สยามคูโบต้า ตั้งเป้ายอดขายปี 66 โตอีก 7% เตรียมรุกตลาด 2 กลยุทธ์หลัก

11 มีนาคม 2566 - 08:17

Economy- Business-GDP-NET-ZERO-SPACEBAR-Thumbnail
  • ภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น 11%

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

สยามคูโบต้า เผยผลประกอบการปี 2565 ปิดงบยอดขายที่ 63,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขายปีนี้ 67,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 7% เดินหน้าก้าวสู่ปีที่ 45 ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนาให้นวัตกรรมเกษตรเป็นมากกว่าเครื่องจักรกลการเกษตร โดยทุกกระบวนการของธุรกิจเกิดขึ้นบนแนวคิดที่ต้องการเป็นผู้นำนวัตกรรมที่มุ่งการสร้าง White Agri-World โลกเกษตรสีขาว หรือ การพัฒนานวัตกรรมเกษตรด้วยความรับผิดชอบ  เร่งรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรสุทธิเป็นศูนย์  (NET ZERO Emission) ล่าสุดเตรียมฉลองความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ อัดแคมเปญเอาใจลูกค้าตลอดทั้งปี   

จูนจิ  โอตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา สยามคูโบต้ามีผลการดำเนินงานตรงตามเป้าหมายที่คาดไว้ ซึ่งผลประกอบการในปี 2565 มียอดขายอยู่ที่ 63,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนในประเทศ 60 : ต่างประเทศ 40  โดยปัจจัยบวกจากภายนอกที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางภาคเกษตร ได้แก่ ปริมาณน้ำฝนดี ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น และนโยบายจากภาครัฐที่มุ่งส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต รวมทั้งการออกสินค้ารุ่นใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งทางเทคโนโลยีและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและสังคม สำหรับในปี 2566 นี้ สยามคูโบต้าได้ตั้งเป้าหมายยอดขายรวมไว้ที่ 67,000 ล้านบาท ซึ่งจะเติบโตเพิ่มขึ้น 7%  

“ทั้งนี้จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบรุนแรง ต่อผลผลิตอาหารทั่วโลก และเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามร่วมแก้ไขปัญหา สยามคูโบต้าตระหนักถึงบทบาทในการสร้างความเชื่อมั่น และไว้วางใจจากลูกค้าในการเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสังคม โดยจะดำเนินตามนโยบาย Global Major Brand (GMB) คูโบต้าคอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล” จูนจิ โอตะ กล่าว 

ด้านวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส เผยถึงภาพรวมสถานการณ์ภาคการเกษตรของไทยในรอบปีที่ผ่านมาว่า สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและทำการผลิตมากขึ้น อีกทั้งราคาผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรสนใจซื้อเครื่องจักรฯ สำหรับเพาะปลูกและบำรุงดูแลรักษามากขึ้น รวมถึงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่อนคลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้นโยบายของภาครัฐมีการส่งเสริมยกระดับเกษตรกรไทยสนับสนุน Smart Farming ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการ จึงทำให้ภาพรวมของตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น 11%  และGDP ภาคการเกษตรมีการขยายตัว 2.5% ในขณะที่ภาพรวมตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในกัมพูชา และ สปป.ลาว ก็เติบโตเพิ่มขึ้น 8 % อันเป็นผลจากรัฐบาลส่งเสริมการผลิตพืชผลการเกษตรเพื่อส่งออกมากขึ้น สยามคูโบต้า จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจ ในปี 2566 ดังนี้  
  1. มุ่งพัฒนาสินค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มพืช  
  2. ขยายธุรกิจบริการด้านนวัตกรรมการเกษตรยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดยร่วมมือกับ บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และกลุ่ม Startup มหาวิทยาลัย ตลอดจนภาครัฐ และเอกชน  
  3. ขยายตลาดใหม่และพัฒนาศักยภาพผู้แทนจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศรองรับการเติบโตของตลาด 
  4. ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรให้แข็งแรงและยั่งยืน   
  5. มุ่งพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ด้วยนโยบาย ESG และ Net Zero Emission 
ขณะที่พิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ เปิดเผยว่า เทรนด์การเกษตรสมัยใหม่ มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพดีและสะดวกมากยิ่งขึ้น ทำให้สยามคูโบต้า เตรียมรุกตลาดภายใต้ 2 กลยุทธ์สำคัญ คือ 
  1. กลยุทธ์เน้นขยายตลาดใหม่ คือ กลุ่ม Non Farmer (เกษตรกรมือใหม่) เจาะกลุ่มผู้ที่กำลังเริ่มต้นสนใจการเกษตรได้ทดลองใช้งานเครื่องจักรฯ กลุ่มพืชมูลค่าสูง (High Value Crop) นำเสนอประสิทธิภาพในรูปแบบทำน้อยแต่ได้มาก รองรับการขยายตัวของกลุ่มพืชที่สูงถึง 16% โดยขยายตลาดแทรกเตอร์ต้นกำลังในการต่ออุปกรณ์เพื่อทำงานได้หลากหลาย กลุ่มเกษตรกรสมัยใหม่ (Smart Farmer) จับเทรนด์ผู้ที่สนใจนำนวัตกรรมมาใช้กับการทำเกษตรของตัวเองมากขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 38%  
  2. กลยุทธ์สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนเกษตรกร ส่งเสริมให้เกิดเป็น Smart Farmer  ที่เข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างทั่วถึงทดแทนการใช้แรงงาน ภายใต้โครงการ “คูโบต้าร่วมมือ เกษตรร่วมใจ” ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนไปแล้ว 168 กลุ่ม และเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการเกษตร และการบริหารจัดการเครื่องจักรฯ การนำไปรับจ้างเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผ่านกิจกรรมคูโบต้าเชื่อมเครือข่ายชุมชน ในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาเราได้เข้าไปส่งเสริมการพัฒนาสินค้าแปรรูปและช่องทางจัดจำหน่ายให้ชุมชนเกษตรต้นแบบจังหวัดเชียงราย และเตรียมขยายผลเพิ่มอีก 5 ชุมชนในปีนี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6iL6OcHxfp8olinwh1wXGc/a39c26f28fe7c9b96db40395128b319d/Economy-_Business-GDP-NET-ZERO-SPACEBAR-Photo01__1_
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/60CiVMmsfIHtq1baLUgrN3/0829af0a4ccf57c4c1fe314f82798d85/Economy-_Business-GDP-NET-ZERO-SPACEBAR-Photo02__1_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์