ดัชนีเชื่อมั่นฯ หอการค้า กุมภาพันธ์ 66 ‘ดีขึ้น’ ทุกด้าน

10 มีนาคม 2566 - 02:50

UTCC-2023-SPACEBAR-Thumbnail
  • หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 66 แตะ 52.6 สูงสุดรอบ 3 ปี

  • ชี้แม้ดีขึ้น แต่ตัวเลขยังต่ำ 100 ตามต่อปัจจัยเสี่ยงทั้งเศรษฐกิจโลก การขึ้นดอกเบี้ยและเศรษฐกิจไทย กับมาตรการรัฐ ท่องเที่ยว และรัฐบาลชุดใหม่

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2566 อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี แจงแต่ละด้าน เป็นดังนี้  
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 46.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 46.0 ในเดือนมกราคม 2566  
  • ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ 49.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.0  
  • ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 61.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 60.2  
กล่าวได้ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม ‘ดีขึ้นทุกตัว’ และสูงสุดในรอบ 36 เดือน นับตั้งแต่มีนาคม 2563 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 ทุกรายการ นั่นหมายความว่า ประชาชนยังห่วงใยเศรษฐกิจ ที่ยังโตแบบไม่โดดเด่น 

สำหรับปัจจัยบวกสำคัญ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2566 ที่ภาครัฐมีให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปดีมีคืน, มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น, ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดปรับดีขึ้น, ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเริ่มปรับตัวลดลง, เงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อย 

ขณะที่ปัจจัยลบที่สำคัญ ได้แก่ ผู้บริโภคยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผย GDP ปี 2565 ขยายตัวได้เพียง 2.6% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3.2%, การส่งออกของไทยในเดือนมกราคม 2566 ลดลง 4.5% และความกังวลต่อสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันและพลังงานโลกยังทรงตัวสูง ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า 

ทั้งนี้ การที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยเติบโตยังไม่ได้โดดเด่น สาเหตุมาจากการส่งออกหดตัวตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 1.4% และทั้งปีขยายตัว 2.6% อัตราดอกเบี้ยสูง และค่าเงินบาทที่ผันผวน ประกอบกับต้นทุนพลังงานที่สูง และค่าครองชีพสูง 

หากมีการยุบสภาและมีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 ต้องติดตามว่าจะมีเม็ดเงินเท่าไร ความเชื่อมั่นจะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ นอกจากนี้ ต้องจับตาดูว่าบรรยากาศของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันต้องติดตามราคาพืชผลทางการเกษตร มาตรการของรัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการของรัฐ และเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งจะเห็นผลในช่วงไตรมาส 2/66 

อย่างไรก็ดี หอการค้าไทย มองเศรษฐกิจไทยโต 3-4% หรืออยู่ในกรอบ 3.5% แต่ก็ต้องติดตามความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกขึ้นดอกเบี้ย ส่วนเศรษฐกิจไทยก็ต้องติดตามเรื่องของการท่องเที่ยวและรัฐบาลชุดใหม่ด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Pi9Ww93F5UPaVzGRio8WZ/82877d49fb8604b0fd27abfd130d31d8/UTCC-2023-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์