‘จดหมายประวิตร’ ยิ่งเขียน ยิ่งเข้าตัว ถลำลึก ‘อำนาจพิเศษ’

28 กุมภาพันธ์ 2566 - 07:36

Prawit-Letter-Power-Politic-Elite-Military-Recovered-SPACEBAR-Thumbnail
  • พล.อ.ประวิตร เขียนจดหมายเปิดใจ 3 ฉบับ กลับยิ่งเขียน ยิ่งเข้าตัว มีความย้อนแย้งกันเอง แถมถลำลึก ‘อำนาจพิเศษ’ โยงไปถึง ‘อีลีท’ หวังก้าวข้ามความขัดแย้ง แต่อาจกลายเป็น ‘ชนวนขัดแย้ง’ ครั้งใหม่ ตามแผนรีแบรนด์ ‘ประวิตร-พลังประชารัฐ’ จะเปลี่ยน ‘เกลือเป็นน้ำตาล’ ได้หรือไม่

ระยะเวลาเพียง 1 เดือนกว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกจดหมายเปิดใจผ่านเพจ 3 ฉบับ เริ่มจากฉบับแรก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ พล.อ.ประวิตร พยายาม ‘แยกตัว-ตีห่าง’ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมต.กลาโหม ที่ไปสร้างรังใหม่ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ พร้อมขีดเส้นแบ่ง ‘เว้นระยะ’ กับขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ ชี้ถึเหตุจำเป็นในการเข้าร่วมรัฐบาลยุค คสช. พร้อมชี้ถึงจุดอ่อนของ คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เพราะต่างก็เป็นทหารอาชีพมาทั้งชีวิต อีกทั้ง พล.อ.ประวิตร ก็กล่าวทำนอง ‘ทวงบุญคุณ’ ในเรื่องการตั้ง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ขึ้นมาเพื่อผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ อีกครั้ง 

การออกจดหมายครั้งแรก เรียกว่าสะเทือนมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ แม้ว่า พล.อ.ประวิตร จะย้ำถึงความสัมพันธ์ 3ป. ที่เป็น Forever ก็ตาม ที่กลายเป็นว่าจดหมายฉบับแรกมี ‘หลากอารมณ์’ ซึ่งในช่วงท้ายจดหมาย พล.อ.ประวิตร ระบุว่าไม่สามารถบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ ก็เป็นการกล่าวเชิง ‘น้อยใจ’ แต่ก็ได้ฝากถึงลูกพรรค พปชร. ให้มั่นใจในตัว พล.อ.ประวิตร ในการนำพรรคนับจากนี้ไป  

จดหมายฉบับแรกทำให้ฝ่าย เสธ. ที่เป็น ‘ทหาร’ ของ พล.อ.ประวิตร ต่างส่ายหน้ากับจดหมายดังกล่าว เพราะมองว่าเป็นการเผชิญหน้ากับ พล.อ.ประยุทธ์ อีกทั้ง ‘ผิดธรรมเนียมทหาร’ ที่จะ “ไม่ฆ่าน้อง ฟ้องนาย ขายเพื่อน” แต่ก็ไม่สามารถทำอะไร เพราะจดหมายดังกล่าว พล.อ.ประวิตร อ่านด้วยตัวเอง และได้ ‘ไฟเขียว’ ด้วยตัวเอง ซึ่งจุดนี้เองถูกลากโยงมาถึงฉบับที่ 3 

เนื้อในจดหมายฉบับแรก 

“เป็นที่ทราบกันดีว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยครั้งใหญ่ หลังการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ด้วยความจำเป็นของกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น ต้องออกจากกรมกองมายุติวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองที่ก่อตัวมานานนับปี จนสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ชื่อเสียงประเทศ และบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ 

ขณะนั้น ผมเกษียณอายุราชการจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปตั้งแต่ พ.ศ. 2548 จึงทำได้เพียงเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จัดตั้งรัฐบาลเพื่อปฏิรูปบ้านเมืองและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผมก็ได้ตอบรับเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรองนายกฯ และ รมต.กลาโหม เพื่อหวังจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ให้คืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 

