ค่าไฟจะถูกลงเพราะแสงอาทิตย์หรือการเมือง ติดโซล่าเซลล์คุ้มแค่ไหน?

20 เมษายน 2566 - 03:38

TAGCLOUD-is-sola-cell-the-solution-for-high-electricity-bill-SPACEBAR-Thumbnail
  • วิเคราะห์เสียงคนไทย โซล่าเซลล์คือคำตอบของวิธีแก่ค่าไฟแพงหรือไม่

  • ในตอนต่อไปเราจะวิเคราะห์นโยบายค่าไฟถูกของพรรคการเมืองต่างๆ

‘#ค่าไฟแพง’ และ ‘#ค่าไฟ’ กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในพลัน กลายเป็นเทรนดิ้ง Twitter และเป็นประเด็นร้อนใน Facebook ด้วยสาเหตุสำคัญ 3 เรื่อง ระหว่างวันที่ 17 - 19 เมษายน

เกิดอะไรขึ้นกับประเด็นค่าไฟแพง? 

1. ชาวเน็ตพากันแชร์บิลค่าไฟเดือนมีนาคมที่แพงจนผิดปกติเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 

• บางรายเผยว่าค่าไฟเพิ่มขึ้นจาก 2,000 4,000 บาท บางรายเพิ่มขึ้นในระดับเท่าตัวเช่นกัน  
• บางคนชี้ว่าเพราะฤดูร้อนทำให้ต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แต่บอกคนบอกว่าใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่ค่าไฟแพงขึ้นได้อย่างไร? 
• บางคนถกเถียงว่าอาจเป็นเพราะการคำนวนค่าไฟที่ซับซ้อนเกินไป และยังคิดในอัตราก้าวหน้า

2. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ครายหนึ่งเผยบิลค่าไฟหลังติดตั้งโซลาร์เซลล์เป็นเงินแค่  71.71 บาท  

• ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ หัสธนนท์ หลักหลวง เผยว่าเขาใช้เวลาติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านแค่ 3 วัน เสียค่าใช้จ่ายไป 300,000 บาท  
• ปกติก่อนจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนละ 4,000 - 5,000 บาท ล่าสุดลดลงมาเหลือแค่ 71.71 บาท เท่านั้น  
• เขาบอกว่า “ค่าไฟเดือนนี้พอได้ กลางวันเปิดแอร์ 12000BTU 4 ตัว กลางคืน 3 ตัว จ่ายไฟบ้าน 3 หลัง ติดตั้งเอง ใช้งานเอง” 

3. ตัวแทนของพรรคการเมืองหาเสียงและดีเบตกันเรื่องสาเหตุของค่าไฟแพงแบบถี่ๆ  

• ระหว่างรายการ ‘ไทยรัฐดีเบต’ เมื่อวันที่ 18 เมษายน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตจากพรรคไทยสร้างชาติ ยกประเด็นค่าไฟแพงขึ้นมาโจมตีรัฐบาล  
• ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปช่วยพรรคก้าวไกลหาเสียงที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 2 เมษายน โจมตีรัฐบาลเรื่องค่าไฟแพง 
• หลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 เมษายน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับปากว่าจะหาสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟแพง 

เราจะแก้ปัญหาค่าไฟแพงยังไง? 

ประเด็นค่าไฟฟ้าคือปัญหาพื้นฐานของประชาชน จึงกลายเป็นนโยบายหาเสียงของบางพรรคการเมืองไปแล้ว ไม่เว้นแม้แต่พรรคฝ่ายรัฐบาล  
 
แต่เราต้องแยกการแก้ปัญหาเป็น 2 ประเด็นโดยอิงกับเรื่องวิวาทะค่าไฟแพงที่เรายกขึ้นมาแจกแจงข้างต้น  
 
1. การแก้ปัญหาด้วยตัวประชาชนเอง เช่น การติดตั้งโซล่าเซลล์ ว่าคุ้มหรือไม่คุ้มอย่างไร 
2. การแก้ปัญหาเชิงนโยบายโดยพรรคการเมือง เราจะมาดูกันว่าแต่ละพรรคมีแนวทางใดบ้าง 
 
ก่อนอื่นเราจะมาพูดถึงการติดตั้งโซล่าเซลล์กันก่อน เพราะเป็นทางเลือกที่ใช้เวลารอคอยน้อยกว่า ซับซ้อนน้อยกว่าการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย และเห็นผลจริงจากตัวอย่างของบางคน 
 
