ปัญหา ‘ส่วย’ ฝังรากลึก! ทำ ‘ขรก.’ น้ำดีไม่มีโอกาสโต

7 มิ.ย. 2566 - 02:49

  • ‘วิโรจน์’ ชี้ปัญหาส่วยทำให้ ‘ข้าราชการน้ำดี’ ไม่มีโอกาสโต

  • ย้ำต้องทำให้องค์กรอิสระยึดโยงกับประชาชน

  • ชมผู้ว่าฯ ‘ชัชชาติ’ ทำงานดี แต่ พ.ร.บ.กทม. เก่าเกิน

Wiroj-pointed-out-the-problem-of-tribute-making-good-civil-SPACEBAR-Hero
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีส่วยและปัญหาของกรุงเทพมหานคร ว่า เราต้องรื้อฟื้นความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งปัญหาที่ถูกซุกอยู่ในวงการข้าราชการในภาพรวม นั่นคือเรื่องซื้อขายตำแหน่ง ที่ทำให้ข้าราชการที่ตั้งใจทำงานไม่มีโอกาสที่จะเติบโต โดยเฉพาะในวงการตำรวจ โดย พล.ต.อ. วินัย ทองสอง นายกสมาคมตำรวจก็ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี ที่เคยพูดถึงการซื้อขายตำแหน่ง  

“ระบบตั๋วที่มันสืบทอดยาวนานมาในแวดวงข้าราชการ 8-9 ปี ทำให้เกิดการถักทอเครือข่ายจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นคอร์รัปชั่นระบบการส่งส่วยแบบฝังรากลึก ที่ไม่ใช่แค่การส่งจากล่างขึ้นบน แต่เป็นการส่งข้ามรุ่นด้วย คิดว่ารัฐบาลก้าวไกลจะทำให้ข้าราชการที่มีความสุจริตและตั้งใจทำงานกลับมามีรอยยิ้ม และภาคภูมิใจในความเป็นข้าราชการได้อีกครั้งหนึ่ง” วิโรจน์กล่าว  

วิโรจน์ กล่าวว่า การแต่งตั้งโยกย้ายต้องมีความเป็นธรรม แต่ก็ต้องทบทวนโครงสร้างของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) ให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม และในส่วนขององค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตตรงนี้สิ่งที่ต้องแก้คือต้องแก้รัฐธรรมนูญ เช่น คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามว่าในเมื่อที่มาของท่านไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนก็ไว้วางใจท่านให้จัดการ  

แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ ป.ป.ช. มีโครงสร้างที่ยึดโยงกับประชาชน ประชาชนก็สามารถถอดถอนได้ การที่องค์กรอิสระต่างๆ มาจากกลไกของเผด็จการ ก็จะเป็นวันที่ท่านต้องมาตรวจกลุ่มเผด็จการ ก็จะเหมือนกับลูกน้องต้องมาตรวจเจ้านาย ซึ่งไม่ควรเป็นแบบนั้น เลยทำให้ความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระต่างๆ ค่อนข้างจำกัดซึ่งต้องแก้รัฐธรรมนูญให้มีการยึดโยงกับประชาชน คือต้องมีความอิสระแต่ก็ต้องยึดโยงกับประชาชน  

เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับการทำงานขององค์กรอิสระในรัฐบาลนี้ ที่ปล่อยให้มีการคอร์รัปชั่นและส่วย วิโรจน์กล่าวว่า ก็ทำงาน แต่ทำงานภายใต้ข้อจำกัดพอไปแตะก็พบว่าบุคคลนั้นเป็นคนของคนนี้ ความไวของพิจารณาคดีก็ถูกตั้งข้อสงสัย เราไม่ได้กล่าวหาแต่ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งข้อสงสัย  

