ตุรกี ‘ยุติ’ ปฏิบัติการกู้ภัยหลังสูญนับหมื่นชีวิตในเหตุแผ่นดินไหว

20 กุมภาพันธ์ 2566 - 04:21

Rescue-effort-ends-in-all-but-two-areas-SPACEBAR-Thumbnail
  • หัวหน้าหน่วยงานด้านภัยพิบัติกล่าวว่า การค้นหาจะดำเนินต่อไปในคาฮ์รามันมารัส (Kahramanmaras) และฮาไต (Hatay)

  • อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะพบใครสักคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในซากปรักหักพังกำลังเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว

หน่วยงานด้านภัยพิบัติของประเทศระบุว่า ตุรกียุติปฏิบัติการกู้ภัยทั้งหมด ยกเว้นเพียง 2 จังหวัด หลังเริ่มปฏิบัติการมาเป็นระยะเวลาเกือบ 2 สัปดาห์ หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ที่คร่าชีวิตผู้คนนับหมื่น 

หัวหน้าหน่วยงานด้านภัยพิบัติกล่าวว่า การค้นหาจะดำเนินต่อไปในคาฮ์รามันมารัส (Kahramanmaras) และฮาไต (Hatay) อย่างไรก็ตาม ความหวังที่จะพบใครสักคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในซากปรักหักพังกำลังเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว 

ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางไปยังตุรกี และประกาศความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.4 พันล้านบาท  

ศูนย์กลางของแผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ที่เมืองคาฮ์รามันมารัส โดยมีการยืนยันว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 44,000 ราย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีและทางตอนเหนือของซีเรีย 

ยอดผู้เสียชีวิตคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยมีอพาร์ตเมนต์ราว 345,000 หลังในตุรกีถูกทำลาย และผู้คนจำนวนมากยังคงสูญหาย ขณะที่ทั้งตุรกีและซีเรียไม่ได้ระบุว่ามีผู้สูญหายกี่ราย  

“ในหลายจังหวัดของเรา ความพยายามในการค้นหาและกู้ภัยได้เสร็จสิ้นแล้ว” หัวหน้าสำนักงานภัยพิบัติ ยูนุส เซเซอร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวในอังการา (Ankara) 

เซเซอร์กล่าวว่า การค้นหาและกู้ภัยยังคงดำเนินต่อไปในอาคารประมาณ 40 แห่งใน 2 จังหวัด แต่เขาคาดว่าจำนวนนี้จะลดลงในเย็นวันอาทิตย์ (19 ก.พ.)  

เจ้าหน้าที่กู้ภัยดึงผู้รอดชีวิตออกมาจากซากอย่างน้อย 3 ราย เมื่อวันศุกร์ (17 ก.พ.) ซึ่งเป็นระยะเวลานานกว่า 11 วันหลังจากที่ผู้รอดชีวิตติดอยู่ในซากตอนที่เกิดแผ่นดินไหว 

บลิงเคนมาถึงตุรกีเพื่อแสดงการสนับสนุน แม้ว่าจะมีการวางแผนการเดินทางก่อนเกิดแผ่นดินไหวก็ตาม นับเป็นการเดินทางไปตุรกีครั้งแรกนับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์