ในการพูดถึงโซล่าเซลล์ของเราจะไม่เน้นพูดถึงเชิงเทคนิครวมถึงความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ (มีการเอ่ยถึงบ้างเล็กน้อย) แต่จะเน้นที่ความกังวลของผู้ที่อยากจะติดตั้ง ซึ่งเป็นเสียงของคนไทยในโซเชียลมีเดีย เพราะจะสะท้อนไปถึงผู้ที่กำหนดนโยบายเรื่องนี้ และความกังวลเหล่านี้คือเรื่องพื้นฐานที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการติดตั้งโซล่าเซลล์ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ อุปสรรคที่จะทำให้เราใช้ไฟฟ้าแหล่งอื่นอาจจะถูกกว่า 

ใครที่อยากจะติดโซลาร์เซลล์? 

เราได้เห็นตัวอย่างไปแล้วว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ช่วยลดค่าไฟได้เป็นพันเท่าในกรณีของสมาชิกโซเชียลมีเดียคนหนึ่งที่เป็นข่าว และจากตัวอย่างข้างต้นทำให้เกิดความสนใจในหมู่คนไทยอย่างมาก เรื่องการใช้พลังงานทางเลือกแทนที่การใช้ไฟฟ้าแบบออนกริด (On-grid) หรือไฟฟ้าที่รับมาจากหน่วยงานผลิต ที่นับวันจะแพงขึ้นเรื่อยๆ  
 
Spacebar Dataops ได้ทำการสำรวจเสียงของผู้บริโภคบน social media พบว่า กลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านมากที่สุด คือกลุ่มที่คิดเรื่องค่าไฟมากถึง 50% พูดอีกอย่างก็คือ คนที่จะหันมาติดโซลาร์เซลล์คือคนที่อยากจะลดค่าไฟ คนกลุ่มนี้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งเลยทีเดียยว 
 
แต่ยังมีเหตุผลอื่นอีกที่ทำให้คนอยากจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ คือ คนที่เห็นว่าต้นทุนในการติดตั้งก็มีส่วนทำให้อยากจะมีเอาไว้ใช้ คนกลุ่มนี้มีอยู่ 13% สาเหตุที่น้อยกว่ากลุ่มแรก อาจเป็นเพราะการติดตั้งครั้งแรกค่อนข้างแพงเลยทีเดียว แต่มีอยู่ 7% ที่มองว่าคุ้มค่าในระยะยาว 

แพงเกินไป แล้วคุ้มไหม? 

จากการสำรวจคร่าวๆ โดยผู้เขียนตามเว็บไซต์ของธุรกิจรับติดตั้งโซล่าเซลล์ พบว่าค่าติดตั้งอยู่ที่ระหว่าง 110,000 – 130,000 บาท ทั้งหมดนี้รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงค่าธรรมเนียมของอนุญาตการติดตั้ง  
 
ราคาเริ่มต้นหลักแสนแบบนี้ทำให้หลายคนต้องชะงักเป็นธรรมดา ถึงแม้ว่ามันจะคุ้มค่าในระยะยาว แต่ปัญหาพื้นฐานก๋คือ “จะไปเอาเงินแสนมาจากไหน?” 
 
ลองสมมติกันเล่นๆ จากตัวอย่างที่ยกมาตอนแรก 300,000 บาท จากเดิมค่าไฟคิดกลมๆ เดือนละ 5,000 บาท จะคุ้มค่าได้ในเวลา 60 เดือนหรือ 5 ปี แต่ถ้าในระหว่างนั้นค่าไฟลดลงอย่างมากล่ะ? (เพราะค่าไฟมีความผันแปรพอสมควร) สมมติว่าเหลือแค่เดือนละ 3000 บาท กว่าจะคุ้มค่าจะต้องใช้เวลาถึง 150 เดือนหรือ 12.5 ปี ในขณะที่อายุการใช้งานของโซล่าเซลล์ คือ 25 ปี เมื่อบวกอายุการใช้งานเข้าไป ความกังวลเรื่องความคุ้มค่าจะยิ่งมีตัวแปรเพิ่มเข้าไปอีก 
 
