คอนโดฯ ไทยรอบปีนี้ซัพพลายล้น สต็อกยาวถึงปี 2568 แตะ 876,000 ยูนิต

29 พฤศจิกายน 2565 - 03:59

Property-residential-condo-2023-SPACEBAR-Hero
  • กลุ่มคนรุ่นใหม่-วัยเกษียณต่างชาติมองหาที่อยู่อาศัยนอกประเทศ

  • ขณะที่ ‘ไทย’ กลายเป็นหมุดหมายสำคัญอีกแห่ง

สุพินท์ มีชูชีพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนา ผ่ากลยุทธ์ธุรกิจคอนโดมิเนียม ปี 2023 โดยสมาคมอาคารชุดไทยว่า ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2565 ตลาดคอนโดในไทยมีซัพพลายสูง 770,000 ยูนิต สต็อกคอนโดถึงปี 2568 อยู่ที่ 876,000 ยูนิต โดยมีอัตราการขายเฉลี่ยตั้งแต่ 2553-2565 อยู่ที่ 96.5% หากนับเฉพาะช่วง 3 ปีที่เผชิญโควิดยอดขายเหลือ 62% และในไตรมาส 3 ปี 2565 เหลืออัตราขายเฉลี่ย 50% 

ส่วนการเปิดโครงการในกลุ่มซูเปอร์พรีเมียม, พรีเมียม, ไฮเอนด์, อัพมิด ต่างลดลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย 3 ปี มีเพียงกลุ่มมิดโลว์ กำลังกลาง-ต่ำ มากกว่าค่าเฉลี่ย 2.2% ด้วยตลาดยังกังวลว่ากำลังซื้อต่างชาติยังไม่กลับกลุ่มอสังหาระดับราคาสูงจึงยังไม่เปิดมากนัก 

พร้อมเปิดเผยข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดช่วง 9 เดือนแรกปี 2565 มีทั้งหมด 58,000 ยูนิต รวมมูลค่า 150,683 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นคนตาางชาติ 10% หรือ 5,800 ยูนิต คิดเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 30,000 ล้านบาท แบ่งตามสัญชาติได้ดังนี้  

จีน 50% ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 5 ล้านบาท คิดเป็น 15,000 ล้านบาท, ฝรั่งเศส ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 6.8 ล้านบาท, อเมริกา ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 4 ล้านบาท, รัสเซีย ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 3.2 ล้านบาท, กัมพูชา ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 17.2 ล้านบาท, ไต้หวัน ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 7.4 ล้านบาท, สหราชอาณาจักร ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 4.1 ล้านบาท, เมียนมา ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 7.7 ล้านบาท, ออสเตรเลีย ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 5.7 ล้านบาท และอินเดีย ราคาซื้อคอนโดเฉลี่ย 4.3 ล้านบาท 

“จะเห็นได้ว่าหลาย ๆ ประเทศที่ยกตัวอย่าง ราคาเฉลี่ยการซื้อคอนโดสูงกว่าจีน ดังนั้นประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องทาร์เก็ตลูกค้าคอนโดเฉพาะคนจีนเท่านั้น” สุพินท์ กล่าว  

ด้าน อาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ ‘แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมกับลูกค้าต่างชาติ’ ว่าปัจจุบันตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยยังดึงดูดชาวต่างชาติ ด้วยค่าครองชีพถูกและราคาที่อยู่อาศัยถูกกว่า จากปัจจัยบวกเมื่อเทียบราคาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพกับพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ ถูกกว่าฮ่องกง 5 เท่า, ถูกกว่าสิงคโปร์ 3 เท่า และ ถูกกว่าเซี่ยงไฮ้ 2.5 เท่า 

“การซื้อคอนโดในไทยเป็นรูปแบบ Freehold ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ขาด โดยในหนึ่งโครงการเปิดรับชาวต่างชาติมากถึง 49% ขณะที่บางประเทศเป็นรูปแบบ Leasehold เช่าถือครองกรรมสิทธิ์ตามระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นข้อได้เปรียบของไทย” อาทิตยา กล่าว   

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะในประเทศที่ราคาอสังหาริมทรัพย์สูง อาทิ ฮ่องกง เริ่มมองหาที่อยู่อาศัยนอกประเทศ ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ กระทั่งวัยเกษียณ และไทยกลายเป็นหมุดหมายสำคัญอีกแห่ง 

ทั้งนี้ จากข้อมูลการซื้อคอนโดมิเนียมในไทยตั้งแต่ปี 2548 ถึงไตรมาส 2 ปี 2565 คิดเฉลี่ยเป็นคนไทย 79% และคนต่างชาติ 21% แบ่งออกเป็น  จีน 15%, สิงคโปร์และเยอรมนี 9% , รัสเซีย 8%, ฮ่องกง อังกฤษ และไต้หวัน 7% 

โดยแนวโน้มการขยายตัวของการขายคอนโดให้ชาวต่างชาติสูงในช่วง ปี 2554-2557 โดยสัดส่วนการซื้อ 30-40% ก่อนในปี 2555 จะหดตัวลงจากปัญหาความมั่นคงในประเทศ และในช่วงวิกฤตโควิดและหลังโควิดเหลือคนต่างชาติซื้อ 10-20%  

ด้าน ณัฎฐา คหาปนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด ระบุว่าที่ผ่านมาตลาดคอนโดมิเนียมไทยจะโตขนานไปกับการท่องเที่ยวในประเทศ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ (FDI) สะท้อนจากตัวเลขการลงทุนของต่างชาติในไทย เทียบกับการซื้อคอนโด ระหว่างปี 2561-2565 โดยปี 2561 มูลค่าเอฟดีไอ อยู่ที่ 5.82 แสนล้านบาท การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดชาวต่างชาติ 1.3 หมื่นยูนิต หรือ 10% ปี 2562 มูลค่าเอฟดีไอ อยู่ที่ 5.06 แสนล้านบาท การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดชาวต่างชาติ 1.27 หมื่นยูนิต หรือ 13% และในปี 2563 มูลค่าเอฟดีไออยู่ที่ 2.13 แสนล้านบาท การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดชาวต่างชาติ 8.2 พันยูนิต หรือ 12% 

ขณะที่ในปี 2564 มูลค่าเอฟดีไออยู่ที่ 4.55 แสนล้านบาท การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดชาวต่างชาติ 8.19 พันยูนิต หรือ 16%และในปี 2565 (ม.ค.-ส.ค.) มูลค่าเอฟดีไอ อยู่ที่ 2.75 แสนล้านบาท การถือครองกรรมสิทธิ์คอนโดชาวต่างชาติ 5.88 พันยูนิต หรือ 10% 

“ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์คอนโด ส่วนใหญ่ยังเป็นจีน แต่ตัวเลขยังลดลงต่อเนื่อง จากการทำนโยบาย zero covid ของจีนและปิดประเทศ การทำตลาดควรรุกจีนในกลางปี 2566 เป็นต้นไป” สุพินท์ กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์