เบาใจได้! ‘เอนก’ เผยยังไม่พบ ‘ซีเซียม-137’ เกินค่ามาตรฐาน

21 มีนาคม 2566 - 06:50

Anek-reveals-that-Caesium-137-has-not-exceeded-the-standard-SPACEBAR-Hero
  • ‘เอนก’ ขอประชาชนเบาใจ ยังไม่พบ ‘ซีเซียม-137’ เกินค่ามาตรฐาน

  • เผยเรียกถกคณบดีแพทย์กว่า 20 สถาบัน วางแผนเฝ้าระวัง ชี้ต้องทำงานด้วยหลักการ

  • เผยนายกฯ ย้ำเอาข้อมูลความจริงมาทำความเข้าใจประชาชน ยันไม่มีฮั้วโรงงาน

  • เลขาฯ สำนักงานงานปรมาณูฯ แจงเปิดภาพโรงาน แค่ถ่ายรูป ขู่ครอบครองโดยไม่ลงทะเบียน โทษแรงคุก 10 ปี

  • ด้านปลัด อว. ยันไม่พบหลุดรอด

เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ว่าจากรายงานสรุปข้อมูลเบื้องต้น ในการตรวจสอบดิน น้ำ และอากาศ บริเวณ 2 จุด คือ ที่โรงงานไฟฟ้าพลังงานไอน้ำ ต.ท่าตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และพื้นที่โรงงานหลอมโลหะแห่งหนึ่งใน อ.กบินทร์บุรี ที่ตรวจพบ ซีเซียม-137 ไม่มีค่ากัมมันตรังสีมากกว่าปกติ ในระดับที่เป็นอันตราย ยังไม่มีอะไรที่น่าวิตกมากนัก แต่ยังต้องระวัง อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งจุดตรวจ 18 จุด และจุดตรวจบริเวณทะเลอีก 5 จุด  

“ทั้งหมดรายงานมาว่ายังไม่พบซีเซียม อยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐานปกติ ในตอนนี้ให้เบาใจได้ นอกจากนั้น จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีวิชาและคณะสาขาที่มีความความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเรื่องปรมาณูและกัมมันตรังสี เข้าไปตรวจสอบ และจะเปิดให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟัง รับรู้ ในการตรวจวัดปริมาณซีเซียม ในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีปริมาณซีเซียม ในดิน น้ำ อากาศ ที่เป็นอันตราย เราต้องติดตามอย่างจริงจังไม่ใช่รับฟังรายงานอย่างเดียว” เอนก ระบุ 

นอกจากนั้น จะประสานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ว่ามีกัมมันตรังสีแพร่กระจายหรือไม่ และขอให้รายงานมาที่ประเทศไทย และรายงานต่อองค์การระดับโลก ที่ทำงานเกี่ยวกับการควบคุมกัมมันตรังสีได้รับทราบด้วยว่า ปริมาณซีเซียม-137 ในดิน น้ำ อากาศ ในประเทศรอบบ้านเรา ยังไม่มีระดับที่ผิดปกติอะไร ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะมั่นใจขึ้น และขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานจากทางโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่ามีคนที่บาดเจ็บ หรือสุขภาพได้รับความเสียหายจากกัมมันตรังสี จึงเบาใจได้เพิ่ม พร้อมย้ำ ไม่มีการละเลยเรื่องนี้ โดยในเวลา 12.00 น. ได้มีการประชุมร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ของโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด กว่า 20 แห่ง เพื่อเตรียมการ 

เมื่อถามว่า จะต้องมีการควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้ก่อนหรือไม่ เอนก กล่าวว่า “ใช่ ในพื้นที่มีการก่ออิฐ มีการใช้วิทยาการระดับสูงเข้าไปดำเนินการ ไม่ใช่ทำตามสามัญสำนึก ส่วนการกำจัดกากที่เหลือ ได้มอบให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฏหมายเข้าไปดำเนินการและมีวิธีทำงานให้เกิดความปลอดภัย”

เอนก ยืนยันด้วยว่า จะใช้เวลาติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ โดยจะสอบทานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน และจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เพื่อความสบายใจ เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจเรื่องนี้มากกว่าการยุบสภาฯ และเวลานี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน ทั้งนี้ ได้มีการตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าที่จุดเกิดเหตุ โดยมีนักนิวเคลียร์ และนักฟิสิกส์ ลงไปช่วย ซึ่งได้รายงานว่า สถานการณ์ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าวิตก 

ส่วนกรณีภาพการปิดล้อมโรงงงานหลอมเหล็กที่พบสารซีเซียม-137 ทำให้ประชาขนเกิดความไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลป้องกันสุขภาพและสารกัมมันตรังสีได้มากน้อยแค่ไหนนั้น เอนก ยืนยันว่า สามารถมั่นใจได้ โดยทำตามหลักวิชา ทั้งนี้ สำหรับเรื่องกัมมันตรังสี ถือเป็นเรื่องสากล ซึ่งมาตรการต่างๆ ถูกกำหนดโดยองค์การระดับประเทศ โดยไอเออีเอ เข้ามาตรวจสอบเป็นระยะๆ และไม่ใช่เรื่องวิตกเฉพาะเมืองไทย หรือประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่กัมมันตรังสีสามารถแพร่ไปได้ทั่วโลก เพราะฉะนั้น ประเทศอื่นๆ ก็เข้ามาตรวจสอบของเราด้วย 

