BYD วางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตรถยนต์โดยสารแห่งแรกในไทย

16 มีนาคม 2566 - 02:48

BYD-laying-foundation-stone-passenger-Vehicle-manufacturing-SPACEBAR-Thumbnail
  • BYD เดินหน้าแผนวางไทย ‘ฐานการผลิตรถยนต์ EV’ วางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตรถยนต์โดยสารแห่งแรกในไทยแล้ว

  • พร้อมส่งมอบรถ BYD ATTO 3 คันที่ 9,999 และ 10,000

BYD บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของจีน สตาร์ทสร้างโรงงานผลิตรถยนต์โดยสารสาขาต่างแดนแห่งแรกขึ้นแล้ว ในประเทศไทย โดยจัดพิธีวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างโรงงานฯ ไป เมื่อ 10 มีนาคม 66 สะท้อนชัดถึงการเติบโตทางธุรกิจของ BYD ในต่างแดน รวมถึงความแข็งแกร่งทางธุรกิจที่หยั่งรากลึกยิ่งขึ้นของแบรนด์ในตลาดเอเชีย-แปซิฟิก  

เค่อ หยู่ปิน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีวายดี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การก่อสร้างและส่งเสริมฐานผลิตรถยนต์โดยสารมีความเกี่ยวข้องกันชนิดที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทันทีที่ฐานผลิตเริ่มประกอบการ ระยะเวลารอรับรถของลูกค้าในตลาดไทยจะลดลง เพราะไม่ต้องเสียเวลารอกระบวนการนำเข้า รอรถถูกขนส่งมาทางเรือและรอรถผ่านพิธีการศุลกากร ซึ่งใช้เวลานาน เรียกได้ว่าฐานผลิตในไทยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการส่งมอบผลิตภัณฑ์ของ BYD และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในตลาดไทยได้ดียิ่งขึ้น 

ฐานผลิตรถยนต์โดยสารของ BYD ในไทยมีพื้นที่เกือบ 600 ไร่ (1 ไร่มีขนาดราว 1,600 ตารางเมตร) และพร้อมจะเริ่มผลิตในปีหน้าด้วยกำลังผลิตต่อปีที่สูงถึงราว 150,000 คัน ในอนาคต  BYD จะเดินหน้านำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายยิ่งขึ้นรวมถึงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้บริโภคชาวไทย พร้อมทุ่มสุดตัวเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพาหนะพลังงานใหม่และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4f3vRw87Q6LE6gq4ZqqWUe/1dee6e185d443d1621ca9c278d4feb4d/BYD-laying-foundation-stone-passenger-Vehicle-manufacturing-SPACEBAR-Photo01
ในงานนี้ BYD ยังส่งมอบรถ BYD ATTO 3 คันที่ 9,999 และ 10,000 ให้แก่ลูกค้า เพื่อต้องการแสดงความขอบคุณ ตลอดจนประกาศความมุ่งมั่นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์คุณภาพและนวัตกรรม โดยมีบุคคลสำคัญจากหลากหลายวงการในประเทศไทยเข้าร่วม อาทิ  
  • นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) 
  • พิริยะ เข็มพล ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  
  • สุพจน์ ต่ออาจหาญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง  
  • ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน,  
  • จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 
  • ทรงศักดิ์ ชื่นตา ผู้อำนวยการ กนอ. สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด 1-4  
  • ประธานวงศ์ พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ BYD ในประเทศไทย เป็นต้น 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1JCheWemjJi6fJTabVC2yS/ff7e9e667cd7ea63506807fe22cc52ca/BYD-laying-foundation-stone-passenger-Vehicle-manufacturing-SPACEBAR-Photo02
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ BOI เผย การจัดตั้งฐานผลิตในประเทศไทยของ BYD จะเสริมพลังให้แก่อุตสาหกรรมพาหนะพลังงานใหม่ของไทย รวมถึงช่วยสร้างงานและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ที่สำคัญ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและไทยด้วย 

