ส่อง 5 พรรคน่าจับตามองที่มีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

23 เมษายน 2566 - 02:16

Conscription-policy-66-SPACEBAR-Thumbnail
  • 5 พรรคน่าจับตามองที่มีนโยบายยกเลิกเกณฑ์ทหารได้แก่ พรรคเพื่อไทย , พรรคไทยสร้างไทย , พรรคก้าวไกล , พรรคเสรีรวมไทย และพรรคชาติพัฒนากล้า ในขณะที่พรรคอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุนการยกเลิกเกณฑ์ทหารที่น่าจับตามองได้แก่ พรรคภูมิใจไทย , พรรคพลังประชารัฐ , พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติเดินครึ่งทางคือลดการเกณฑ์ทหารลง 70%

เมื่อการเกณฑ์ทหารถูกนำมาเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้าง SPACEBAR จึงชวนสำรวจ 5 พรรคที่มีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารในศึกเลือกตั้ง 2566 และกระแสการพูดถึงประเด็นนี้บน Social Media 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3qL1Q1nYLQJ7DK7bbkvppZ/f6b7d8e690291b1eb9619b9298bb28a9/5-______________________-1
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3QrlTSP0uC97yJp9i2eghc/568bf3a65ba7c3732bfcce20a780a07e/5-______________________-2__1_
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Os5pOLopj2JIeykgUKyE9/bd8c62e682ce87d2208c95e4b31b3cec/5-______________________-3

พรรคที่มีนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร 

พรรคเพื่อไทย 
เสนอ 3 ข้อชูนโยบายลดขนาดกองทัพ , ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเน้นความสมัครใจ , ปรับลดงบกลาโหม เพื่อเป็นการลดรายจ่ายภาครัฐโดยพรรคเพื่อไทยถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะงบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างในปี 2566 งบประมาณด้านบุคลากรของกระทรวงกลาโหมใช้ไปถึง 9.7 หมื่นล้านบาท และกองทัพไทยมีขนาดใหญ่มากขึ้นในทุกๆ ปี 

จึงเสนอยกเลิกการบังคับเกณฑ์ให้เป็นไปโดยสมัครใจทันที โดยการเปิดกว้างให้การสมัครทหารออนไลน์และไม่กำหนดเป้าหมายการรับ และปรับลดงบประมาณกลาโหมลง 10% เพื่อนำไปใช้ตั้งกองทุนสนับสนุนธุรกิจคนรุ่นใหม่ เพื่อให้งบประมาณที่ใช้เหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริง 

พรรคไทยสร้างไทย 
5 เม.ย. 2566  น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของ พรรคไทยสร้างไทย และนายณัฐวัฒน์ พอใช้ได้ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางพลัด-บางกอกน้อย ลงพื้นที่วัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด เพื่อพูดคุยกับประชาชนที่มาเข้ารับการเกณฑ์ทหาร จับใบดำ-ใบแดง น.ต.ศิธา กล่าวว่า ถึงฤดูกาลเกณฑ์ทหารทุกปี จะมีคนที่สมัครใจอยากเป็นทหาร มีจำนวนไม่ครบตามที่รัฐต้องการ จึงทำให้คนที่ไม่อยากเป็น ต้องมาจับใบดำ-ใบแดง หรือถ้าพูดตามความเป็นจริงคือการบังคับให้เป็นทหาร โดยสัดส่วนแล้วมีทหารเกณฑ์ประมาณแสนกว่าคน 2 ปี ถูกเกณฑ์ปีละห้าหมื่นกว่าคน สมัครใจสามหมื่นคน และถูกบังคับให้จับใบดำ-ใบแดงราวสองหมื่นกว่าคน หลายคนไม่สามารถไปเรียนต่อ หรือทำงานหาเลี้ยงครอบครัวตามที่ตัวเองมุ่งหวังได้ 

โดยพรรคไทยสร้างไทยสนับสนุนให้ยกเลิกการจับใบดำใบแดง เพื่อเปลี่ยนให้เป็นระบบสมัครใจ โดยทุกเหล่าทัพมีทหารเกณฑ์รวมกันประมาณ 100,000 คน ในจำนวนนี้อาสาเข้ามาเป็นทหารประมาณ 5 หมื่นคน และจับได้ใบแดงอีก 5 หมื่นคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่าความต้องการจริง จึงเห็นภาพพลทหารไปรับใช้ตามบ้านผู้บังคับบัญชา ซึ่งใช้งานผิดประเภท และเกินความจำเป็น 

พรรคก้าวไกล 
15 เม.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งข่าวว่ารังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมกับ ธีรุตม์ สันหวัง ผู้สมัคร ส.ส.พังงา เขต 1 พบปะทีมทำงานและเครือข่ายพรรคก้าวไกล ที่ศูนย์ประสานงานพรรคก้าวไกล ต.ท้ายช้าง อ.เมือง จ.พังงา  

โดยได้กล่าวถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลที่ดูจะได้รับความนิยมมากที่สุด คือนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารและการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกประชากรคนหนุ่มนับแสนคนต่อปีให้สามารถออกไปทำงานและใช้ชีวิตตามที่ต้องการ ยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) คนหนุ่มเหล่านี้ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศ พรรคก้าวไกลจึงเสนอยกเลิกเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจทั้งหมด ลดขนาดกองทัพ และเพิ่มการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และประสิทธิภาพของกำลังพล 

พรรคเสรีรวมไทย 
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย มีนโยบายปฏิรูปกองทัพโดยการแก้ไข พรบ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม 4 ประเด็นหลัก 1 ยกเลิกเกณฑ์ทหาร  2 ลดขนาดของกองทัพ 3 ยกเลิกศาลทหาร และ 4 ย้ายกองทัพออกจากกรุงเทพฯ ที่ต้องการให้ยุบหน่วยงานกองบัญชาการทหารสูงสุดและยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพราะมองว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ โดยให้คนที่สมัครใจเท่านั้นไปเป็นพลทหาร โดยกล่าวว่าหมดความจำเป็นแล้ว ประชากรเกิดมาปีละสามแสนกว่า โตขึ้นต้องไปเกณฑ์ทหารแสนกว่าๆ หนึ่งในสาม แล้วประเทศชาติมันจะดีขึ้นได้อย่างไรแทนที่เขาจะได้ไปทำมาหากินต่างๆให้เจริญรุ่งเรือง และมองว่ากระแสดราม่าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะระเบียบที่ล้าหลัง 

พรรคชาติพัฒนากล้า 
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวในเวทีเลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทยว่า กองทัพมีภารกิจเรื่องความมั่นคง เป็นส่วนราชการทั่วๆ ไป โดยรัฐธรรมนูญ หมวดการปฏิรูป มาตรา 258 รัฐบาลมีหน้าที่ปรับปรุงปฏิรูปราชการแผ่นดินให้ทันสมัย ดังนั้นการปฎิรูปกองทัพก็เป็นเรื่องปกติ ในส่วนของพรรคฯ มีความเห็นเรื่องการเกณฑ์ทหารว่า ควรทำให้กระบวนการในเกณฑ์ทหารเป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่ดี เป็นอาชีพหนึ่ง ตำแหน่งหน้าที่ดี ก้าวหน้า เพื่อให้ผู้ที่อยากเป็นทหารมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องมีการเกณฑ์ทหาร 

ในขณะที่พรรคอื่นๆ ที่ไม่สนับสนุนการยกเลิกเกณฑ์ทหารที่น่าจับตามองได้แก่ พรรคภูมิใจไทย , พรรคพลังประชารัฐ , พรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติเดินครึ่งทางคือลดการเกณฑ์ทหารลง 70% 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์