รัฐบาลผสมอายุสั้น และการชิงอำนาจของพรรคใหญ่อาจทำให้จบไม่สวย

17 พ.ค. 2566 - 03:55

  • สิ่งที่เรารู้ๆ กันคือ ประเทศไทยไม่เคยขาดแคลนรัฐบาลผสม

  • แต่สิ่งที่หลายคนอยากรู้ก็คือ รัฐบาลผสมจะอยู่ได้ยืดแค่ไหน?

TAGCLOUD-the-longevity-of-coalition-government-in-thai-history-SPACEBAR-Hero
“ประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไทยนั้น มันเป็นรัฐบาลผสม คือเกือบทั้งหมดเป็นรัฐบาลผสม” เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ “ฉะแฉฉาว 2 เล่ห์...ลมปากนักการเมืองไทย” (ทีมข่าวการเมืองมติชน, สำนักพิมพ์มติชน, 2552) 

จริงอย่างที่ เอนก เหล่าธรรมทัศน์  กล่าวไว้ว่าการเมืองไทยคือการเมืองของรัฐบาลผสม มีเพียงครั้งเดียวที่พรรคการเมืองพรรคเดียวตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องชวนพรรคอื่นมาเสริมพลังเสียง (นั่นคือการเลือกตั้งปี 2548) 

แม้ว่าการตั้งรัฐบาลผสมจะเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย (และรัฐบาลที่ผ่านมาก็เป็นแบบเดียวกัน) แต่อายุขัยของรัฐบาลผสมไม่ได้ยืดยาวเท่าไรเลย และมีเพียง 2 ครั้งเดียวเท่านั้นที่รัฐบาลผสมอยู่จนครบเทอม หลายครั้ง รัฐบาลผสมจบลงด้วยหายนะทางการเมือง บางครั้งพังพินาศไปพร้อมๆ กับเกิดวิกฤตระดับชาติ 

สถิติที่เราพบในประวัติศาสตร์การเมือง 

• ระหว่างปี พ.ศ. 2475–2500 สมาชิกในคณะรัฐมนตรีของไทยไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง และส่วนมากเป็นคนของคณะราษฎร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

• ระหว่างปี พ.ศ. 2500–2516 เป็นยุคที่มีการตั้งพรรคการเมือง ทำให้รัฐบาลกลายเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค สลับกับรัฐบาลทหารจากการทำรัฐประหาร แต่เนื่องจากเป็นยุคที่ทหารผูกขาดอำนาจอย่างยาวนาน ทำให้รัฐบาลผสมของพลเรือนไม่มีบทบาทมากนัก 