ต้องยอมรับความจริงว่า คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการเมือง เพราะต่างก็เป็นทหารอาชีพมาทั้งชีวิต ฝึกฝนเรียนรู้มาในด้านการปกป้องอธิปไตยของชาติ ตัวผมเองก็เช่นกัน แม้จะเคยเป็น รมต.กลาโหม ในรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ก็ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการเมือง จึงทำได้เพียงช่วยดูแลเหล่าทัพให้มีเสถียรภาพเท่านั้น 

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาชนให้รีบจัดการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลในขณะนั้นก็ตระหนักดีถึงความต้องการของประชาชน และความชอบธรรมของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง รวมไปถึงการยอมรับจากประชาคมโลก จึงเร่งผลักดันกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว 

เมื่อกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เตรียมพร้อมเข้าสู่การเลือกตั้งเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ก็แสดงความประสงค์จะทำงานการเมือง โดยอ้างว่าเพื่อสานต่อภารกิจที่ดำเนินการไว้ให้สำเร็จ ผมจึงตัดสินใจสนับสนุนให้มีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งและเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้กลับมาเป็นนายกฯ ตามที่เจ้าตัวปรารถนา  

ในช่วงเวลาของการเป็นแกนนำรัฐบาล มีทั้งเรื่องที่ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจใน ครม. แต่จำเป็นต้องสงวนท่าทีตามมารยาททางการเมือง ประกอบกับยังไม่มีอะไรชัดเจนว่ามติในเรื่องใดๆ จะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบ้านเมือง 

มาบัดนี้ ชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ แสดงจุดยืนทางการเมืองเมื่อวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2566 ว่าจะแยกทางจากพรรคพลังประชารัฐที่เคยสนับสนุนขึ้นเป็นนายกฯ เพื่อไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ตรงกับที่สื่อมวลชนไปสืบข่าวมาก่อนหน้านี้ ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นพรรคสำรองให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ 

ผมเคยกล่าวไว้ว่า “3ป. Forever มาวันนี้ ผมก็ยังมีความรู้สึกเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อท่านตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว ผมก็ไม่สามารถจะบรรยายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ คงจะบอกได้เพียงว่า ผมขอแสดงความยินดีกับท่านด้วย ขอให้ประสบความสำเร็จบนเส้นทางการเมืองใหม่ที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกแล้ว  

สำหรับผม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ​ขอประกาศในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ว่าจะขอรับผิดชอบและจะไม่มีวันทอดทิ้งสมาชิกพรรคทุกคน ที่เคยทำงานการเมืองมาด้วยกัน และพร้อมจะเดินนำทุกคนที่มีความเชื่อมั่นในความตั้งใจอันแน่วแน่ของผม เข้าสู่การเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป เพื่อกลับมาเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารบ้านเมืองอีกครั้ง” 

ผ่านมาเกือบ 1 เดือน พล.อ.ประวิตร ออกจดหมายฉบับที่ 2 ออกมา เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2566 แต่จดหมายฉบับนี้ซอฟท์ลงมา เป็นการกล่าวขอบคุณแฟนคลับที่ติดตาม แต่ก็ได้ทิ้งนัยยะว่าจะมีจดหมายฉบับอื่นๆ ตามมา พร้อมกับย้ำ “ผมอยากจะบอกว่า ผมได้เรียนรู้ว่านักการเมืองไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง แต่จะต้องคิดเก่ง และที่สำคัญคือต้องหาคนเก่งมาร่วมงานด้วย เพราะคนเรานั้นไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่อง” ซึ่งจุดนี้เองมีการยก พล.อ.ประวิตร เป็น ‘เล่าปี่ป้อม’ ที่รู้ว่าจะเลือกใช้งานใคร 

แต่มากลับมาแรงในฉบับที่ 3 ที่ พปชร. พยายามชูธง ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ พยามยามรีแบรนด์ พล.อ.ประวิตร กับ พปชร. ขึ้นใหม่ ให้เป็น ‘พรรคขั้วที่ 3’ เป็นพรรคการเมืองเต็มตัว ไม่ใช่ ‘พรรคเชิงอุดมการณ์’ เฉกเช่นในอดีต ทำให้บทพรรคเชิงอุดมการณ์ตกไปที่ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ แทน จึงทำให้จดหมายฉบับที่ 3 ของ พล.อ.ประวิตร เป็นการชำแหละการเมืองเชิงโครงสร้าง ถลำลึกไปถึง ‘อำนาจพิเศษ’ พร้อมชี้ถึง ‘กลุ่มอิลิท’ ที่เป็นปัญหาของการพัฒนา ‘ประชาธิปไตย’ รวมทั้งปัญหาของระบบการเมืองที่เรื่องโควต้า ส.ส. ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำคนมีความรู้-ความสามารถ เข้ามาทำงานการเมือง 

