18 กันยายน 2566 นายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องขังเด็ดขาด ได้ดำเนินการยื่นเอกสารต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ว่า “ขอยืนยันว่า นายทักษิณ หรือครอบครัวยังไม่ได้มีการยื่นขอพักโทษแต่อย่างใด และทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับทราบการยื่นเอกสารดังกล่าว”
โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนกระบวนการขอพักโทษนั้น จะเป็นกระบวนการที่เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณายื่นเรื่องให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา ซึ่งทางเรือนจำฯ จะสามารถยื่นรายชื่อบุคคลที่จะดำเนินการพักโทษได้ จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ
- แบบปกติ นักโทษรายนั้นๆจะต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ
- แบบพิเศษ มีเกณฑ์แยกย่อย 3 ข้อ คือ จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
ซึ่งในกรณีของนายทักษิณ สามารถเข้าเกณฑ์ได้ทั้งแบบปกติและแบบพิเศษก็ได้ เพราะนายทักษิณเองถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปและป่วยร่วมด้วย
โฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนแรกในโครงการการพักการลงโทษนั้น จะเป็นทางเรือนจำที่ทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นว่าเข้าเกณฑ์แบบปกติหรือแบบพิเศษตามที่เรียนแจ้งข้างต้น ซึ่งถ้าดูคุณสมบัติของนายทักษิณแล้วก็อาจจะได้รับการพิจารณาเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป
แต่ตามกฎหมายก็ได้มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือตั้งแต่ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ซึ่งปัจจุบันนี้นายทักษิณได้การอภัยลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี ดังนั้น 1 ใน 3 ที่นี้ก็คือ 4 เดือน แต่ตามกฎหมายมีการระบุว่าหรือ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า
“ซึ่งหมายความว่า นายทักษิณจะต้องจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน การยื่นมาก่อนก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์ จึงทำให้กรณีของนายทักษิณ โทษจำคุกจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ห้วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2567
อย่างไรก็ตาม นายทักษิณจะถูกพิจารณาพร้อมกับผู้ต้องขังเด็ดขาดรายอื่นๆ เนื่องจากทางเรือนจำจะมีการเสนอเรื่องขึ้นมาแล้วจึงจะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง”
โฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยด้วยว่า หากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ ทางเรือนจำก็จะมีการแจ้งไปยังทนายความประจำตัวของผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังเองด้วย เพื่อแจ้งเงื่อนไขให้ทราบว่านักโทษจะต้องรู้คุณสมบัติของตัวเอง แล้วก็ต้องเตรียมเอกสาร
อีกทั้งจะมีการสัมภาษณ์ เพราะผู้ต้องขังเด็ดขาดแต่ละรายที่ผ่านเกณฑ์จะต้องเข้าให้การสัมภาษณ์กับทางเรือนจำ เพื่อทางเรือนจำได้ดูตัวและสอบถามพูดคุยว่าครบเกณฑ์หรือไม่และยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก
“สำหรับกรณีของนายทักษิณ ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำหรือที่โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งปกติแล้วจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเข้ารับการอบรมต่างๆ แต่ในเมื่อเจ้าตัวไม่สามารถเข้ารับการอบรมได้ก็จะมีข้อยกเว้นอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการจะต้อไปลงรายละเอียดเพื่อหารือกันอีกครั้ง
แต่ในตอนนี้นายทักษิณยังไม่ถึงเวลาที่จะอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาสำหรับโครงการดังกล่าว เพราะว่ายังต้องโทษจำคุกไม่ครบตามเกณฑ์”
โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวต่อว่า ปกติทางเรือนจำจะมีการสำรวจล่วงหน้าสักประมาณ 1-2 เดือน ก่อนที่จะถึงเดือน กุมภาพันธ์ 2567 เพราะจะมีขั้นตอนในส่วนของกรมคุมประพฤติที่จะต้องไปสืบเสาะและรายงานผลกลับมา เราจึงจะมีการประชุมของคณะกรรมการ
เมื่อถามว่า ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำสำหรับ 30 วัน ทางเรือนจำหรือราชทัณฑ์จะมีการพูดคุยกับทีมแพทย์ผู้ทำการรักษาของโรงพยาบาลตำรวจหรือไม่ว่าจะพิจารณาให้นายทักษิณรักษาต่อเนื่องหรือส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า เมื่อใกล้ครบ 30 วัน ทางโรงพยาบาลตำรวจจะต้องส่งผลประเมินเรื่องสุขภาพมายังเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์
ซึ่งเราก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ และอาจจะไม่ได้มีการประชุมอะไรร่วมกันกับนายแพทย์ใหญ่อย่างเป็นทางการขนาดนั้น ซึ่งถ้าหากนายทักษิณยังคงมีอาการไม่ทุเลาดีขึ้นหรือแพทย์มีความเห็นให้มีความจำเป็นจะต้องรับการรักษาเฉพาะทางต่อเนื่อง เรือนจำฯ ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ดังกล่าว และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะอนุญาตให้พักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อได้