เปิดตำนานทุนจีนรุ่นแรก ขุนนางเจ้าสัว สู่นายทุนการเมือง

23 พฤษภาคม 2566 - 09:45

TAGCLOUD-the-history-of-chinese-capitalist-in-thailand-SPACEBAR-Thumbnail
  • สืบสาวเรื่องราวของทุนจีนรุ่นต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทย

  • ตั้งแต่รุ่นบุกเบิกที่ยังเป็นจีนแท้ๆ จนกระทั่งกลายเป็นคนไทยเต็มตัว

นายทุนจีนหลวง 

ในสมัยศักดินา (ดูหมายเหตุ 1) หน่วยงานที่ดูแลการค้าขายกับต่างประเทศแบ่งเป็น ‘กรมท่าขวา’ ดูแลการค้ากับประเทศทางตะวันตกและกิจการมุสลิม ส่วน ‘กรมท่าซ้าย’ ดูแลการค้ากับประเทศตะวันออกและเรื่องจีน ทั้งสองหน่วยงานนี้ขึ้นกับ ‘กรมคลัง’ ซึ่งดูแลทั้งเรื่องเงินทองของแผ่นดินและเรื่องการค้า 

กรมท่าซ้ายดูแลการค้ากับจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีกำลังซื้อมหาศาล กรมท่าซ้ายนี้จึงต้องรู้ภาษาจีน และมีเส้นสายกับคนที่จีน ดังนั้นจึงถูกผูกขาดโดยคนเชื้อสายจีน เจ้ากรมมีบรรดาศักดิ์ ‘พระยาโชฎึกราชเศรษฐี’ 

ตระกูลที่ผูกขาดตำแหน่งพระยาโชฎึกราชเศรษฐี คือคนจากตระกูลโชติกเสถียร โชติกพุกกณะ และโชติกสวัสดิ์ (คำว่า โชติก แปลมาจากคำว่า โชฏึก นั่นเอง) และยังมีตระกูลเครือญาติอีกมากมาย ซึ่งเป็นคนจีนฮกเกี้ยน เช่น จาติกวณิช (แซ่โซว)  

ในยุคศักดินา ขุนนางเจ้าสัวมักจะคนจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน เพราะเป็นคนจีนกลุ่มแรกที่รับราชการในราชสำนักไทย ต่อมาหลังสมัยกรุงธนบุรี มีคนจีนแต้จิ๋วเข้ามาตั้งรกรากในไทยมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว หลังจากนั้น ขุนนางเจ้าสัวจึงเริ่มมีคนแต้จิ๋วมากขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3rTykXmPXk7b1ndrqFSjFx/34482fc60135285dadce315433d874e3/TAGCLOUD-the-history-of-chinese-capitalist-in-thailand-SPACEBAR-Photo02
Photo: เถ้าแก่จีนคนหนึ่งกับครอบครัวที่ประกอบไปด้วยชายชาวจีนกับหญิงสยาม ภาพจากหนังสือ Twentieth century impressions of Siam
และในสมัยพระเจ้าตาก ได้เกิดชนชั้นใหม่ที่เรียกว่า ‘จีนหลวง’ (หมายเหตุ 2) ประกอบไปด้วยจีนฮกเกี้ยนและแต้จิ๋ว ในสมัยรัตนโกสินทร์ จีนหลวงเหล่านี้จะมีความเป็น ‘หลวง’ มากขึ้นผ่านการเกี่ยวดองกับราชสำนัก อย่างการถวายบุตรีให้เป็นเจ้าจอมของพระเจ้าแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น 
  • หลวงบรรจงวานิช (เหล่าบุ่นโข่ย) พ่อค้าที่มาจากจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มีบุตรชาย คือ พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ 
  • พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม พิศลยบุตร) เป็นเจ้าภาษีฝิ่น มีบุตรี คือ เจ้าจอมมารดาอ่วม (บุตรีคนที่ 2), เจ้าจอมเอม (บุตรีคนที่ 8), เจ้าจอมช่วง (บุตรีคนที่ 9) ในรัชกาลที่ 5
  • เจ้าจอมมารดาอ่วม มีพระโอรส คือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ ต่อมาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ 
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ มีพระโอรส คือ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาเป็น พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) 
  • พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ มีพระธิดา คือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ) 
ขณะเดียวกัน บุตรีคนที่ 5 ของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม พิศลยบุตร) คือ คุณหญิง เพิ่ม เป็นภริยาของพระยาโชฎึกราชเสรษฐี (พุก ต้นสกุล โชติกะพุกกะณะ)  