ทั้งนี้จดหมายฉบับที่ 3 พล.อ.ประวิตร ต้องการสื่อสารกับ ‘นักการเมือง’ โดยชี้ถึงจุดแข็งของนักการเมืองที่คลุกคลีชาวบ้านมากกว่า ‘อิลิท’ อีกทั้งชี้ถึงเลือกตั้งทุกครั้ง ‘ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ’ จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ จะพ่ายแพ้ต่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’  

อย่างไรก็ตามท้ายจดหมาย ระบุว่าได้รับการตรวจทานและพร้อมรับผิดชอบทุกตัวอักษร อีกแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นการ ‘ดักคอ’ ไว้ก่อน ป้องกันผลพวงที่เคยตามมาจากจดหมายฉบับที่ 1 ที่ถูกกระแสต้านจากคนใน ‘บ้านป่ารอยต่อ’ อีกทั้งมีการระบุถึงการที่ พล.อ.ประวิตร มีฝ่าย เสธ. ที่เป็นทหาร เมื่อมาสู่สนามการเมือง ก็มีฝ่ายเสธ. ที่เป็น ‘นักการเมือง’ ซึ่งจุดนี้ก็เป็นการย้ำถึงความสำคัญที่มีไม่น้อยไปกว่ากัน เพื่อ ‘ปิดช่องโหว่’ จากฟีดแบ็คของจดหมายฉบับแรก 

เนื้อในจดหมายฉบับที่ 3 ระบุว่า 

“ทำไมต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง”

เพราะแม้จะมีเหตุผลมากมายที่หลายคนเห็นว่าผมควรจะหยุด และกลับไปใช้ชีวิตสบายๆ ซี่งจะทำให้ผมมีความสุขมากกว่า เนื่องจากชีวิตไม่ได้รู้สึกขาดแคลนอะไรแล้ว และนั่นทำให้ผมคิดแล้ว คิดอีกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ในที่สุดแล้ว ผมตัดสินใจที่จะทำงานต่อ 

แน่นอนว่าเหตุผลหนึ่งคือ ผมผูกพันกับคนที่ร่วมสร้าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศมาเกือบครบ 4  ปีเต็ม ๆ 

ทุกคนล้วนมีความหวัง ความฝันที่จะทำงานการเมืองต่อไป ทุกคนต่างร่วมทำงานหนักกันมา 

เมื่อถึงวันที่จะต้องลงเลือกตั้งกันใหม่ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่เข้มข้น การต่อสู้รุนแรงมาก ใครไม่พร้อมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้ 

ผมจะคิดแค่เอาตัวรอด ทิ้งเพื่อนพ้องน้องพี่ที่ร่วมสร้าง ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ที่ยังมีความฝันอยู่เต็มเปี่ยมได้อย่างไร 

นั่นเป็นเหตุผลแรก  

แต่ลึกไปในใจ ในความรู้สึกนึกคิด ผมมีเหตุผลส่วนตัวที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง 

เป็นเหตุผลที่เกิดจากการทบทวนครั้งแล้ว ครั้งเล่า ถึงทางออกของชาติบ้านเมือง ว่าควรจะทำอย่างไรกันดี 

เป็นการทบทวนที่มองผ่านเข้าไปในประสบการณ์ชีวิตของผมทั้งหมด แล้วหาข้อสรุปว่าเกิดอะไรกับประเทศ 

ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังว่า อะไรที่ผมพบเจอ รับรู้ และเกิดความคิดอย่างไรในแต่ละช่วงชีวิต จนสุดท้ายตัดสินใจทำงานการเมืองต่อ ด้วยความคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ด้วยการคลี่คลายปัญหาให้ประเทศเดินหน้าไปสู่ความสดใส 

