‘ส.ว.’ ชี้พรรคอันดับ 1 ไม่จำเป็นต้องเป็น รบ.เสมอไป

15 พฤษภาคม 2566 - 09:56

Senators-point-out-party-number-1-It-is-not-always-necessary-to-form-a-government-SPACEBAR-Hero
  • ‘ส.ว.วันชัย’ ชี้ ‘ก้าวไกล’ ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป

  • ขึ้นอยู่กับว่าเป็น ‘มือประสาน’ รวมเสียงข้างมากได้ลงตัวหรือไม่ ยันเคารพเสียงประชาชน

  • ‘เฉลิมชัย’ ย้ำ ‘ก.ก.’ รวมเสียง ส.ส.ไม่ถึง 376 อย่าหวังพึ่ง ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ

วันที่ 15 พฤษภาคม 2566 วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ว่า หากใครสามารถรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง เราต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ซึ่งไม่ได้ผิดอะไรไปจากหลักการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 และในปีนี้  

ดังนั้นต้องติดตามกันต่อไปว่าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งมีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เป็นข้อตกลงของพรรคการเมืองหรือเป็นมารยาททางการเมือง ที่ใครได้เสียงอันดับ 1 ก็มักจะให้พรรคนั้นเป็นคนประสานในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งขณะนี้พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็พูดเช่นนั้น  

หากเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นภารกิจของพรรคก้าวไกล ในการประสานหาความร่วมมือ ว่าสามารถรวมกับภาคการเมืองอื่นได้เกิน 251 เสียง จนกระทั่งถึง 376 หรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าคนได้เสียงอันดับ 1 จะต้องเป็นรัฐบาลเสมอ ซึ่งครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยก็มีเสียงมาอันดับ 1 แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้ารวมเสียงได้มากโดยหลักการแล้วก็คิดว่าต้องเคารพเสียงตรงนี้ 

“ครั้งนี้พรรคก้าวไกลได้เสียงอันดับ 1 ก็จริงแต่ไม่ได้คะแนนเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เกินกว่า 251 เสียง ก็ต้องดูต่อไปถ้าเขาประสานกับพรรคเพื่อไทยได้ อันนี้ก็มีสิทธิได้เกิน 300 คน จริงก็ต้องดูว่าเขาตกลงกันได้หรือเปล่าว่าใครเป็นนายกฯ และการทำนโยบายต่างๆ นั้น แจมร่วมกันได้หรือเปล่านั้นเราไม่รู้ เพราะ ส.ว.อยู่ข้างหลัง ไม่ใช่คนที่จะต้องเสนอใครมาเป็นนายกฯ มันอยู่ที่ ส.ส. ก่อน” ส.ว.วันชัย กล่าว  

พร้อมระบุว่า “รายการต่อมาต้องดูว่าถ้าเขาสามารถรวมกับพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย ถ้าเขาสามารถประสานพรรคการเมืองที่มาจากประชาชนได้ทั้งหมด ผมว่าเขาก็ขาดลอยแทบไม่ต้องใช้เสียง ส.ว. เลยแม้แต่เสียงเดียว ฉะนั้นผมคิดว่าตอนนี้ อย่ามาคิดว่า ส.ว.จะโหวตให้ใครจะโหวตหรือไม่ เพียงแต่ผมจะดูอยู่ต่อไปว่า พรรคก้าวไกลจะสามารถประสานกับทุกพรรคการเมือง ในการจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า”  

ส.ว.วันชัย กล่าวด้วยว่า เท่าที่จับตาดูเห็นว่ามี ส.ว.หลายคนประกาศชัดเจนว่าไม่ได้หมายความว่า เสียงข้างมากอันดับ 1 เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูคนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และดูนโยบายของพรรคการเมืองด้วยซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย  

และตนก็เชื่อว่า เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นว่าการจะร่วมรัฐบาลกับใคร คงไม่ดูแค่เสียงมาอันดับ 1 แต่คงต้องดูว่านโยบายเข้ากันได้หรือไม่และจะต้องเสนอใครเป็นนายกฯ และ ส.ว. ก็คิดไม่ต่างกัน จึงขอให้ติดตามกันต่อไป ก้าวไกล ได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 ก็จริง แต่ต้องดูว่าเขาสามารถประสานเรื่องนโยบาย เรื่องตำแหน่งนายกฯ และเรื่องต่างๆ ได้ลงตัวหรือไม่ อย่าเพิ่งมาตั้งเป้าหรือเล็งมาที่ ส.ว.โดยตรง  

เมื่อถามว่าส่วนตัวมีเงื่อนไขในการตัดสินใจเลือกนายกฯ อย่างไรนั้น ส.ว.วันชัย กล่าวว่า ส่วนตัวยังยืนยันในหลักการเดิมหากพรรคการเมืองสามารถประสานและรวมกันได้เสียงข้างมาก ตนก็ไม่ขัดข้อง โดยยืนยันใช้หลักการเดิมแต่ยอมรับว่าต้องนำเรื่องอื่นๆ มาประกอบ แต่โดยหลักเคารพเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ 

ขณะที่ ส.ว.เฉลิมชัย เฟื่องคอน กล่าวถึงจุดยืนในการโหวตเลือกนายกฯ หลังพรรคก้าวไกล ประกาศรวมเสียงกับเพื่อไทยและฝ่ายค้านเดิม รวม 5 พรรค 309 เสียง ว่า เมื่อพรรคเสียงข้างมากรวมกันแล้ว แต่มีการระบุว่าจะให้เสียง ส.ว.ลงคะแนนให้ด้วยนั้น ตนที่เป็น ส.ว.มา 4 ปีมองว่าเป็นไปไม่ได้ โดยพรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376 เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียง ส.ว. จะไปเอาพรรคภูมิใจไทยมาร่วมก็ได้ เพื่อ ส.ว.จะได้ ปิดสวิชซ์ ส.ว. ไปเลย เพราะถ้า ส.ว.มีการงดออกเสียง ก็จะทำให้เสียงไม่ถึง 376 อยู่แล้ว 

ทั้งนี้ยอมรับว่า ปัจจัยของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องเสียงที่ได้รับจากประชาชนหรือเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะต้องดูว่าใครตั้ง ส.ว.ชุดนี้มีที่มาอย่างไร

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์