ซีไอเอ็มบีไทย ชี้ Currency War 3.0 กำลังเป็น ‘สงครามค่าเงินรูปแบบใหม่’

10 มีนาคม 2566 - 09:06

CIMBThai-Currency-War-3-no-pivot-landing-dis-inflation-SPACEBAR-Thumbnail
  • ซีไอเอ็มบีไทย ชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเผชิญความท้าทายจากเงินเฟ้อ ‘ฝั่งอุปสงค์’ ที่ขยายตัว และค่าจ้างแรงงานยังเพิ่มสูง

  • แต่ ‘ฝั่งตลาดเกิดใหม่’ กำลังเผชิญสงครามค่าเงินรูปแบบใหม่ (Currency War 3.0) แนะจับตาใกล้ชิด คาดแบงก์ตรึงดอกเบี้ย ปล่อยค่าเงินไหล

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ตลาดการเงินผันผวนหนักอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด สะท้อนว่าการขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับ 4.75% ไม่สามารถชะลอเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงได้ จนนักลงทุนคาดว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจจำเป็นต่อจนถึงระดับ 5.50% ในเดือนมิถุนายน 

อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯ มองว่า เฟดไม่จำเป็นต้องกลับมาใช้ยาแรงด้วยการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.50% เพื่อฉุดเงินเฟ้อลงเหมือนที่เคยทำเมื่อปีก่อน แต่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปครั้งละ 0.25% และไม่น่าเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงอย่างชัดเจน จนปรากฏคำใหม่ 3 คำ  
    no pivot - เฟดไม่พลิกกลับด้านมาลดดอกเบี้ย  
    no landing - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ชะลอลงจอดนิ่มๆ แต่ยังขยายตัวต่อเนื่อง  
    no dis-inflation – เงินเฟ้อไม่ลดลงเทียบเดือนต่อเดือนในระยะสั้น 

ในภาวะที่สหรัฐฯ ยังเผชิญความท้าทาย จากเงินเฟ้อฝั่งอุปสงค์ที่ขยายตัว และค่าจ้างแรงงานยังเพิ่มสูงจากตลาดแรงงานที่ตึงตัว ทั้งหมดนี้ นักลงทุนยังสามารถหาจังหวะการลงทุนในภาวะเช่นนี้ได้ แต่สำหรับฝั่งตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญสงครามค่าเงิน version ใหม่ หรือ Currency War 3.0  

Currency War 1.0 

ย้อนกลับไปปี 2019 ช่วงสหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีน ธนาคารกลางในภูมิภาคพยายาม “ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่า” หวังเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออก กลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เรียกว่าหากลดดอกเบี้ยแรงกว่าเพื่อน ค่าเงินจะอ่อนกว่า สามารถขายของหรือส่งออกได้ดีกว่า เกิดเป็นสงครามค่าเงินรูปแบบแรก (Currency War 1.0)   

Currency War 2.0 

แต่พอมาปี 2022 เกิดสงครามค่าเงินรูปแบบใหม่ (Currency War 2.0) ธนาคารกลางในภูมิภาคพยายาม “ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อพยุงค่าเงินให้ไม่อ่อนค่าแรงเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ” แม้การส่งออกทำได้ดี แต่ปัญหาอยู่ที่อัตราเงินเฟ้อสูง ค่าเงินที่แข็งค่าจะช่วยลดราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อและประคองเศรษฐกิจในประเทศ  

Currency War 3.0 

ปี 2023 กำลังจะเกิดสงครามค่าเงินอีกรูปแบบ (Currency War 3.0) เป็นการ “ตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อปล่อยให้ค่าเงินในประเทศอ่อนค่า” หวังเพิ่มความสามารถการแข่งขันการส่งออก ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังแข็งค่า ตามการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันกำลังลดลงช่วยให้อัตราเงินเฟ้อฝั่งเอเชียย่อลง และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค  

“สำหรับดอกเบี้ยนโยบายของไทย สำนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 29 มีนาคมนี้ อีก 0.25% สู่ระดับ 1.75% แต่ก็มีลุ้นว่าอาจเสียงแตกให้ตรึงดอกเบี้ย จากการที่ภาคส่งออกหดตัวอาจฉุดเศรษฐกิจไทยเสี่ยงโตช้า เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค และในการประชุมเดือนพฤษภาคมอาจเห็นการตรึงดอกเบี้ย ปล่อยให้บาทอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสสอง ช่วงเงินเฟ้อขยับลง เพื่อฟื้นเศรษฐกิจ” ดร.อมรเทพ กล่าว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2j3r8kPRXZKZtj6aBukhzJ/a1ccde77bc4a9e30ff477472dbfb21ab/CIMBThai-Currency-War-3-no-pivot-landing-dis-inflation-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์