ผมจะเริ่มจากการเล่าให้เห็นประสบการณ์รับราชการทหารตั้งแต่ ‘นายทหารผู้น้อย’ ค่อยๆ เติบโตมาถึง ‘ผู้บัญชาการกองทัพ’ ได้รับการหล่อหลอมให้ “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” มาทั้งชีวิต 

จนผลึกความคิด ความเชื่อ ความศรัทธา เป็น “จิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีของผม” อย่างมั่นคง ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง 

ในห้วงเวลาเกือบทั้งชีวิตในราชการทหาร ด้วยจิตสำนึกดังกล่าว ผมได้รับรู้ความห่วงใยของคนในวงการต่างๆ ที่มีต่อความเป็นไปทางการเมืองของประเทศ 

อาจจะเป็นเพราะผมเป็น ‘ผู้บังคับบัญชากองทัพ’ เสียงความห่วงใยส่วนใหญ่จึงมีเป้าหมายไปที่ ‘นักการเมือง’ 

คนกลุ่มหนึ่ง ซี่งมีบทบาทสูงต่อความเป็นไปของประเทศ หรือจะเรียกให้เข้าใจง่ายว่า ‘กลุ่มอิลิท’ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดความเป็นไปของประเทศ มอง “ความเป็นมาและพฤติกรรมของนักการเมือง ด้วยความไม่เชื่อถือ” 

และความไม่เชื่อมั่นลามไปสู่ความข้องใจใน ‘ประชาธิปไตย’ และ “ความรู้ความสามารถของประชาชน ในการเลือกนักการเมืองเข้ามาครอบครองอำนาจบริหารประเทศ” 

ความไม่เชื่อมั่นต่อนักการเมือง และการเลือกของประชาชนนั้น ทำให้ผู้มีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศเหล่านี้ เห็นดีเห็นงามกับการ ‘หยุดประชาธิปไตย’ เพื่อ ‘ปฏิรูป’ หรือ ‘ปฏิวัติ’ กันใหม่ หวังแก้ไขให้ดีขึ้น 

คนในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่หวังดี อยากเห็นประเทศพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง เป็นผู้มีประสบการณ์ที่พิสูจน์แล้วว่ามีความรู้ความสามารถ หากสามารถชักชวนเข้ามาทำงานให้กับประเทศได้จะเป็นประโยชน์ 

แต่เป็นที่น่าเสียดายยิ่งกว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ความรู้ ความสามารถเหล่านี้ ไม่มีโอกาสเข้ามาช่วยประเทศชาติในช่วงที่ ‘ระบบการเมือง’ จัดสรรผู้เข้ามามีอำนาจบริหารตามโควต้าจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้ามา 

โอกาสที่จะเข้ามาช่วยประเทศชาติ มีเพียงช่วงที่ ‘รัฐบาลมาจากอำนาจพิเศษ’ หรือการปฏิวัติ รัฐประหารเท่านั้น 

การรับราชการทหารมาเกือบทั้งชีวิต ทำให้ผมรู้จัก เข้าใจ และแทบจะมีความคิดในทางเดียวกับคนที่หวังดีต่อประเทศชาติเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นความคิดในช่วงแรก แม้จะครอบคลุมเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แต่หลังจากเข้ามาทำงานร่วมกับนักการเมือง และตั้งพรรคการเมือง ทั้งในช่วงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็น ‘ผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ’ จนมาเป็น ‘หัวหน้าพรรค’

ผมได้รับประสบการณ์อีกด้าน อันทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศไปด้วย ‘ระบอบประชาธิปไตย’

เพราะในความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วอำนาจการบริหารประเทศต้องกลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ที่อำนาจตัดสินว่าจะให้ใครเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ก็คือ ‘ประชาชน’

มีความจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ แม้ในการเลือกตั้งทุกครั้ง ‘ผู้ยึดครองอำนาจด้วยวิธีพิเศษ’ จะตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ขึ้นมาสู้ ซึ่งแม้จะหาทางได้เปรียบในกลไกการเลือกตั้ง แต่ผลที่ออกมา ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ จะพ่ายแพ้ต่อ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ทุกคราว 

