‘สถานทูตอังกฤษ’ เชิญ ‘นักข่าว SPACEBAR’ ขึ้นกล่าว LGBT+ HISTORY MONTH

18 กุมภาพันธ์ 2566 - 07:02

British-Enbassy-BKK-LGBT-HISTORY-MONTH-SPACEBAR-Thumbnail
  • สถานทูตเอกอัครราชทูตอังกฤษฯ เชิญนักข่าว SPACEBAR สายการเมือง-กองทัพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เนื่องใน LGBT+ HISTORY MONTH ของประเทศอังกฤษ

  • จาก ‘เด็กแอนตี้กองทัพ’ แต่หนีกองทัพไม่พ้น ต้องมาเป็น ‘นักข่าวสายทหาร-การเมือง’ กับการเป็น LGBT+ ในการเกาะติดกองทัพใกล้ชิด ไปลุยสนามรบ ติดตามสถานการณ์การเมือง อ่านเกมอำนาจของแต่ละฝ่าย

สถานทูตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย จัดกิจกรรม LUNCH & LEARN Behind The Lens : Life as an LGBT+ ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์เป็น LGBT + HISTORY MONTH ของประเทศอังกฤษ โดยได้เชิญ ‘ปรัชญา นงนุช’ ผู้สื่อข่าวภาคสนามการเมือง-กองทัพ SPACEBAR ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน 

โดย ‘ปรัชญา’ ได้เล่าเล่าย้อนอดีตไปถึงสมัยเรียนชั้นมัธยม ที่จบจากโรงเรียนชายล้วน ที่หล่อหลอมความเป็น ‘สุภาพบุรุษ’ แต่ใจของเขาเป็น ‘สุภาพสตรี’ แต่สังคมที่เขาอยู่ มีแต่คำว่า ‘พี่-เพื่อน-น้อง’ ไม่มีแบ่งแยกเพศหรือรสนิยมใดๆ  

เมื่อมาทำข่าวกองทัพ-การเมือง ก็ได้พบกับ ‘รุ่นพี่’ ที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชาในกองทัพ และเจอกับรุ่นพี่ที่เป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่ในสนามการเมือง อีกทั้งได้พบกับ ‘รุ่นน้อง’ ที่กำลังเติบโตในสายงานนั้นๆ ซึ่งต่างมอง ‘ปรัชญา’ เป็น ‘รุ่นพี่-รุ่นน้อง’ ตามปกติ ไม่มีแบ่งแยกใดๆ 

สมัยเรียนชั้น ม.ปลาย ‘ปรัชญา’ ต้องเรียนวิชา ‘นักศึกษาวิชาทหาร’ หรือ รด. จุดนี้ทำให้เขา เกิดคำถามต่างๆ ต่อ ‘กองทัพ’ ตั้งแต่เด็ก เวลาถูกสั่ง ‘ลงโทษ-ปฏิบัติ’ ต่างๆ ทำให้เขาไม่ต้องการเกี่ยวข้อง ‘กองทัพ’ อีก 

ช่วงเรียนชั้น ม.5-6 ‘ปรัชญา’ อ่านหนังสือรัฐศาสตร์มากขึ้น จึงเห็นความเชื่อมโยง ‘กองทัพ-การเมือง’ นำมาสู่การเรียนคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่มีชุดประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชื่อมโยงกับการเมืองไทย ยิ่งทำให้เขาเกิดคำถามต่อ ‘กองทัพ’ นำมาสู่การถกเถียงต่างๆ อย่างเข้มข้นในคณะ 

ช่วงที่ ‘ปรัชญา’ เรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 3 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้ขึ้นเป็นประธานสภานักศึกษา มธ. แต่เขากลับไม่เลือกนำเสนอตัวตนว่าเป็น LGBT+ แต่เขานำเสนอตัวเองเป็น ‘นักศึกษาคนหนึ่ง’ เท่านั้น ในการหาเสียงและทำงาน แต่ทุกคนทราบดีว่าเขาเป็น LGBT+ ถือเป็นช่วงเวลาที่เขาได้พบกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และเป็นจุดเริ่มต้นที่เขา จะมาทำอาชีพด้านสื่อสารมวลชน เพราะมองว่าเป็นงานที่ได้พบปะผู้คนจำนวนมากและสามารถสะท้อนปัญหาทางการเมืองได้ 

แต่สุดท้าย ‘ปรัชญา’ ก็หนี ‘กองทัพ’ ไม่พ้น หลังเรียนจบ ‘ปรัชญา’ ได้เดินเข้ามาสู่ ‘วิชาชีพนักข่าว’ ในช่วงปลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 จากนั้น ‘ปรัชญา’ ได้ขอเลือกที่มาดูงานข่าว ‘สายทหาร’ เพราะมองว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการมองสถานการณ์ยุค คสช. ทำให้เขาได้พบปะทหารจำนวนมากทุกเหล่าทัพ ได้ไปลงพื้นที่ทุกกองทัพภาค ได้ไปพื้นที่ชายแดนทุกภาค ดูการฝึกซ้อมรบทั้งกับทหารไทยกับทหารต่างประเทศ เกาะติดสถานการณ์กองทัพยุค คสช. ใกล้ชิด พร้อมกับรับผิดชอบงานข่าว ‘สายทำเนียบรัฐบาล’ ด้วย เพราะมี ‘นายกฯ ทหาร’ และรัฐมนตรีเป็นทหารหลายคน 

จนมาถึงยุครัฐบาลเลือกตั้ง ที่มีการตั้ง ‘พรรคทหาร’ ขึ้นมา ทำให้งานข่าวที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น ติดตามความเคลื่อนไหวในกองทัพและการเมืองในระบอบรัฐสภา ภายใต้อำนาจ ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ จึงได้พบกับนักการเมืองจำนวนมากด้วย 

ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ชีวิตเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เป็นระยะเวลา 9 ปีเต็ม กำลังจะเข้าปีที่ 10 ปี ในวิชาชีพนักข่าว กับการเป็น LGBT+ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ ซึ่ง ‘ปรัชญา’ เล่าว่า การเป็น LGBT+ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนการทำงานข่าว เพราะเป็นจุดเด่นของเรา ใครเห็นเรา ก็จำเราได้ และทำให้เราคุยกับคนทุกเพศได้มากขึ้น เพราะเราเป็นทั้งชายและหญิงในร่างเดียวกัน 

“เวลาเราไปทำงานคนอื่นไม่ได้มองเราเป็น LGBT+ แต่เขามองเราเป็นพี่-เพื่อน-น้องคนหนึ่ง มองเราเป็นนักข่าวเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งจุดนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะคนมองเราที่เป็นเราอย่างแท้จริง ก้าวข้ามเรื่องเพศไปแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองอย่างมากเช่นกัน” ปรัชญา กล่าว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4EGUvickQQzBSJOUyMkOMm/e96cbacaf41546b23be735dddf2d5396/British-Enbassy-BKK-LGBT-HISTORY-MONTH-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/t8IXhMpXCOW6YJsrIOlWf/89f7d7f24914b5daeed60bcef477d14a/British-Enbassy-BKK-LGBT-HISTORY-MONTH-SPACEBAR-Photo02

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์