ผู้เชี่ยวชาญเตือนอิสตันบูลของตุรกีอาจเจอแผ่นดินไหวใหญ่ได้ทุกเมื่อหลังจากนี้

13 กุมภาพันธ์ 2566 - 08:15

After-massive-Turkey-quakes-Istanbul-residents-fear-the-next-one-SPACEBAR-Hero
  • การศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่าอาจเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของตุรกีเร็วๆ นี้

  • ตุรกีมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่แผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นมาบรรจบกัน

สำนักข่าว Al Jazeera รายงานว่า  ชาวเมืองอิสตันบูลของตุรกีเริ่มวิตกกังวลว่าเมืองของตัวเองอาจเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งต่อไป หลังจากตุรกีเพิ่งเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (6 ก.พ.) 

“เราอยู่ในความทุกข์ยาก…ชีวิตของเราอยู่ในความวิตกกังวล” ไอเซกุล ราห์วันซี หญิงซึ่งอาศัยอยู่ในอิสตันบูลมาตลอดชีวิตกล่าวถึงความกลัวของเธอเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในเมือง 

แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 7.8 แมกนิจูดและตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อก 7.6 แมกนิจูดเมื่อวันจันทร์ (6 ก.พ.) ที่ผ่านมา คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 34,000 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป 

ตุรกีมีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวเป็นพิเศษ เนื่องจากประเทศนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่แผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นมาบรรจบกัน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวก็มักเกิดขึ้นตามรอยต่อแผ่นเปลือกโลกระหว่างรอยเลื่อนอนาโตเลียนเหนือซึ่งแบ่งแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียและอานาโตเลียน ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้อิสตันบูล 

ชูครู เอร์ซอย ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาจาก Yildiz Technical University ของอิสตันบูลกล่าวว่า “ด้วยข้อมูลที่เรามีเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในอดีต และการสร้างแบบจำลองบางอย่าง เราสามารถพูดได้ว่าแผ่นดินไหวในอิสตันบูลใกล้เข้ามาแล้ว และเราจะไม่แปลกใจเลยหากเมืองนี้จะถูกโจมตีในวันนี้…เราไม่สามารถทราบได้เลยว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นเมื่อใด” 

เอ็กเร็ม อิมาโมกลู นายกเทศมนตรีเมืองอิสตันบูล ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่นานมานี้ว่า “มีอาคารประมาณ 90,000 หลังที่มีความเสี่ยงสูงต่อแผ่นดินไหวในมหานครที่มีประชากรราว 16 ล้านคน…จากการวิจัยที่จัดทำโดยเทศบาลนครอิสตันบูลระบุว่า อาคารอีก 170,000 หลังอยู่ในสถานะความเสี่ยงปานกลางหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง” 

ขณะที่ชาวเมืองอิสตันบูลเฝ้าดูข่าวที่มาจากทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีด้วยความตกใจ เพราะผู้เชี่ยวชาญกล่าวไว้ว่าแผ่นดินไหวในอิสตันบูลนั้นมีแนวโน้มสูง และพวกเขาต่างก็กังวลว่าอาคารใหม่ที่จะย้ายไปอยู่นั้นมีราคาที่แพงเกินไป 

“ผมไม่สามารถที่จะอยู่ในอาคารใหม่ได้ เนื่องจากค่าเช่าสูงมากในอาคารเหล่านั้น” ชายวัย 41 ปีกล่าวกับ Al Jazeera 

เซย์เนป เออร์ส ซึ่งอาศัยอยู่ในอาคารมานานกว่า 50 ปีในเขตเบโยกลู กล่าวกับ Al Jazeera ว่า "ผมจะพิจารณาย้ายไปที่อาคารใหม่กว่า แต่ปัจจุบันหาอาคารที่มีราคาสมเหตุสมผลได้ยากมาก…ปกติแล้วผมไว้ใจอาคารของผม แต่ผมไม่มั่นใจว่ามันจะรองรับแผ่นดินไหวที่รุนแรงมากได้ และแน่นอนว่าผมมีความกังวลเพราะอายุการใช้งานอาคารของผม”  

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงระเบียบการก่อสร้างหลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ริกเตอร์ที่ภาคตะวันออกของภูมิภาคมาร์มาราของตุรกีซึ่งเป็นที่ตั้งของอิสตันบูลในปี 1999 และคร่าชีวิตผู้คนไปราว 17,500 ราย 

หลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งนั้น ตุรกีได้ปรับปรุงและออกแบบรหัสแผ่นดินไหว นอกจากนี้ในช่วงปลายทศวรรษ 2000 รัฐบาลตุรกียังได้เปิดตัวแผนการเปลี่ยนแปลงเมืองขนาดใหญ่เพื่อแทนที่อาคารที่ไม่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวด้วยอาคารใหม่ที่ปรับปรุงตามแผ่นดินไหว 

ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการ ระบุว่า มีอาคาร 817,000 แห่งในอิสตันบูลที่สร้างขึ้นก่อนปี 2000 ซึ่งคิดเป็น 70.2 เปอร์เซ็นต์ของอาคารทั้งหมดในเมือง 

จากรายงานล่าสุดหลังจากเกิดแรงสั่นสะเทือนทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า อาคารบางหลังที่สร้างขึ้นหลังปี 2000 ถล่มลงมา และบางอาคารที่ได้รับความเสียหายส่วนใหญ่นั้นสร้างขึ้นก่อนปี 2000 

ชูครู เอร์ซอย กล่าวเสริมว่า อาคารส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นหลังแผ่นดินไหวในปี 1999 ทั่วตุรกีนั้นเป็นไปตามกฎระเบียบใหม่และประกอบด้วยวัสดุที่ได้รับการปรับปรุง อย่างไรก็ตาม เพราะมีการคอร์รัปชันและการละเมิดอยู่ในภาคการก่อสร้างในตุรกี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างการตรวจสอบอาคารในอดีต…และเราเห็นสิ่งนี้ในแผ่นดินไหวทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ซึ่งอาคารใหม่และหรูหราบางแห่งก็พังทลายลงเช่นกัน”

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์