ความรู้ ความสามารถของ ‘กลุ่มอิลิท’ ทำให้ประชาชนศรัทธาได้ไม่เท่ากับนักการเมือง ที่คลุกคลีกับชาวบ้านจนได้รับความรัก ความเชื่อถือมากกว่า 

นี่คือต้นตอของปัญหาที่สร้างความขัดแย้ง ขยายเป็นความแตกแยก ระหว่าง ‘ฝ่ายอำนาจนิยม’ กับ ‘ฝ่ายเสรีนิยม’ ที่หาจุดลงตัวร่วมกันไม่ได้ เพราะพยายามหาทางให้ฝ่ายตัวเอง “ชนะอย่างเด็ดขาด-ทำลายอีกฝ่ายให้สิ้นสูญ” กลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติ 

ซึ่งจากประสบการณ์ของผมที่ผ่านการเห็น การรู้ การฟังทั้งชีวิต อย่างเข้าถึง ‘จิตวิญญาณอนุรักษ์นิยม’ และเข้าใจ ‘ประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ที่มีผลต่อโครงสร้างอำนาจของประเทศ 

ผมจะค่อยๆ เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดในแต่ละช่วงชีวิต เพื่อให้ได้เห็นภาพได้ชัดขึ้น และจะชี้ให้เห็นถึง “ความจำเป็นต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง” 

จากนั้นจะบอกให้รู้ว่า ทำไมผมถึงเชื่อมั่นว่า ‘ผมทำได้’ และ ‘จะทำอย่างไร’

หากประชาชนให้โอกาสผม 

สุดท้ายนี้ขอบอกกล่าวให้รับรู้โดยทั่วว่า จดหมายทุกฉบับเขียนขึ้นโดยทีมงานที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญมาช่วยกันกลั่นกรองสาระสำคัญที่ผมต้องการนำเสนอต่อสังคม เพื่อเป็นทางออกของบ้านเมือง 

เช่นเดียวกับตอนที่ผมเป็น ผบ.ทบ. ก็มีคณะเสนาธิการทหาร คอยช่วยเหลืองาน ดังนั้น เมื่อก้าวมาเป็นนักการเมืองผมก็มีเสนาธิการฝ่ายการเมืองมาเป็นกำลังสำคัญเช่นกัน 

อย่างไรก็ตามเนื้อหาของจดหมายทุกฉบับ ที่จะเกิดขึ้นผ่านการตรวจทานจากผมแล้วและผมขอรับผิดชอบทุกตัวอักษร

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ดีกรีความแรงของจดหมายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับมี ‘ความย้อนแย้ง’ กันเอง โดยเฉพาะที่มาของการตั้ง พปชร. ขึ้นมา ที่สุดท้าย พปชร. ปฏิเสธที่มาของพรรคไม่ได้ กลายเป็นว่า ‘ยิ่งเขียน’ ก็ ‘ยิ่งเข้าตัว’ อีกทั้งการพูดถึง ‘อำนาจพิเศษ-อิลิท’ ก็เท่ากับเป็นการ ‘เลือกข้าง’ ปริยาย นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ก็ไม่สามารถปฏิเสธอดีตตัวเองได้ ที่อยู่ในแผงอำนาจช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เป็น ผบ.ทบ. ในยุครัฐบาลทักษิณ ได้รับแรงสนับสนุนจาก ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ อันทรงพลังในอดีต  

จากนั้นลงสู่สนามการเมืองยุค รบ.อภิสิทธิ์ เป็น รมต.กลาโหม สมัยแรก ถึงขั้น ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ ผู้จัดการรัฐบาล นำแจกันกุหลาบไปเชิญ และมาร่วม รบ.ประยุทธ์ ยุค คสช. มีตำแหน่งเป็น ปธ.คณะที่ปรึกษา คสช. เป็น รองนายกฯ และ รมต.กลาโหม เป็นช่วงเวลาที่ พล.อ.ประวิตร แผ่บารมีอำนาจอย่างยิ่ง จนมาสู่การเป็น ‘ผู้จัดการรัฐบาล’ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็น นายกฯ อีกครั้ง 

จะเปลี่ยน ‘เกลือ’ เป็น ‘น้ำตาล’ นั้น เป็นไปไม่ได้!!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์