมายอนุญาตให้มีการการุณยฆาตแก่เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างหนัก โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง และในปี 2020 อนุญาตให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมขั้นรุนแรงสามารถร้องขอการการุณยฆาตได้  

กระทั่งเดือนเมษายน 2023 กฎหมายก็อนุมัติการการุณยฆาตสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี หลังจากถกเถียงกันมานานหลายปี  

-เยอรมนี- 

‘การการุณยฆาต’ ในเยอรมนีถือเป็น ‘การฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา’ ตามมาตรา 216 ของประมวลกฎหมายอาญาของเยอรมนี และอาจนำไปสู่การจำคุกสูงสุด 5 ปี ในปี 2015 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 ได้ห้ามการช่วยฆ่าตัวตายซึ่งกระทำโดยองค์กรที่มีความตั้งใจที่จะจัดระเบียบการฆ่าตัวตายด้วยการช่วยซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นอาชีพ มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี แต่การช่วยเหลือส่วนบุคคลไม่ต้องรับโทษ 

บุคคลใดก็ตามที่ช่วยเหลือบุคคลที่เลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองจะไม่ถูกลงโทษจากการทำเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขก็คือ ‘บุคคลที่เสียชีวิตจะต้องตัดสินใจอย่างอิสระ’ 

ก่อนหน้านี้ มาตรา 271 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถูกนำมาใช้หลังจากการถกเถียงกันมากในปี 2015 ทำให้การช่วยฆ่าตัวตายแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในเยอรมนี เนื่องจากมีการกำหนดว่าใครก็ตามที่ช่วยเหลือผู้อื่นในการปลิดชีวิตตัวเองอาจถูกจำคุกสูงสุด 3 ปี กฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อหยุดสมาคมช่วยเหลือการฆ่าตัวตายซึ่งเรียกเก็บเงินจากสมาชิก 

แต่นับตั้งแต่คำตัดสินในปี 2020 สมาคมดังกล่าวก็ดำเนินกิจการได้โดยไม่ต้องรับโทษในเยอรมนี โดยเป็นการช่วยเหลือการฆ่าตัวตายร่วมกับวิธีทางการแพทย์ 

-เบลเยียม-

assisted-dying-euthanasia-around-the-world-where-and-when-it-is-allowed-SPACEBAR-Photo03.jpg

เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการ ‘การุณยฆาต’ ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด พระราชบัญญัติการการุณยฆาตของเบลเยียมปี 2002 อนุญาตให้ผู้ป่วยที่กำลังประสบกับความทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจจนทนไม่ไหว และไม่มีความหวังที่จะฟื้นตัวนั้นสามารถขอการการุณยฆาตได้ 

กฎหมายกำหนดว่าคำขอจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ พิจารณามาอย่างดีแล้ว และผู้ป่วยต้องได้รับแจ้งเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพและโอกาสของตัวเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นแพทย์ไม่จำเป็นต้องทำการการุณยฆาตและสามารถปฏิเสธคำขอได้ตามความเชื่อส่วนบุคคล 

-ลักเซมเบิร์ก- 

กฎหมายของลักเซมเบิร์กเกี่ยวกับการ ‘การุณยฆาต’ และ ‘การให้ความช่วยเหลือในการฆ่าตัวตาย’ นั้นช่วยให้บุคคลมีทางเลือกในการยุติชีวิตของตัวเองหากเผชิญกับสภาวะความทุกข์ทรมานอย่างทนไม่ได้ แต่กฎหมายจะกำหนดเงื่อนไขทางกฎหมายที่ค่อนข้างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและควบคุมขั้นตอนทางการแพทย์ที่ใช้ในการยุติชีวิตโดยสมัครใจ 

ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องยื่นคำร้องเพื่อการการุณยฆาตหรือรับการช่วยเหลือการฆ่าตัวตาย และแพทย์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นทางการและตามขั้นตอน 

-โปรตุเกส- 

สำหรับโปรตุเกส รัฐสภาอนุมัติร่างกฎหมายอนุญาตให้การ ‘การุณยฆาต’ ถูกกฎหมายสำหรับบุคคลที่มีอายุมากกว่า 18 ปีซึ่งป่วยด้วยโรคที่รักษาไม่หายและต้องทนกับความเจ็บปวดในระยะยาวจนทนไม่ได้ กฎหมายดังกล่าวจำกัดการบังคับใช้กับพลเมืองและผู้มีถิ่นที่อยู่ตามกฎหมาย ยกเว้นชาวต่างชาติที่ต้องการความช่วยเหลือในโปรตุเกส 