• ระหว่างปี พ.ศ. 2516 - 2519 นี่เป็นยุคที่รัฐบาลผสมถือกำเนิดขึ้นมาอย่างแท้จริง หลังการโค่นล้มรัฐบาลทหารนำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร อันเป็นผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ก็เป็นยุคของรัฐบาลผสมเสียงข้างน้อย แต่ทว่า....  
  • ครม. รุ่นที่ 35 รัฐบาลเสียงข้างน้อยครั้งแรกของไทย คือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กับ พรรคเกษตรสังคม ซึ่งมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อตัวขึ้นมาโดยที่พรรคใหญ่อื่นๆ ไม่ยอมมาร่วมรัฐบาลด้วย รัฐบาลนี้มีเสียงในสภาแค่ 91 เสียงจากทั้งหมดในสภา 269 เสียง ผลคือรัฐบาลนี้ล่มในเวลา 21 วัน เพราะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาในการแถลงนโยบาย ปรากฎว่า ม.ร.ว. เสนีย์ ไม่ได้ยุบสภา แต่เปิดโอกาสให้เลือก ครม. และนายกรัฐมนตรีกันใหม่ 
  • ครม. รุ่นที่ 36 เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ผิดปกติมากๆ อีกครั้ง เพราะแกนนำตั้งรัฐบาล คือ พรรคกิจสังคม มี ส.ส. เพียง 18 เสียง (จากที่นั่งในสภา 269 เสียง) แต่พรรคการเมืองอื่นๆ ยินยอมให้พรรคกิจสังคมเป็นผู้นำ และหัวหน้าพรรค คือ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกฯ แต่รัฐบาลนี้เกิดขึ้นมาเพื่อ ‘บลั๊ฟ’ รัฐบาลประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว. เสนีย์ จึงเป็นรัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาได้เพราะการต่อรองทางการเมือง จึงล่มลงในเวลาแค่ 1 ปี 34 วัน ส่วนหนึ่งเพราะพรรคการเมืองแย่งชิงผลประโยชน์กัน 
  • ครม. รุ่นที่ 37 เกิดจากการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ของ ม.ร.ว. เสนีย์ กลับมาอีกครั้งพร้อม 114 เสียง ตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคชาติไทย 56 เสียง พรรคกิจสังคม 45 เสียง และพรรคธรรมสังคม 28 เสียง แต่รัฐบาลนี้สั่นคลอนอย่างหนักเพราะการประท้วงของนักศึกษาและประชาชน กรณีจอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับเข้าไทย ความขัดแย้งนี้ลุกลามมาถึงรัฐบาลด้วย มีรัฐมนตรีบางคนลาออก จนทำให้รัฐบาลล่มลงในวันที่ 23 กันยายน 2519 เหตุการณ์นี้ต่อมากลายเป็นกรณี 6 ตุลา 2519 
• พ.ศ. 2520 – 2544 ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสู่เต็มใบ เริ่มต้นจากรัฐบาลที่ทหารแต่งตั้ง มาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังเป็นรัฐบาลผสมอยู่เช่นเดิม อายุขัยของรัฐบาลผสมในยุคนี้สั้นมาก หากไม่ล้มลงเพราะความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง ก็ล้มลงเพราะการรัฐประหาร  
  • ครม. รุ่นที่ 42 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ (3 มีนาคม 2523 - 19 มีนาคม 2526) รวมอายุ 3 ปี 40 วัน ยุบสภาเพราะสภาไม่เห็นชอบกับการเสนอให้ยืดอายุการใช้บทเฉพาะกาลของ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2521 
  • ครม. รุ่นที่ 43 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ (30 เมษายน พ.ศ. 2526 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2529) รวมอายุ 3 ปี 90 วัน ยุบสภาเพราะรัฐบาลแพ้เสียงในสภา ในการออกพระราชกำหนดการขนส่งทางบก 
  • ครม. รุ่นที่ 44 พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ (5 สิงหาคม พ.ศ. 2529 - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2531) รวมอายุ 1 ปี 363 วัน ยุบสภาเพราะเกิดความไม่ลงรอยกับพรรคประชาธิปัตย์  
  • ครม. รุ่นที่ 45 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ (4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533) รวมอายุ 2 ปี 127 วัน ปรับ ครม. ให้สภาเลือกนากยฯ ใหม่เพราะเกิดความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล 
  • ครม. รุ่นที่ 46 พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ (9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534) รวมอายุ 71 วัน รัฐบาลล้มเพราะถูกรัฐประหาร 
  • ครม. รุ่นที่ 50 ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกฯ (23 กันยายน พ.ศ. 2535 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 รวมอายุ 2 ปี 298 วัน พรรคพลังธรรม ซึ่งร่วมรัฐบาลไม่ไว้ใจความโปร่งใสของพรรคประชาธิปัตย์ จึงต้องยุบสภา 
  • ครม. รุ่นที่ 51 บรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย เป็นนายกฯ (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539) รวมอายุ 1 ปี 130 วัน มีข้อครหาเรื่องการบริหารไม่มีประสิทธิภาพ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้ บรรหาร ลาออกจากตำแหน่ง 
  • ครม. รุ่นที่ 52 พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่ เป็นนายกฯ  (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540) รวมอายุ 346 วัน ล้มลงเพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง 
  • ครม. รุ่นที่ 53 ชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ (14 พฤศจิกายน 2540 – 9 พฤศจิกายน 2543) รวมอายุ 3 ปี 95 วัน รัฐบาลล้มเพราะยุบสภา แต่ ชวน ถือเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งคนแรกที่กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 และนี่คือจุดจบการเมืองยุคเก่า และจุดเริ่มของการเมืองรัฐบาลผสมรุ่นใหม่ 
• ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน ในช่วงนี้เกิดความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองแบบถอนรากถอนโคน มีสถิติใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่การเมืองไทยไม่เคยพบพานมาก่อน  
  • สถิติที่ 1 ครม. รุ่นที่ 54  ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ (17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2548)  เป็นรัฐบาลจากพรรคการเมืองน้องใหม่ที่แทบไม่มีบทบาททางการเมืองมาก่อนหน้านี้เลย และเป็นที่มาจากการเลือกตั้งรัฐบาลแรกที่อยู่ครบเทอม คือ 4 ปี 23 วัน และเป็นรัฐบาลผสมที่อยู่ครบเทอมครั้งแรกเช่นกัน 
  • สถิติที่ 2 ครม. รุ่นที่ 55 ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ (11 มีนาคม พ.ศ. 2548 – 19 กันยายน พ.ศ. 2549) เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว  
  • สถิติที่ 3 ครม. รุ่นที่ 58 สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ (24 กันยายน พ.ศ. 2551 – 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551)  เป็นรัฐบาลผสมที่มีอายุเพียง 86 วัน และเป็น ครม. แรกที่ไม่เคยทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลเลย เพราะเกิดเหตุกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดทำเนียบรัฐบาล 
  • สถิติที่ 4 ครม. รุ่นที่ 60 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ (9 สิงหาคม พ.ศ. 2554 – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557) เป็น ครม. แรกที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง มีอายุ 2 ปี 286 วัน อยู่ไม่ครบเทอมเพราะถูกรัฐประหาร 
  • สถิติที่ 5 ครม. รุ่นที่ 62 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562) ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ครม. นี้กำลังจะเป็น รัฐบาลผสมรัฐบาลที่ 2 ที่อยู่ครบเทอม ต่อจากครม. รุ่นที่ 54 
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าเอารัฐบาลผสมแบบของไทยมาคิดดูสถิติจริงๆ รัฐบาลผสมของไทยมีอายุประมาณ 2 ปีกับอีก 7-8 เดือน มันก็ไม่ยาวเท่าไหร่” 

