‘กกต.’ เปิดศูนย์ต้านเฟคนิวส์ แย้ม 1-2 วันมีข่าวใหญ่ จับตาฟันบางพรรค

2 พฤษภาคม 2566 - 10:38

Election-Commission-opens-anti-fake-news-center-SPACEBAR-Thumbnail
  • ‘กกต.’ เปิดศูนย์ต้านเฟคนิวส์ ยันไม่ใช่เครื่องมือจ้องทำลาย แต่หวังป้องปราม

  • ‘ปกรณ์’ เผยจับตาดีเบต ‘ธนาธร-หมอมิ้งค์’ ใส่ร้าย กกต. เปลี่ยนสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ เตรียมลุยเอาผิดหลังเลือกตั้ง

  • แย้ม 1-2 วันมีข่าวใหญ่ มีมติบางอย่างบางพรรค

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ปกรณ์ มหรรณพ พร้อม ดร.ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง แถลงเปิดศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ  (Fake News) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ประชาชนรับทราบ และเกิดความเชื่อมั่นศรัทธา ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

โดย ดร.ฐิติเชฏฐ์ กล่าวว่า ตามที่ได้รับมอบหมายและมีมติตามที่ประชุม กกต.เรามีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งศูนย์เช่นเดียวกับในปี 2562 เนื่องจากบางข่าวไม่จำเป็นที่จะต้องนำเข้าเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทางคณะกรรมการด้านการข่าวของศูนย์ปฏิบัติงานคณะกรรมการต่อต้านข่าวเท็จ จะต้องมีการแก้ไขข่าวให้ถูกต้องทันทีที่ข่าวที่เป็นความเป็นความเท็จถูกเผยแพร่ออกไป ซึ่งจะเห็นได้จากในปี 2562 มีข่าวเท็จเกิดขึ้นมากมายเพราะเป็นช่วงที่เว้นจากการเลือกตั้ง 7 ปี

โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากการประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ท้าทายคนทำงาน ข่าวต่างๆ ที่เป็นเท็จ ทำให้การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ราบรื่น และทำลายความน่าเชื่อถือของการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเราได้มีการดำเนินคดี โดนพนักงานสอบสวนได้นำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งศาลฯ ก็มีการพิพากษาแล้ว

ดร.ฐิติเชฏฐ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งในปี 2566 เราคาดว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับปี 2562  เนื่องจากยังมีคนที่ไม่หวังดี และมีอคติต่อการทำงานขอ กกต.อยู่ ที่ไม่อยากจะให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะฉะนั้น ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ขณะนี้มีข่าวที่ไม่เป็นความจริงถูกเผยแพร่ในสื่อโซเชียลมีเดียมากมาย ซึ่งเราได้มีการแก้ไขข่าว สิ่งใดที่ไม่เป็นความจริงหรือเป็นข่าวเท็จ เราได้นำข้อเท็จจริง แจ้งผู้ที่เป็นแหล่งข่าว หรือผู้ที่เผยแพร่ หากยังมีการเผยแพร่ต่อไป กกต.จะดำเนินคดีทุกเรื่อง ซึ่งการที่เราจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวเท็จแล้ว เราคาดว่าข่าวที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไปจะลดลง 

ด้าน ปกรณ์ กล่าวว่า อยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับข่าวที่ปรากฏในขณะนี้ ทั้งเรื่องยุบพรรคติดเทอร์โบ เป็นการที่ กกต.ออกระเบียบตามที่กฎหมายบังคับให้ทำ แต่มีคนไปตั้งชื่อเช่นนั้น หากดูระเบียบแล้วจะเป็นการให้อำนาจเลขาธิการสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว และการพิจารณาก็เป็นการทำโดยไม่มีเวลา และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องยื่นหลักฐานต่อสู้ได้เต็มที่ 

ปกรณ์ กล่าวต่อในเรื่องการแบ่งเขตที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นการแบ่งเขตแบบไม่มีเขตหลักเอาแต่ใจ ยืนยันว่าเรื่องนี้เราถูกด่าเป็นเดือน และศาลปกครองได้มีคำพิพากษาแล้ว ว่าเราทำโดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่ง กกต.ทำตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด สิ่งที่เราทำ เราให้เกียรติท่านที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่ใช่ผู้แทนของเขตใดเขตหนึ่ง  