-สเปน- 

ส่วนประเทศสเปนนั้นอนุญาตให้การ ‘การุณยฆาต’ ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2021 โดยลดทอนความเป็นอาชญากรรมด้วยการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ สำหรับผู้ร้องขอจะต้องป่วยเป็นโรคร้ายแรงและรักษาไม่หายก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานจนทนไม่ได้  

-แคนาดา-

assisted-dying-euthanasia-around-the-world-where-and-when-it-is-allowed-SPACEBAR-Photo04.jpg

การ ‘การุณยฆาต’ (Medical Assistance in Dying / MAiD) ในแคนาดาเริ่มถูกกฎหมายในเดือนมิถุนายน 2016 โดยแพทย์สามารถให้ยาแก่ผู้ป่วยที่ขอจบชีวิตเพราะทรมานจากอาการป่วย ต่อมาในเดือนมีนาคม 2021 กฎหมายได้ครอบคลุมบุคคลที่มีอาการป่วยหนักและรักษาไม่หาย แต่แนวทางปฏิบัติดังกล่าวถูกตรวจสอบและโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดการป้องกันและการกำกับดูแลที่เพียงพอ ทั้งนี้ผู้ป่วยเองต้องมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่เข้มงวด รวมถึงกระบวนการนี้ต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและเพื่อป้องกันการละเมิด 

-สหรัฐฯ- 

‘การการุนยฆาต’ สำหรับผู้ใหญ่นั้นถูกกฎหมายใน 11 รัฐจาก 50 รัฐ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พระราชบัญญัติความตายอย่างมีเกียรติ (the Death With Dignity Act) ปี 2016 อนุญาตให้แพทย์สั่งจ่ายยา ต่อมาในปี 2023 มีการผ่านกฎหมายเพื่ออนุญาตให้ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพหลายประเภทในเขตนี้ลงนามในการการุนยฆาตด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ และอนุญาตให้ส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ แทนที่จะมารับด้วยตัวเอง 

-ออสเตรเลีย-

assisted-dying-euthanasia-around-the-world-where-and-when-it-is-allowed-SPACEBAR-Photo05.jpg

การ ‘การุณยฆาต’ หรือที่รู้จักว่าเป็นการช่วยให้ตายโดยสมัครใจ (VAD) นั้นถูกต้องตามกฎหมายในหลายรัฐทั่วออสเตรเลีย โดยทั่วไปกฎหมายกำหนดให้ : 

  • บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถตัดสินใจได้ 
  • ต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายโดยมีการคาดการณ์การเสียชีวิตภายใน 6 เดือน (หรือ 12 เดือนสำหรับภาวะเสื่อมของระบบประสาท) 
  • กระบวนการนี้ต้องผ่านการประเมินหลายครั้งโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจของบุคคลนั้นเป็นไปโดยสมัครใจและมีข้อมูลครบถ้วน 

ที่น่าสังเกตคือ ก่อนหน้านี้เขตเมืองหลวงของออสเตรเลียและเขตนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี (Northern Territory) เคยถูกไม่ให้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการการุณยฆาตเนื่องจากรัฐบาลกลางสั่งห้าม แต่ถูกยกเลิกไปในปี 2022 ซึ่งอาจปูทางไปสู่การทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในดินแดนเหล่านี้ในอนาคต 

-นิวซีแลนด์- 

ในปี 2019 กฎหมายนิวซีแลนด์อนุญาตให้บุคคลที่มีแนวโน้มว่าจะเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายภายใน 6 เดือน โดยจะต้องมีการประเมินทางการแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่าการตัดสินใจดังกล่าวนั้นปราศจากแรงกดดันจากภายนอก 

-โคลอมเบีย-

โคลอมเบียเป็นประเทศแรกในละตินอเมริกาที่ลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการช่วยฆ่าตัวตาย ซึ่งอนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สามารถยุติชีวิตของผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรงและรักษาไม่หาย จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติได้ การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้สะท้อนให้เห็นถึงจุดยืนที่ก้าวหน้าของประเทศในเรื่องสิทธิที่จะตายอย่างมีศักดิ์ศรี 

-เอกวาดอร์- 

ศาลรัฐธรรมนูญของเอกวาดอร์ลงมติเห็นชอบในการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการ ‘การุณยฆาต’ กลายเป็นประเทศที่ 2 ในละตินอเมริกาที่ทำเช่นนี้ คำตัดสินของศาลเน้นย้ำถึง :  

  • สิทธิในการมีชีวิตอย่างมีเกียรติ 
  • ทางเลือกในการยุติความทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสที่เกิดจากการบาดเจ็บสาหัสและรักษาให้หายขาดหรือการเจ็บป่วยที่รักษาไม่หาย 

คำตัดสินนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแนวทางของประเทศในการแก้ไขปัญหาการสิ้นสุดของชีวิต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์