เทสล่า - EV จีน บุกตลาด! อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ควรเดินหน้าต่ออย่างไร?

10 กุมภาพันธ์ 2566 - 03:35

KKP-Research-EV-Thai-market-2023-SPACEBAR-Thumbnail
  • KKP Research วิเคราะห์ว่า ปี 2022 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าไทยเข้าเกียร์สู่หลักไมล์ที่ดี

  • เหตุจากค่ายรถไฟฟ้าจีนเข้ามาตั้งโรงงาน และ Tesla เปิดตลาดในประเทศ

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังอยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน คำถามคือไทยควรคว้าโอกาสนี้อย่างไร

ถ้าปี 2022 ที่ผ่านพ้นไป เป็น ‘ปีทอง’ ของรถยนต์ไฟฟ้าไทย คำถามคือ ปี 2023 อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยควรจะไปต่ออย่างไร? 

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า ปี 2022 ที่ผ่านมา รถยนต์ไฟฟ้าไทยเข้าเกียร์สู่หลักไมล์ที่ดี เพราะปัจจัย 2 ข้อ 
  • ค่ายรถไฟฟ้าจีนเข้ามาตั้งโรงงาน ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ 
  • Tesla ตัดสินใจเปิดตลาดในประเทศ ช่วงปลายปี
แต่ 2 ปัจจัยนี้ มีจุดแตกต่างสำคัญ คือกลยุทธ์ในการบุกตลาดไทย 

ค่าย EV จีนตัดสินใจเปิดโรงงานและตั้งฐานการผลิตในไทย 

ขณะที่ Tesla เลือกนำเข้ารถยนต์จากจีนมาขาย และยังไม่มีการพิจารณาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นสัญญาณสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคตอันใกล้ 

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะเข้าเกียร์ D เดินหน้าต่อ รักษาสถานะผู้นำในภูมิภาค หรือจะเดินหมากพลาดกลายเป็นเกียร์ R อยู่ที่การตัดสินใจ 

เพราะการเข้ามาของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะกระทบกับตลาดรถยนต์เดิม และเมื่อตลาดเปลี่ยน ไทยจะมีความสามารถที่จะดึงดูดการลงทุนเพื่อผลิต EV ได้หรือไม่ 

เพราะในเวลานี้ EV คืออุตสาหกรรมที่กำลังเป็นเป้าหมายที่ภาครัฐทั่วโลกต้องการผลักดันเพื่อเป็นผู้นำ

ไทยดึงดูดผู้ผลิต EV ได้ดีแค่ไหน

ข้อมูลจาก KKP Research ประเมินว่า เมื่อมองจากมุมของ Tesla ไทยกำลังน่าสนใจน้อยลงในฐานะฐานการผลิตรถยนต์ EV จาก 3 ปัจจัยหลัก 
  1. ไทยมีตลาดที่ค่อนข้างเล็ก เมื่อดูจากกำลังซื้อภายในประเทศที่มีจำกัด โดยราคา Tesla ในปัจจุบันเจาะตลาดไทยได้เพียง 30,000 คันต่อปี คิดเป็น 4.5% ของตลาดรถยนต์ไทย 
  2. การนำเข้าจากโรงงานจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและโอกาสถึงจุดคุ้มทุนจากการตั้งโรงงานผลิตขายในตลาดไทยมีน้อย 
  3. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก นโยบายรัฐในประเทศพัฒนาแล้วมีความพยายามดึงการสร้างฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทางมากขึ้น (Reshoring) ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตลาดเกิดใหม่มีน้อยลง  

 อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าไทยจะหมดโอกาสเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะประเด็นการตัดสินใจตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จีนในไทยแตกต่างจาก Tesla เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 

เช่น ราคาที่ถูกกว่า Tesla จนมีฐานผู้บริโภค ทำให้ตลาดกว้างกว่า การตั้งโรงงานมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐที่อาจจะทำให้การขยายธุรกิจไปยังอเมริกาและยุโรปยังมีอุปสรรคในอนาคต

โรงงานจีน (อาจ) ไม่ส่งผลบวกมากอย่างที่คิด

KKP Research ประเมินว่าการเข้ามาลงทุนทางตรงในช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ายังสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจได้น้อยจาก 2 ประเด็นสำคัญ คือ 

  1. ขนาดการลงทุนยานยนต์ EV จากจีนยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และยังน้อยกว่าการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นเพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอดีต 
  2. มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการผลิตรถยนต์ EV มีน้อยลง และจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น อาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยเคยสร้างได้ในประเทศหายไปมากกว่าครึ่ง ในขณะที่การเข้ามาของธุรกิจขายรถยนต์ของ Tesla แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้น แต่ไม่ได้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก และสร้างความท้าทายมากขึ้นในระยะยาวต่อค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทย   