ปกรณ์ กล่าวถึงกรณีบัตรเลือกตั้งที่ยังถูกตั้งข้อสังเกตในรายละเอียดบัตรทั้งสองใบ โดยรายละเอียดในบัตรเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้เป็นผู้กำหนด แต่มาตรา 84 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นผู้กำหนด  

ปกรณ์ ยังกล่าวถึงเรื่องของการพิมพ์บัตรเลือกตั้งสำรองเกิน 7 ล้านเล่ม ว่า เป็นเรื่องเกินจริง ที่จริงแล้วมีการพิมพ์บัตรสำรองแค่ 5 ล้านใบ เท่านั้น เนื่องจากการพิมพ์บัตรต้องพิมพ์เป็นเล่ม และสำรองแต่ละหน่วยเลือกตั้งๆ ละ 1 เล่มซึ่งประเทศไทยมีประมาณ 1 แสนหน่วย ฉะนั้นก็สำรองส่วนนี้ 2 ล้านใบ รวมทั้งสำรองให้กรรมการประจำหน่วย และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหน่วยเลือกตั้งที่จะใช้สิทธิในหน่วยดังกล่าวอีก 1 เล่ม ทั้งสองส่วนนี้ก็เกือบ 4 ล้านใบแล้ว  

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงความผิดพลาดในการพิมพ์ ที่บางเล่ม มีจำนวนไม่ครบ หรือการพิมพ์ผิดพลาด ก็ต้องสำรองไว้อีก 1 ล้านใบ รวมแล้วก็เกือบ 5 ล้านใบ  โดยเรื่องการพิมพ์บัตรสำรองดูตัวอย่างได้จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้สิทธิ 94 คนที่ซูดาน ทำให้เราต้องทิ้งบัตรเลือกตั้งนอกราชของทั้ง 94 คน หากเกิดกับประเทศใหญ่จะทำอย่างไร   

“เราไม่จำเป็นต้องพิมพ์บัตรมากเกินไป แต่ต้องสำรองไม่ให้ผิดพลาด ต้องไม่มีการทุจริตในเรื่องบัตรเลือกตั้ง ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อปิดการลงคะแนนทุกหน่วยจะติดประกาศที่หน้าหน่วยให้ทราบว่าใช้บัตรเลือกตั้งไปเท่าไร ผู้ใช้สิทธิเท่าไรเราถึงให้ความมั่นใจกับท่าน ว่าเราตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ความผิดพลาดต่างๆ เรายอมรับ แต่เราได้แก้ไขในทันที และจัดให้ถูกต้องโดยเร็ว การผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ไม่ได้เกิดจากการทุจริต” ปกรณ์ กล่าว 

ปกรณ์ ยังกล่าวถึงกรณีกระแสข่าวว่าจะมีการยุบพรรคการเมืองก่อนการเลือกตั้ง โดยย้ำว่า ไม่มีสัญญาณเรื่องการยุบพรรค แต่มันอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งเรื่องอะไรที่ไม่ถูกต้องจะแจ้งให้ทราบ ไม่มีอะไรปิดบัง ตนมีวาระอีกไม่นาน ยืนยันจะการทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ขอให้สัญญาด้วยตำแหน่ง 

เมื่อถามว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปกรณ์ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไร แม้สื่อมวลชนพยายามจะถามว่าเรื่องการยุบพรรคหรือไม่ ปกรณ์ ก็ปฏิเสธว่าอย่าไปคิดขนาดนั้น  

ขณะที่ ดร.ฐิติเชฎฐ์ กล่าวเสริมอีกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ไม่มีประวัติในเรื่องการไม่สุจริต เที่ยงธรรม ตำแหน่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องการันตี ข่าวที่เป็นเท็จจะต้องยุติ  