ที่เราสมมติตัวอย่างจากคนที่ใช้ค่าไฟถึงเดือนละ 5,000 บาท และมีศักยภาพที่จะติดตั้งโซล่าเซลล์ในราคาแพงกว่าปกติถึง 300,000 บาท ก็เพื่อจะชวนให้ฉุกคิดว่า ตัวอย่างนี้คือคนที่มีฐานะปานกลางค่อนข้างดี และอาจมีครอบครัวใหญ่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าแพงถึงขนาดนั้น แต่กับครอบครัวขนาดย่อมและมีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อย การติดตั้งโซลาเซลล์อาจจะไม่คุ้ม 

คนยังกลัวเรื่องความไม่คุ้ม 

ดังนั้น Spacebar Dataops จึงพบจากการทำ Social listening ว่าในขณะที่มีความสนใจที่จะติดโซล่าเซลล์สูงเพราะหวังจะลดค่าไฟ (ส่วนนี้มีถึง 60%) แต่มีอยู่ 27% ที่ตั้งคำถามถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง  
 
และเมื่อสำรวจปัจจัยของผู้ที่กำลังจะติดตั้งโซล่าเซลล์นึกถึง พบว่า 29% นึกถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง และในอัตราส่วนเท่ากัน คือ 29% ยังกังวลเรื่องคุณสมบัติของโซล่าเซลล์ เช่น กังวลเรื่องสภาพอากาศช่วงที่ไม่มีแสงอาทิตย์ (ในทางเทคนิค เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพียงแค่เป็น ‘มายาคติ’ หรือความกังวลของคนทั่วไปที่ไม่เข้าไม่ถึงเรื่องเชิงเทคนิคแบบนี้) 
 
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ความกังวลเรื่องราคากาารติดตั้งและความคุ้มหรือไม่คุ้ม คือปัจจัยสำคัญที่คนอาจจะเลือกไม่ติดตั้งโซล่าเซลล์ และใช้ไฟฟ้าออนกริดกันต่อไป 

รัฐบาลยังสนับสนุนไม่พอ? 

เช่นเดียวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มีราคาแพงและโครงสร้างพื้นฐานก็มีต้นทุนสูง ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาอุดหนุนให้ราคาถูกลง ส่วนหนึ่งเพราะการใช้ EV เป็นต้วช่วยให้รัฐบาลทั่วโลกสามารถปฏิบัติพันธะต่อสหประชาชาติในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 
 
โซล่าเซลล์ก็ควรจะได้รับการสนับสนุนรูปแบบเดียวกัน แต่ระดับการสนับสนุนของรัฐต่อ EV กับโซล่าเซลล์ยังห่างชั้นแบบเทียบกันไม่ได้ อย่างที่เราจะเห็นว่าราคาค่าติดตั้งโซล่าเซลล์ยังสูงมากเกินกว่าครอบครัวธรรมดาจะแบกรับได้ แม้แต่ครอบครัวที่มีรายได้พอสมควร ก็ยังต้องใช้เวลานานกว่าจะคุ้มทุนการติดตั้ง   
 
ยังไม่นับการขออนุญาตติดตั้งก็เป็นเรื่องหนึ่งที่มีขั้นตอนพอสมควร โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฉบับที่ 65 ปี 2558 หากต้องการจะติดตั้งโซลาเซลล์ที่บ้าน พื้นที่ไม่เกิน 160 ตร.ม. น้ำหนักไม่เกิน 20 กก./ตร.ม. จะต้องขออนุญาตจาก 
1. หน่วยงานปกครองในท้องถิ่น  
2. คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  
3. การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 
 
ดังนั้น ความหวังที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์แบบฟรีๆ จึงไม่มีอยู่จริง แต่เต็มไปด้วยต้นทุนมากมาย และด่าน 18 อรหันต์ของระบบราชการ ที่ซับซ้อนเกินไปสำหรับคนธรรมดา 
 
นี่คือ แง่มุมของปัญหาที่ ทีม Tagcloud และ Spacebar Dataops พบจากการทำ Social listening ก่อนที่เราจะพูดถึงกันต่อไปถึงวิธีการแก้ปัญหาค่าไฟแพงในระดับนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ  
 
เพราะเราทราบแล้วว่า แม้แต่การติดตั้งโซล่าเซลล์ก็ยังต้องอาศัยพลังของการเมืองเข้ามาช่วยหนุนด้วย 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์