“ในภาพรวมแม้ว่าการเข้ามาของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีนจะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งใหม่ๆ อย่างอินโดนีเซีย ขนาดการลงทุนจากจีนมาไทยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ”

“โดยขนาดการลงทุนจากบริษัทจีนในอินโดนีเซียอย่าง CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับหนึ่งของโลกเพียงบริษัทเดียวมีมูลค่าการลงทุนมากกว่าครึ่งของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ทั้งหมดของไทย”

“และมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมามากกว่าไทยถึง 2 เท่า สะท้อนว่าไทยกำลังจะเจอการแข่งขันที่มากขึ้น และการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในไทยจะเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก” 

การมาของ Tesla กับแรงกระเพื่อมตลาดรถยนต์ไทย

แม้ว่าการเข้ามาของ Tesla จะยังไม่สามารถจับตลาดยานยนต์ทั่วไปของไทยได้ แต่ก็สร้างแรงกดดันอย่างมากต่อตลาดรถยนต์ในบางกลุ่ม โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบทันทีในระยะสั้น คือตลาดรถหรู และตลาดรถหรูมือสอง และในระยะยาวค่ายรถจีนและญี่ปุ่นจะได้รับแรงกดดันมากขึ้น 
  1. ตลาดรถหรู กลุ่มผู้ใช้รถหรูมีแนวโน้มเปลี่ยนมาใช้ EV เร็วกว่ากลุ่มผู้ใช้รถยนต์ทั่วไปถึง 5 เท่าจากการเพิ่มขึ้นของตัวเลือกรถยนต์ในตลาดที่มีระดับราคาใกล้เคียงกับผู้ใช้กลุ่มนี้ และ Tesla ที่เข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกของตลาดไทย จะเป็นคู่แข่งสำคัญของค่ายรถหรู จากราคาที่ใกล้เคียงกัน เทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ที่มีความทันสมัยกว่า 
  2. ตลาดรถหรูมือสอง มูลค่าการขายต่อรถหรูมีแนวโน้มลดลงจากระดับราคาซื้อ-ขายที่ใกล้เคียงกับรถยนต์ใหม่ Tesla ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้วในช่วงที่ผ่านมา 
  3. รถไฟฟ้าจากค่ายจีน Tesla มีข้อได้เปรียบแบรนด์จีนด้านภาพลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าและได้รับความไว้วางใจมากกว่า ซึ่งมีแนวโน้มกดดันให้ราคา EV จีนลดลงได้ 
  4. ค่ายรถญี่ปุ่น การขยับตัวที่ช้าของค่ายญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้ค่ายรถ EV อย่าง Tesla ขยายตลาดได้ง่ายขึ้น และมีความเสี่ยงเสียส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นจากระดับราคารถยนต์ Hybrid และ BEV ที่ใกล้เคียงกับ Tesla

ตลาด EV ในไทยมีแนวโน้มโตเร็วขึ้นแค่ไหน?

‘ก้าวกระโดด’ คือ นิยามการเติบโตของ EV ในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา 

เหตุจากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนผ่านส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุน และเติบโตได้เร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค 

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการขยายตลาดรถยนต์ EV มายังตลาดรถยนต์ใหญ่ของไทยยังทำได้ยากเนื่องจากราคารถยนต์ EV ที่ยังสูง 

อีกทั้งปัจจัยด้านอุปทานยังเป็นปัจจัยที่กำหนดความเร็วของตลาด EV ไม่ว่าจะเป็นสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม ภาวะขาดแคลนแผงวงจรไฟฟ้าทั่วโลกที่ทำให้ส่งมอบ EV ได้ช้า 

และที่สำคัญที่สุด คือการขาดแคลนสินแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV  

ในระยะต่อไป ประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับยานยนต์ไทย คือ
  1. สงครามราคาที่กดดันให้ราคา EV ถูกลงอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เร่งให้ตลาดไทยเปลี่ยนมาใช้ EV ได้เร็วขึ้น 
  2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง 
  3. นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้านที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ไทย  
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5Pn1oEpc2k75PVc2FbsnDm/e4b8c9203827ea56d81a32e91b601f3a/KKP-Research-EV-Thai-market-2023-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/XwocCco7tVltLnmXtK9FV/0dfa2c7717bfda7441225ef71d0d73a5/KKP-Research-EV-Thai-market-2023-SPACEBAR-Photo02

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์