จีนหลวงไม่ใช่แค่เป็นแขนขาคอยช่วยเหลือราชสำนักในการควบคุมคนจีน และเป็นเครือญาติของราชสำนักเท่านั้น แต่ยังช่วยดูแลการค้าระหว่างประเทศให้ และทำหน้าที่เป็นคนเก็บภาษีด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นที่การพาณิชย์และการคลังตกอยู่ในมือคนจีน 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7tzGAM6Z2EXTElLI13G3pU/8734ae2847969d29b0b1ee16ff0bb047/TAGCLOUD-the-history-of-chinese-capitalist-in-thailand-SPACEBAR-Photo03
Photo: คฤหาสน์ของ ตันลิบบ๊วย แห่งตระกูลหวั่งหลี ภาพจากหนังสือ Twentieth century impressions of Siam

เงินสยามในมือจีน 

ความมั่งคั่งของคนจีนในประเทศไทยไม่ได้มาจากการดูแลกาารค้าเท่านั้น แต่ยังมาจากการการรับสัมปทานบริหารเศรษฐกิจและการเงินแทนขุนนางไทย ในยุคศักดินา ราชสำนักขาดผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินจึงมักจะให้สัมปทานคนจีนหาเงินเข้ารัฐ และเงินเหล่านั้นมักมาจากการประมูล สัมปทานธุรกิจหวย (อากรหวย) และบ่อนการพนัน (อากรบ่อนเบี้ย)  

เฉพาะในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มีการให้สัมปทานการเก็บภาษีอากรแก่คนจีนถึง 38 สัมปทาน ครอบคลุมอากรหวยไปจนถึงอากรสุรา 

คนจีนยังเป็นผู้ริเริ่มระบบเศรษฐกิจแบบตลาด (Market economy) ขึ้นในไทย เช่น คนไทยปลูกข้าว พ่อค้าจีนจะซื้อข้าวไปขายต่อ ทำให้เกิดธุรกิจผูกขาดการค้าข้าวขึ้นมา เมื่อบวกกับการริเริ่มระบบการเงิน การควบคุมภาษี ทำให้การหมุนเวียนของสินค้าและเงินตราอยู่ในมือคนจีน  

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงกรุงธนบุรีจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ยังมีการอพยพเข้ามาของคนจีนเป็นจำนวนมาก คนจีนเหล่านี้มาหาโอกาสใหม่ในชีวิตของตน แต่ก็ยังเป็นแรงงานสำคัญของประเทศสยามด้วย ดังนั้น ปัจจัยการผลิตของประเทศสยาม คือ ทุนและแรงงาน จึงอยู่ในมือคนจีนเข้าไปอีก  

ขณะที่รัฐบาลยุคศักดินาไม่มีปัญหากับการที่เศรษฐกิจอยู่ในมือคนจีน ตราบใดที่นักธุรกิจจีนทำเงินเข้ารัฐได้มาก ดังนั้น คนจีนจึงไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนชนชั้นไพร่ชาวสยาม เพียงแต่ ‘ผูกปี้’ คือเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน ทำให้รัฐบาลได้ทั้งแรงงาน ได้ทั้งผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และได้ทั้งเงินรายได้เข้ารัฐ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6mxNrzD4FGp8yvYnNbE2t2/75b2b42f947a6158f736d2305394adfe/TAGCLOUD-the-history-of-chinese-capitalist-in-thailand-SPACEBAR-Photo04
Photo: นายทุนจีนที่ทำธุรกิจโพยก๊วน นายทุนจีนใหม่ที่ผงานดขึ้นมาสมัยรัชกาลที่ 5 ภาพจากหนังสือ Twentieth century impressions of Siam