“เรื่องนี้ ถ้าถามว่ารัฐบาลคิดอย่างไร ผมกราบเรียนได้เลยว่า ผมได้กราบเรียนท่านนายกฯ วันนี้จะเรียกประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ซึ่งมีหน้าที่ทางวิชาการส่วนเรื่องการกันพื้นที่เป็นเรื่องของทางจังหวัด นายกฯบอกว่า ให้เอาความจริงออกมา ให้พูดข้อมูลตามที่เป็นจริง และให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจ ซึ่งจะเข้าใจได้ ก็ต้องรับรู้ รับทราบในข้อมูลและสอบถามได้ เพราะฉะนั้น ที่บอกว่าเราจะฮั้วกับโรงงาน บอกได้เลยว่า รัฐบาล โดยเฉพาะระดับสูง ระดับนายกฯ ระดับกระทรวง ระดับกรม เราทำจริงจังแน่ และเรื่องนี้ เป็นนโยบายที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย ดังนั้น เราจะมาทำแบบงุบงิบไม่ได้” เอนก กล่าว 

ด้าน เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพที่เก็บสิ่งปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตถึงการกักเก็บไม่มิดชิด โดยยืนยันว่า ภาพดังกล่าว เป็นการเปิดเพื่อถ่ายรูป พอถ่ายเสร็จก็ปิด ทั้งนี้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มีการตั้งศูนย์เฉพาะกิจที่โรงงานหลอมเหล็กดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจ และเพื่อตรวจวัดโรงงาน รวมทั้งบริเวณรัศมีโดยรอบ เป็นชั้นๆ ต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจวัดดิน น้ำ อากาศ และอาหารที่อยู่ในตลาด จะมีการเก็บมาตรวจสอบทั้งหมด เพื่อความมั่นใจในการทำมาหากินของประชาชน 

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงท่อวัสดุบรรจุสารซีเซียม-137 ที่พบ ไม่ได้ติดสัญลักษณ์วัตถุอันตรายนั้น เพิ่มสุข อธิบายว่า สัญลักษณ์มีหลายแบบ  

“เพลทที่เขาปั๊ม จะเป็นรอยรูปใบพัด จะไม่มีสี หากไปสังเกตุที่วัสดุก็จะเห็นชัดเจน” เพิ่มสุข ระบุ 

เมื่อถามว่า ขณะนี้ทราบหรือยังว่าสารซีเซียม-137 ถูกทำลายไปแล้ว หรือยังอยู่ เพิ่มสุข ตอบว่า “อยู่ในกระบวนการที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการอย่างใกล้ชิด” พร้อมยอบรับว่า ยังมีสารลักษณะดังกล่าวที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ ก่อนอธิบายว่า สารซีเซียม-137 นั้นใช้กันทั่วไป ทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม และทางการแพทย์ 

ส่วนจะมีมาตรการเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ เพิ่มสุข ก็ชี้แจงว่า กฎหมายปรมาณู มีความแรงมากและเฉียบขาด และโรงงานทุกโรงอยู่ในระเบียบวินัย กรณีดังกล่าวนั้นไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น จะขอแผนดำเนินการของโรงงานไฟฟ้าฯ เจ้าของสาร ซีเซียม-137 มาดู และจะยกระดับแผนเพิ่มเติมให้มากขึ้น ทั้งการติดกล้องวงจรปิด มีพนักงานรักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ตรวจเช็ก ทั้งนี้ ถ้ายังครอบครองวัสดุบรรจุสารซีเซียม-137 จะต้องมีการลงทะเบียนเหมือนอาวุธปืน จะนำไปใช้โดยไม่ลงทะเบียนไม่ได้ มีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 20 ล้านบาท  

ด้าน สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า คณะกรรมการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ได้รับรายงานการตรวจสอบทุกจุด ทั้งจุดเกิดเหตุ, บริเวณในโรงงานและรอบโรงงาน, ภายในจังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งจุดตรวจภายในประเทศ ทั้งในอากาศ น้ำ และดิน พบปริมาณสารอยู่ในระดับปกติ ไม่ได้ทำให้เกิดสภาวะที่ผิดปกติ และมีการตรวจทานข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา ไม่ปรากฏว่ามีการหลุดรอดของสารรังสีซีเซียม-137 ออกนอกบริเวณที่ได้ระบุไว้ และการติดตามข้อมูลทางสาธารณสุข ทั้งในโรงพยาบาลต่างๆ รวมทั้งผู้ป่วย ซึ่งทางคณะกรรมการได้มอบให้มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และตรวจสอบจุดต่างๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์