เมื่อถามว่ามายุ่งเรื่องส่วยมีการโดนข่มขู่หรือไม่ วิโรจน์ กล่าวว่าก็มีสายแปลกๆ ซึ่งเป็นยุคที่แปลกที่คนที่ทำอย่างถูกต้องต้องมากลัว แต่บอกเสมอว่าเมื่อมีคอมเม้นท์ที่ฝากมาถึงตนหรือพรรคก้าวไกลให้ระวังตัวเอง หรือเป็นห่วงจังเลย ตนคิดว่าอย่าคอมเมนท์แบบนั้นเลย ขอแค่ยินดียืนข้างวิโรจน์เต็มใจที่จะยืนข้างพรรคก้าวไกล และถ้ามีใครทำอะไรวิโรจน์หรือทำอะไรพรรคก้าวไกล ประชาชนจะเป็นเกราะกำบัง ซึ่งก็มีทั้งโทรมาด่าและมีการโทรมาคุยกันสองคนบ้าง คล้ายทำให้เราแอบฟัง  

“เปลี่ยนจากคำว่าเป็นห่วงและระวังตัว คำว่าระวังตัวเป็นคำพูดไปเปิดแต่ไม่มีวิธีแก้ เปลี่ยนเป็นคำพูดที่ว่าคุณทำตามหน้าที่ไปเถอะประชาชนจะปกป้องคุณเองและประชาชนทุกคนส่งสัญญาณเตือนไปยังบุคคลที่กระทำผิดกฎหมายอยู่ด้วยว่า ไม่ว่าจะนานแค่ไหนถ้าคุณทำอะไรวิโรจน์ทำอะไรก้าวไกล หรือทำอะไร ส.ส.ที่ทำตามหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตประชาชนจะไม่ปล่อยคุณเอาไว้แน่” วิโรจน์กล่าว 

ส่วนในกรณีที่ ส.ก.ก้าวไกลยื่นหนังสือให้ ผู้ว่าฯ กทม. ในการสั่งย้ายข้าราชการ 4 คน วิโรจน์กล่าวว่า เรื่องนั้นต้องคุยกับทาง ส.ก.และทาง กทม. แต่เข้าใจว่าน่าจะเป็นเรื่องของข้อสงสัย และเป็นเรื่องของความโปร่งใสของโครงการต่างๆ ภายในเขต จากการชี้แจงล่าสุดของ ส.ก.ก็บอกว่าเป็นการทำหนังสือเสนอและความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบและข้อเท็จจริง จึงเสนอทางเลือกในการพิจารณาว่าอาจจะโยกย้ายไปอยู่ในตำแหน่งอื่นไปก่อนหรือเปล่า แต่ในรายละเอียดให้คุยกับทาง ส.ก.เองมากกว่า เพราะตนทราบเรื่องเท่ากับสื่อมวลชน 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า ทางผู้ว่าฯ ทำงานได้ดีแต่ พ.ร.บ. กทม.เป็นฉบับเก่ามากตั้งแต่ 2528 บางเรื่องท่านผู้ว่าฯ ก็อยากจะทำแต่ตามกฎหมายก็มีข้อจำกัด วันนี้เลยมาหารือกันว่าจะทำยังไงในการแก้ไข พ.ร.บ. กทม. ที่จะทำให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจเต็มมากขึ้นในการที่จะดูแลสาธารณูปโภค และแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน รวมถึงประชาชนที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ใน กทม. ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่แค่ผู้ว่าฯ สำหรับคนที่บ้านอยู่ กทม. แต่ยังเป็นผู้ว่าของคนทุกคนที่อาศัยอยู่ในกทม. หรือแวะเวียนมาเที่ยว กทม. 

วิโรจน์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า เบื้องต้นเป็นการดูแลในเรื่องของสาธารณูปโภคและเรื่องของการแก้กฎหมายโดยเฉพาะ พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร ก็เหลื่อมล้ำจากจังหวัดอื่น ทั้งๆ ที่เป็นเมืองใหญ่ อย่างกรณีของภาษีที่ดิน ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติได้สะท้อนมาปรากฏว่าภาษีที่ดิน กทม. เก็บได้เป็นการเก็บจากประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อย ในขณะที่นายทุนใหญ่จ่ายน้อยลง ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่ต้องมาทบทวนกฎหมายภาษีที่ดินให้มีความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์