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า 

ไม่น่าแปลกใจที่ จอห์น ครอเฟิร์ด (John Crawfurd) หรือ ‘การะฝัด’ ทูตของบริเตนที่เดินทางมาเจรจาการค้าเสรีกับสยามในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงกล่าวว่า คนจีนอพยพนั้นคือ "การนำเข้าที่สำคัญที่สุดจากจีนมายังสยาม" (หมายเหตุ 3) เพราะมีคุณต่อเศรษฐกิจของชนชั้นนำ มากกว่าโทษ  

แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังทรงเห็นคุณของคนจีนต่อเศรษฐกิจ อย่างที่ทรงมีทัศนะว่า “พวกจีนทั้งหลายซึ่งเข้ามาในกรุงสยามนี้ย่อมมาทำการให้เป็นความเจริญแก่แผ่นดินของเราเป็นอันมาก เพราะเหตุฉะนั้นพวกจีนจึงได้รับความปกครองทำนุบำรุงด้วยความเอื้อเฟื้อเสมอเหมือนอย่างคนไทย ความสนิทสนมในระหว่างพวกจีนกับราษฎรของเราย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมิได้ถือว่าเป็นคนมาแต่ต่างประเทศ ... เมืองเรามีแผ่นดินเป็นอันมาก ซึ่งยังต้องการคนอันจะมาทำการให้เกิดผลทวียิ่งขึ้ เพราะฉะนั้นเมื่อพวกจีนเข้ามากขึ้นเพียงใด เราก็ยิ่งเป็นที่พอใจ” (หมายเหตุ 4) 

แต่เมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ตระกูลจีนเก่าแก่ เช่น สายโชฏึกทั้งหลายมีบทบาทลดลง เพราะกาารค้าไม่ได้ทำกันด้วยเรือสำเภาอีก แต่ด้วยเรือแบบตะวันตก และตลาดใหญ่ๆ ถูกตะวันตกควบคุมเกือบหมด ส่วนรัฐบาลเลิกพึ่ง ‘จีนหลวง’ หันไปพึ่งพาจีน ‘เจ้าสัวใหม่’ ที่เข้ามารับสัมปทานด้านต่างๆ จนร่ำรวย 

อันที่จริงแล้วความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของสยามเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เพราะตลาดใหญ่ของสยาม คือจีนตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เมื่อรัชกาลที่ 4 ส่งทูตไปยังจีน คณะทูตยังถึงกับถูกปล้นกลางทาง และเมื่อตลาดจีนพังพินาศลง ทางการสยามจึงต้องหาแหล่งทุนใหม่ เช่น การค้าขายกับตะวันตก  

แต่การตกอยู่ใต้อิทธิพลตะวันตกมากเกินไปก็เป็นอันตราย ดังนั้น ชนชั้นนำของสยามจึงต้องส่งเสริม ‘จีนใหม่’ เพื่อคอยถ่วงดุลพวกฝรั่ง และจีนใหม่เหล่านั้นไม่ใช่พวกจีนหลวง แต่เป็นพวกที่ทรงอิทธิพลในชุมชนจีนสามัญ และยังเป็นผู้นำสมาคมลับจำพวกอั้งยี่ (หมายเหตุ 5) ที่ต่อต้านอิทธิพลฝรั่งและราชสำนักราชวงศ์ชิง 

จีนใหม่เหล่านี้จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจในยุคต่อไปของสยามประเทศ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7oQfCjRzb4CMMUKNLtb5dM/48f95eba14d15054a5d35e70fc019fa5/TAGCLOUD-the-history-of-chinese-capitalist-in-thailand-SPACEBAR-Photo05
Photo: คฤหาสน์ของ ยี่กอฮง ภาพจากหนังสือ Twentieth century impressions of Siam

