PM 2.5 เป็นเหตุ! งานวิจัยชี้ ‘ทารกในท้องแม่-เด็กเล็ก’ ก็เสี่ยงสูง

9 มีนาคม 2566 - 07:31

Fine-PM25-of-pregnant-women-SPACEBAR-Thumbnail
  • ประเทศไทยกำลังประสบกับวิกฤต ‘ฝุ่นจิ๋ว’ หรือ PM 2.5 ที่แผ่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ

  • การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งสหรัฐฯ พบทารกที่แม่ได้เกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน

  • สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกจะพบมากขึ้น หากแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจนจะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบกับวิกฤต ‘ฝุ่นจิ๋ว’ หรือ PM 2.5 ที่แผ่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคในประเทศ เป็นเหตุให้ประชาชนหลายกลุ่มได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป จนถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ กระทั่งล่าสุดแพทย์ของไทยได้ออกมาเตือนถึงประชากรบางกลุ่มที่สำคัญ คือ ‘เด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์’  

การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งสหรัฐฯ นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2014 - 2017 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้น 1,434, 998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน 

จึงได้เปรียบเทียบปริมาณ PM 2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง พบว่าค่าเฉลี่ย PM 2.5 ที่บรรดาแม่กลุ่มนี้ได้รับคือ 56.51 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) โดยทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า 

สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกจะพบมากขึ้น หากแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจนจะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น 

อีกหนึ่งสิ่งที่ตอกย้ำถึงความอันตรายของ PM 2.5 คือ งานวิจัยชิ้นหนึ่งของประเทศจีน ที่ได้ศึกษาการสัมผัสกับ PM 2.5 ของหญิงตั้งครรภ์ในชนบทของจีน และศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัส PM 2.5 โดยงานวิจัยชิ้นนี้ทำการศึกษาจากหญิงตั้งครรภ์จำนวน 606 คน ในซวนเว่ย ซึ่งเป็นเขตที่ขึ้นชื่อเรื่องอัตราการเกิดมะเร็งปอดสูง  

ในการวิจัย นักวิจัยใช้เครื่องตรวจวัดฝุ่นละอองขนาดเล็กแบบพกพาในแต่ละไตรมาสของการตั้งครรภ์ ซึ่งการสัมผัส PM 2.5 ในแต่ละวันของหญิงตั้งครรภ์มีค่าตั้งแต่ 19.68 - 97.08 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่ามัธยฐานอยู่ที่ 26.08 ขณะที่การสัมผัสกับ PM 2.5 ในช่วงฤดูหนาว และฤดูใบไม้ร่วงจะสัมผัส PM 2.5 สูงกว่าฤดูอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ส่งผลต่อการสัมผัส PM 2.5 ของแต่ละบุคคลนั้น เชื่อมโยงกับกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในแต่ละวัน เช่น การประกอบอาหาร การใช้เชื้อเพลิงในบ้าน หรือการสัมผัสกับควันบุหรี่ เป็นต้น  

นอกจากนี้ นักวิจัยสหรัฐฯ ยังเตือนด้วยว่า มลพิษที่มารดาได้รับจากการจราจรอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยาและสุขภาพชุมชน ศึกษาทารก 336,000 คนที่เกิดในรัฐนิวเจอร์ซีย์ระหว่างปี 1999 - 2003 พบว่ามารดาที่มีทารกน้ำหนักแรกเกิดตัวเล็กไปจนถึงตัวเล็กมาก มีแนวโน้มที่จะอายุน้อยกว่ามารดาที่มีการศึกษาน้อย เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน สูบบุหรี่ ยากจน และพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว มากกว่ามารดาที่มีทารกแรกคลอดน้ำหนักปกติ

แต่แม้หลังจากพิจารณาปัจจัยเหล่านี้แล้ว ระดับมลพิษทางอากาศที่สูงขึ้นก็เชื่อมโยงกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ที่จำกัด

มลพิษ 2 ชนิดที่เกิดจากรถยนต์ ได้แก่ อนุภาคเขม่าควันขนาดเล็ก และไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งพบว่ามีผลกระทบ ขณะที่ฝุ่นละอองเกิดจากไอเสียรถยนต์และสามารถเข้าไปอยู่ในปอดได้ อนุภาคขนาดเล็ก เช่น PM 2.5 ซึ่งซึมลึกเข้าไปในปอด เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและทางเดินหายใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์