ด้าน พิริยะ เข็มพล ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ EEC กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ทุกประเทศใส่ใจต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการขาดแคลนพลังงาน การส่งเสริมการพัฒนาพาหนะพลังงานใหม่จึงถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการปกป้องโลกและถือเป็นสิ่งที่ต้องเลือกทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจบนโลกใบนี้ 

หลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสทรี จำกัด ระบุว่า BYD ยึดมั่นในปรัชญา ‘เทคโนโลยี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอนาคต’ ขององค์กรมาโดยตลอด จึงส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพาหนะพลังงานใหม่อย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งฐานการผลิตรถโดยสารในไทยถือเป็นกุญแจสำคัญในการเร่งขยายธุรกิจในตลาดเอเชีย-แปซิฟิกและการพัฒนาอุตสาหกรรมในตลาดท้องถิ่น 

หวาง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาเศรษฐกิจและพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวว่า พิธีวางศิลาฤกษ์ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ BYD ที่มุ่งมั่นขยายฐานการผลิตและขับเคลื่อนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงเป็นประจักษ์พยานสำคัญถึงความพยายามของ BYD ในการเร่งขับเคลื่อนแวดวงพลังงานใหม่และสร้างการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นจริงในระดับโลก 

ฉายภาพประเทศไทย ศูนย์กลางพาหนะพลังงานใหม่  
ปัจจุบัน ประเทศไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางพาหนะพลังงานใหม่ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย ณ วันที่ 31 มกราคม 2566 มีจำนวนพาหนะพลังงานใหม่ที่จดทะเบียนใช้งานในไทยแล้วทั้งสิ้น 16,672 คัน สูงขึ้นร้อยละ 281.86 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีก่อนหน้า ที่สำคัญ ตลาดพาหนะพลังงานใหม่ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอีกอย่างรวดเร็ว เพราะจำนวนรุ่นรถยนต์ในตลาดและมาตรการให้เงินสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการใช้งานพาหนะที่เป็นต่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย 

โชว์ BYD ATTO 3 สัดส่วน 8% ของยอดจดทะเบียนในไทย 
ทั้งนี้ เฉพาะแค่รถ BYD ATTO 3 รุ่นเดียว BYD ยังสามารถจดทะเบียนรถได้มากถึง 1,352 คัน นับตั้งแต่เริ่มวางจำหน่ายในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจนถึงปลายเดือนมกราคมปีนี้ โดยจำนวนดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8 ของจำนวนพาหนะพลังงานใหม่ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และจำนวนรถ BYD ATTO 3 ที่จดทะเบียนในไทยยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยตัวเลขพุ่งไปแตะ 3,000 คันแล้ว ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 สะท้อนชัดถึงตำแหน่งผู้นำของ BYD ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 100% ของไทย 

ย้อนดูการเติบโตของ BYD 
สำหรับปี 2565 BYD มียอดขายพาหนะพลังงานใหม่สูงถึง 1.86 ล้านคันหรือสูงขึ้นร้อยละ 208.6 จากปีก่อนหน้า ขึ้นแท่นเป็นผู้นำพาหนะพลังงานใหม่ของโลกในแง่ยอดขายไปเป็นที่เรียบร้อย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 ยอดขายพาหนะพลังงานใหม่ของ BYD สูงถึง 193,655 คัน  

นับเป็นตัวเลขก้าวกระโดดจากยอด 88,283 คันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ในตลาดยานยนต์ไฟฟ้า 100% ยอดขายของ BYD อยู่ที่ 90,639 คันในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 เมื่อรวมกับยอดขายจากเดือนมกราคมของปีเดียวกัน ยอดขายรวมจะสูงถึง 161,977 คัน หรือเติบโตร้อยละ 80.86 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน  

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการที่ BYD มีแผนยกระดับการดำเนินงานตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิตและช่องทางการขายอย่างแข็งขัน พร้อมทั้งยังมีแรงหนุนยานพาหนะพลังงานใหม่อย่างจริงจังจากภาครัฐบาลในหลายประเทศ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์