ปกรณ์ ยังกล่าวชี้แจงถึงการติดตามข่าวที่มีผลกระทบต่อการทำงานของ กกต. โดยจะเน้นไปที่ต้นตอของข่าวที่จะมีการพิจารณาถึงการดำเนินคดี โดยเบื้องต้นมี 3 เรื่อง กรณีการจัดดีเบตที่ จ.ชลบุรี ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล ใช้คำพูดระบุว่า “ปี 62 กกต. เปลี่ยนแปลงสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ” และกรณี นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ดีเบตในเวทีเนชั่น ระบุว่า กกต. เปลี่ยนสูตรการคำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการดำเนินการของ กกต. ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ยังใช้คำพูดเหล่านี้เพื่อให้ตนได้คะแนนนิยม

ซึ่ง กกต. จะพิจารณาเรื่องนี้หลังการเลือกตั้ง เนื่องจากถ้าทำตอนนี้จะมีผลต่อคะแนนเสียง โดยได้ให้ฝ่ายกฎหมายรวบรวมข้อมูล ซึ่งการจะดำเนินคดีกับใครนั้นจะเป็นมติของ กกต. อย่างไรตามต้องขอบคุณ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ที่สื่อมวลชนพยายามขอให้วิจารณ์การทำงานของ กกต. แต่เศรษฐาไม่ได้พูดถึง กกต. เป็นการส่วนตัว  

“มีหลายเรื่องจบไปแล้ว แต่ก็ยังเอามาพูดให้ได้คะแนนเสียง ว่า กกต.ผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า มันถูกต้องสมควรหรือไม่ ท่านมีสิทธิเราเคารพในสิทธิของท่าน ท่านก็ต้องเคารพในสิทธิของเราด้วย” ปกรณ์ กล่าว 

ปกรณ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับตรงๆ ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหว ซึ่งเราพยายามอดทนไม่ให้เป็นคดี ทั้งนี้ในการประชุม กกต.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการพิจารณาเรื่องคนที่ด่าเรา ว่าเรา แต่ที่ประชุมก็มีมติไม่ดำเนินคดี จะดำเนินคดีเฉพาะต้นตอ และเรื่องที่สำคัญที่ส่งผลให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม เราจะขอใช้ช่องทางการสื่อสารขององค์กรเพื่อชี้แจง  

ปกรณ์ ยังกล่าวถึงเรื่องการปล่อยข่าวในการเลือกตั้งปี 2562 เรื่องขนบัตรเลือกตั้งเถื่อนที่ลานจอดรถสำนักงาน กกต. ที่สุดท้ายหลังการเลือกตั้งก็มีการมาขอโทษ  

“ยืนยันทำงานด้วยความสุจริต โดยผมได้รับการสรรหาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา พร้อมด้วย ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี อดีตผู้พิพากษา แต่ก็ถูกมองว่า กกต.มาจาก คสช. 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำงานไม่เคยคุย หรือรับประทานอาหารร่วมกับนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ไม่เคยพูด คุย เคยเจอในงานพิธี ผมรู้จักเขา เขาไม่รู้จักผม จึงยืนยันได้ว่าผมไม่ได้มาจากใคร” ปกรณ์ กล่าว 

ดร.ฐิติเชฏฐ์ กล่าวเสริมว่า ไม่สมควร นำมาพูดอีก เพราะจะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะเยาวชน วัย 18 ปี ที่จะใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2562 เขาอาจจะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่ทราบคำวินิจฉัยของศาลฯ จึงเป็นจุดเปราะบางที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน  

ดร.ฐิติเชฏฐ์ ยังกล่าวถึงการตั้งศูนย์แก้ไขข่าวว่า ไม่ต้องการเพื่อมุ่งทำลายฝ่ายใด แต่ป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามเหมือนการเลือกตั้งปี 2562 การดำเนินคดีผู้ไปแสดงความคิดเห็นไม่สามารถดำเนินคดีได้กับทุกคน  เราจะดำเนินคดีกับต้นตอ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วหลังเลือกตั้งก็มาขอขมา เราจึงต้องตั้งศูนย์เพื่อมาปกป้ององค์กร ไม่ให้มาก้าวล่วง ไม่เป็นธรรมกับการทำงาน อะไรที่ไม่ทำให้การเลือกตั้ง เสี่ยงต่อการไม่สุจริต เราอาจจะปล่อยผ่าน แต่หากผิดซ้ำซากกลุ่มคนเดิมๆ ต้องดำเนินคดีแน่ แต่ไม่ดำเนินการกับความคิดเห็นที่สุจริต

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์