บริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นไฟเขียวขึ้นค่าจ้างครั้งใหญ่ท่ามกลางวิกฤตเงินเฟ้อพุ่ง

16 มีนาคม 2566 - 07:31

Major-Japanese-firms-agree-to-hefty-wage-hikes-amid-rising-prices-SPACEBAR-Thumbnail
  • ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำต่างออกมาเปิดเผยการตัดสินใจเกี่ยวกับการเจรจาค่าจ้าง โดยหลายรายตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่

  • ทั้งนี้ สหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ๆ ต่างทำตามข้อเรียกร้องเดียวกัน เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างพื้นฐานเดือนละ 7,000 เยน

สำนักข่าว The Japan Times รายงานว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งเตรียมขึ้นค่าแรงอย่างหนักตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและการขาดแคลนแรงงาน โดยการเจรจาค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิประจำปีเข้าสู่ช่วงสูงสุดเมื่อวันพุธ (15 มี.ค.) ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน ผู้กำหนดนโยบาย นักเศรษฐศาสตร์ และพนักงานต่างก็จับตาดูการพูดคุยเรื่องค่าจ้างที่เรียกว่า ชุนโต (shuntō / การเจรจาต่อรองขึ้นค่าแรง) ในปีนี้ระหว่างแรงงานและฝ่ายบริหารอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าในที่สุดแล้วโมเมนตัมของการขึ้นค่าแรงจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่นที่ประสบกับการเติบโตของค่าจ้างตกต่ำมานานหลายทศวรรษหรือไม่? 

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำต่างออกมาเปิดเผยการตัดสินใจเกี่ยวกับการเจรจาค่าจ้าง โดยหลายรายตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่ 

ทั้งนี้ สหภาพแรงงานที่เป็นตัวแทนของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ๆ ต่างทำตามข้อเรียกร้องเดียวกัน เช่น การปรับขึ้นค่าจ้างพื้นฐานเดือนละ 7,000 เยน (ราว 1,800 บาท) มากกว่า 2 เท่าของการปรับขึ้น 3,000 เยน (ราว 800บาท) ที่พวกเขาเคยเรียกร้องเมื่อปีที่แล้ว ท่ามกลางผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่บริษัทด้านอิเล็กทรอนิกส์อย่าง NEC ประกาศว่าจะเพิ่มค่าจ้างพื้นฐานรายเดือนอีก 7,000 เยน ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่าย ที่พนักงานใช้ในโรงอาหารมูลค่า 2,000 เยน (ราว 500 บาท) ด้วย รวมถึงการขึ้นเงินเดือนและโบนัสเป็นประจำ โดยเงินเดือนประจำปีโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 5.5%

ส่วนกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมฮิตาชิ และ โตชิบา ก็ตกลงที่จะขึ้นค่าจ้างพื้นฐาน 7,000 เยนด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นการขึ้นเงินเดือนครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1998 สำหรับฮิตาชิ ขณะเดียวกันที่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีรายใหญ่อื่นๆ อย่าง  พานาโซนิค ฟูจิตสึ และ มิตซูบิชิ อิเล็กทริค ก็ตัดสินใจปรับขึ้นค่าจ้างพื้นฐานเช่นเดียวกัน

ในภาคส่วนอื่นๆ อย่าง นิสสัน ก็กล่าวว่าจะขึ้นค่าจ้างพื้นฐานเฉลี่ยต่อเดือน 12,000 เยน (ราว 3,100 บาท) ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดภายใต้โครงสร้างบุคลากรปัจจุบันนับตั้งแต่ปี 2004 พร้อมกับวางแผนที่จะเสนอโบนัสประจำปีเทียบเท่ากับ 5.5 ของเงินเดือน

นอกจากนี้ มิตซูบิชิเฮฟวีอินดัสทรีส์ ยังตกลงที่จะตอบสนองความต้องการอย่างเต็มที่จากสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งแรกในรอบ 49 ปี ที่จะขึ้นเงินเดือนพื้นฐานเดือนละ 14,000 เยน (ราว 3,600 บาท)

ในขณะที่บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างฮอนด้าก็บรรลุข้อตกลงกับสหภาพแรงงานเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองความต้องการอย่างเต็มที่ในการเจรจารอบที่ 3 ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วที่สุดในการตัดสินใจสำหรับการเจรจาแบบ shuntō นับตั้งแต่ปี 1990 โดยฮอนด้าเตรียมขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยต่อเดือนของพนักงานประมาณ 19,000 เยน (ราว 5,000 บาท) เพิ่มขึ้น 5% รวมถึงเพิ่มค่าจ้างพื้นฐานอีก 12,500 เยน (ราว 3,200 บาท)

ในขณะที่การตอบสนองของบริษัทต่างๆ ต่อการเจรจาค่าจ้างฤดูใบไม้ผลิมักจะถึงจุดสูงสุดในช่วงกลางเดือนมีนาคม สำหรับการเจรจาในปีนี้พบว่าบางบริษัทตัดสินใจอย่างรวดเร็วในการเพิ่มค่าจ้าง

จากผลสำรวจชั่วคราวของหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่นพบว่า 58.2% ของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางในญี่ปุ่นวางแผนที่จะขึ้นค่าจ้างในปีงบประมาณที่เริ่มต้นในเดือนเมษายนนี้

ด้านสมาพันธ์สหภาพแรงงานญี่ปุ่นหรือที่รู้จักในชื่อ ‘Rengo’ ตั้งเป้าหมายการขึ้นค่าจ้างที่ 5% สำหรับการเจรจาในฤดูใบไม้ผลิปีนี้ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 ปี

ตามข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ระหว่างปี 2014-2022 พบว่า อัตราการขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยที่เกิดจากการเจรจาประจำปีอยู่ระหว่าง 2-2.38% สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ราว 300 แห่ง ยกเว้นในปี 2021 ที่ลดลงเหลือ 1.86%

ด้าน นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ เองก็ได้พบปะกับตัวแทนจากทั้งฝ่ายแรงงานและฝ่ายบริหารแล้วเมื่อเย็นวันพุธที่ผ่านมา รวมถึง โทโมโกะ โยชิโนะ ประธาน Rengo และ มาซาคาสุ โทคุระ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ Keidanren ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2015 สำหรับการประชุมดังกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์