จากจีนหลวงสู่เจ้าสัวใหม่ 

เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง ในที่สุด ตำแหน่งโชฎึกราชเศรษฐีก็หมดความสำคัญลงไป ผู้ดำรงตำแหน่งคนสุดท้ายคือ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ผ่อง โชติกะพุกกะณะ) บุตรของพระยาโชฎึกราชเสรษฐี (พุก ต้นสกุล โชติกะพุกกะณะ)   

ตระกูลจีนหลวงรุ่นเก่าเหล่านี้จะค่อยๆ คลี่คลายบทบาทตัวเองจากตัวกลางทางเศรษฐกิจ มาเป็นผู้เล่นทางการเมืองทั้งในระบบศักดินาและในระบอบใหม่ เช่น คนของตระกูลจาติกวณิช คือ หลุย จาติกวณิช ที่เริ่มจากงานในกรมกองด้านการค้าและภาษี (ปลัดกรมสรรพการ) ต่อมาได้กลายเป็นอธิบดีกรมตำรวจ มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอธิกรณ์ประกาศ  
  • พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) มีบุตรชายคนที่ 3 ชื่อ เกษม จาติกวณิช ผู้ก่อตั้งและผู้ว่าการคนแรกของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมรสกับคนในตระกูลล่ำซำ 
  • พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) มีบุตรชายคนที่ 5 ชื่อ ไกรศรี จาติกวณิช อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  
  • ไกรศรี จาติกวณิช มีบุตรชายชื่อ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง   
จากตัวอย่างของตระกูลจาติกวณิช จะเห็นว่าแม้ว่าบทบาทด้านเศรษฐกิจยุคศักดินาของพวกจีนหลวงจะหมดลง แต่อิทธิพลทางการเมืองของพวกเขายังคงอยู่ต่อไป ทั้งยังควบคุมเศรษฐกิจมหภาคด้วยซ้ำในฐานะข้าราชการระดับสูงและรัฐมนตรีในยุคประชาธิปไตย

หมายเหตุ 
  1. ผู้เขียนใช้คำว่า ‘สมัยศักดินา’ กับยุคที่พระมหากษัตริย์มีมีอำนาจบริหารรัฐบาล แทนที่จะใช้คำว่า ‘สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ เพราะสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระราชอำนาจเบ็ดเสร็จหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่งจะเริ่มในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ก่อนนั้น พระราชอำนาจมิได้เบ็ดเสร็จ แต่ต้องขึ้นกับดุลอำนาจของพระบรมวงศ์ เช่น กรมพระราชวังบวรฯ (วังหน้า) ขุนนางที่ทรงอิทธิพล (เช่น ตระกูลบุนนาค) และอำนาจปกครองหัวเมืองของเจ้าเมืองท้องถิ่น รวมถึงระบบประเทศราช อำนาจของเจ้าและขุนนางที่มีศักดินาเหล่านี้ถ่วงดุลกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และแทรกแซง และท้าทายพระองค์บ่อยครั้ง จนกระทั่ง รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ความพยายามอย่างสูงที่จะรวบอำนาจเจ้าและขุนนางศักดินามาอยู่ที่พระองค์ และจัดการบริหารปกครองที่รวมศูนย์สำเร็จเป็นครั้งแรก  
  2. Tarling, Nicholas. ed. (1992). “The Cambridge History of Southeast Asia: From early times to c. 1800.” Cambridge University Press. p.350. 
  3. Chris, Baker. Phongpaichit, Pasuk. (2022). “A History of Thailand”. Cambridge University Press. p.37.  
  4. แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย. (2007). “วิถีจีนไทยในสังคมสยาม”. สํานักพิมพ์มติชน. P. 66. 
  5. Choi, Chi-cheung. Shiroyama, Tomoko. Viana, Venus. ed. (2022). “Strenuous Decades Global Challenges and Transformation of Chinese Societies in Modern Asia”. De Gruyter. p.61. 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์