จากตัวอย่างในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจะพบว่าอายุขัยรัฐบาลเกือบทั้งหมดไม่เคยเกิน 4 ปีเลย และส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 2 ปีจริงๆ และจากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นว่ามีบาง ครม. ถูกละเลยไป นั่นเพราะ ครม. เหล่านั้นตั้งโดยคณะรัฐประหาร จึงไม่ควรที่จะนำมาเทียบกับรัฐบาลในระบอบรัฐสภาที่แท้จริง  

สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราดูที่ยุคล่าสุดของการเมืองไทย (ระหว่างปี พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน) จะพบสถิติที่แปลกไปจากอดีต เราเริ่มเห็นรัฐบาลพรรคเดียวครั้งแรก เรามีรัฐบาลผสมที่อยู่ครบเทอมถึง  2 รัฐบาล และหลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่มีสัญญาณการสร้างรัฐบาลก้าวไกล-เพื่อไทย ก็ยังเป็นอีกสถิติใหม่เช่นกัน เพราะสร้างรัฐบาลนี้ได้สำเร็จ ก็จะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลผสมจะประกอบด้วย 2 พรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งไม่ทิ้งห่างกันมากและได้ที่นั่งไล่เลี่ยกันจนแต่ละฝ่ายสามารถเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเองก็ยังได้ (แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ทำ และเลือกจะมารวมกัน ซึ่งผิดจากความปกติของการเมืองไทยก่อนหน้านี้) 

ความแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 - ปัจจุบัน อาจจะสะท้อนว่าต่อไปนี้เราคงจะใช้ตำราเดิมๆ เพื่อวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทยไม่ได้อีกแล้ว และหลังจากนี้เราอาจจะต้องเริ่มยุคใหม่ของการเมืองไทย ที่มี New normal ของตัวเอง ไม่เหมือนกับในอดีต 

มองอดีตเพื่อเตรียมอนาคต 

ทำไมเราถึงพูดเรื่องในอดีต? ก็เพราะอดีตจะช่วยบอกใบ้กับเราได้ถึงสถานการณ์ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตการเมืองไทยที่เต็มไปด้วยการต่อตั้งรัฐบาลผสม การทราบความเป็นมาในอดีต จะทำให้เราเตรียมพร้อมรับความเป็นไปในอนาคตได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากพรรคการเมืองฟอร์มตัวกันเป็นรัฐบาลผสม 

ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ มีกระแสข่าวการตั้งรัฐบาลผสมระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะเป็นอีกครั้งที่เราจะมีรัฐบาลผสม แต่มันเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลผสมจะประกอบด้วย 2 พรรคที่ได้คะแนนเลือกตั้งไม่ทิ้งห่างกันมากนัก นั่นหมายความว่าอำนาจต่อรองของทั้ง 2 พรรคจะเท่าๆ กัน  

สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นกำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นเราจะต้องวิเคราะห์ถึงสถานการณ์สมมติที่อาจจะเกิดขึ้น หากเสือสองตัวมาร่วมถ้ำ (รัฐบาล) เดียวกัน 

ดังนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์