‘โซเชียลมีเดีย’ เบื้องหลังตัวเร่งธนาคารระส่ำ คนเชื่อข่าวจนแพนิก ‘แห่ถอนเงิน-เทขายหุ้น’

17 มีนาคม 2566 - 08:28

SVB-to-credit-suisse-crisis-driven-by-social-media-bank-run-SPACEBAR-Thumbnail
  • ปรากฏการณ์ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางในอันดับที่ 18 ของธนาคารในสหรัฐฯ ล้ม สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อความเชื่อมั่นในภาคการธนาคารของสหรัฐฯ

ปรากฏการณ์ธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางในอันดับที่ 18 ของธนาคารในสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าสินทรัพย์ราว 212,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล้มสลายเมื่อ 10 มีนาคมที่่่ผ่าน จนส่งผลให้หน่วยงานกำกับและดูแลเงินฝากของธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องโดดเอามาดูแลเงินฝากและสินทรัพย์ของลูกค้าที่ฝากเงินไว้กับ SVB  

แม้จะบอกว่าธนาคาร SVB เป็นสถาบันการเงินที่เน้นปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้าที่เป็นบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่การล้มสลายของ SVB ก็นับว่าสร้างผลกระทบไม่น้อยต่อความเชื่อมั่นในภาคการธนาคารของสหรัฐฯ เห็นได้จากมูดีส์ สถาบันจัดเครดิตเรตติ้งหั่นเครดิตระบบธนาคารสหรัฐฯ สู่ "เชิงลบ" 

แม้จะบอกว่าปัจจัยเหตุที่นำไปสู่การล้มของธนาคาร SVB จะมาจาก 2 ปัจจัยหลัก เรื่องแรกคือ การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง ซึ่งโดยปกติแล้วบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นลูกค้าหลักของ SVB มักจะอ่อนไหวต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคาร เนื่องจากหลายบริษัทมีภาระการดำเนินงานที่สูงอยู่แล้ว มีต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายสูง ทำให้สตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยต้องอาศัยเงินกู้มาหมุนสภาพคล่อง ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการบริหารสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว 

อีกปัจจัยคือ กระแสการถดถอยของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายรายก่อนหน้านี้ อย่างเมตา กูเกิล ทวิตเตอร์ ที่ปลดพนักงานเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ก็ส่งผลสะเทือนต่อบรรดาสตาร์ทอัพสายเทคอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ปรากฏการณ์คนแห่ถอนเงิน หรือ Bank Run ที่ทำให้ธนาคาร SVB ล้มในระยะเวลาเพียง 48 ชั่วโมง นั่นมาจากกระแสข่าวบนโลกโซเชียลมีเดีย ที่มีส่วนทำให้เกิดกระแสตื่นตัวแห่ถอนจาก SVB ในเวลาอันรวดเร็ว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Mbwe0jfKaKesKh2iOQbQ0/7dfc2c8eb79b3fd7ac7a1e1f36eef966/SVB-to-credit-suisse-crisis-driven-by-social-media-bank-run-SPACEBAR-Photo02
Photo: ภาพประกอบนี้แสดงโลโก้ของ Silicon Valley Bank (SVB) (Photo: OLIVIER DOULIERY / AFP)

โซเชียลมีเดียแพนิก 

หุ้นของธนาคารทั่วโลกที่ร่วงลงไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากความหวั่นวิตกว่าการล่มสลายของธนาคาร SVB จะกลายเป็นโดมิโน่ เพราะเพียงหนึ่งวันหลัง SVB ล้ม ธนาคาร Signature ที่เป็นสถาบันการเงินหลักในอุตสาหกรรมคริปโตเคอร์เรนซี่ก็ล้มตาม  

ผ่านมาไม่ถึงสองวันก็เกิดข่าวหุ้นของธนาคารเครดิตสวิส สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ดิ่งลงกว่า 80% หลังมีข่าวว่าธนาคารแห่งชาติซาอุฯ ไม่สามารถเพิ่มทุนให้เครดิตสวิสได้ เพราะจะเกินข้อกำหนดการเข้าถือหุ้นของรัฐบาลสวิส ท่ามกลางวิกฤตของธนาคารที่เผชิญมาตั้งแต่กลางปีก่อน ยิ่งตอกย้ำถึงความกังวลว่าแบงก์อาจล้มเป็นโดมิโน่ กระทั่งธนาคารกลางสวิสกระโดดลงมาอุ้มด้วยการให้สินเชื่อ 50,000 ล้านฟรังก์สวิส เพียงไม่กี่ชั่วโมงราคาหุ้นของเครดิตสวิส จากที่ดิ่งลงกว่า 80% ก็เด้งกลับมาแตะที่ 20% ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงหลังมีข่าวแบงก์ชาติโดดอุ้ม 

แม้ว่าสองเหตุการณ์นี้จะมีปัจจัยหลักที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เร่งสปีดวิกฤตเหล่านี้ จนถึงการตอบสนองที่ตามมา ต่างมีลักษณะพิเศษตรงกันคือ กระแสทางโซเชียลมีเดียอย่างบ้าคลั่งที่กระตุ้นความตื่นตระหนก 

แดเนียล เดวีส์ กรรมการผู้จัดการของ Frontline Analysts กล่าวกับ Financial Times อธิบายปรากฏการณ์ Bank Run ในยุคที่โซเชียลมีเดียทรงอิทธิพลว่า กรณีของธนาคาร SVB เป็นตัวสะท้อนอย่างดีว่า โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์มีส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพคล่องของสถาบันการเงินทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว 

เดวีส์ อธิบายว่า โดยธรรมชาติของระบบธนาคารอยู่บนความเชื่อมั่นของลูกค้าในการที่ธนาคารจะดูแลเงินฝากของพวกเขา และมีรากฐานแข็งแกร่งพอหากพวกเขาต้องการถอนเงินฝากในจำนวนมาก เมื่อมีผู้คนถอนเงินมากขึ้น ธนาคารต้องมีหลักประกันที่มั่นคงพอจะครอบคลุมลูกค้าที่้ต้องการเงิน  

อย่างไรก็ตามมีหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มากมายที่ชี้ว่า ปรากฏการณ์คนแห่ถอนเงินไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ข่าวลือเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของธนาคารอาจก่อตัวขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปีก่อนที่จะนำไปสู่การล่มสลายของธนาคาร 

แอนดรูว เมททริก ศาสตราจารย์ด้านการเงินและการจัดการที่ Yale School of Management กล่าวกับ CNN ว่า ย้อนกลับไปช่วงทศวรรษ 1920 ก่อนที่เราจะมีการสื่อสารทันสมัย ข่าวลือธนาคารล้มผู้คนอาจสังเกตได้จากปรากฏการณ์ที่ฝูงชนยืนเบียดเสียดด้านนอกธนาคารเพื่อถอนเงิน ตรงข้ามกับปัจจุบันที่กรณีของ SVB ไม่ได้มีภาพเหล่านั้น จะสังเกตว่ามีผู้คนเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่แห่ไปถอนเงิน ส่วนมากทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ จากกระแสข่าวลือที่พูดคุยกันในทวิเตอร์ 

หากเทียบกันระหว่างกรณีล่มสลายของ SVB ที่นับเป็นความล้มเหลวของภาคธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ รองจาก Washington Mutual ที่เคยล้มเมื่อปี 2008 นั้น กรณีของ Washington Mutual สั่งสมกระแสข่าวลือนานถึง 8 เดือน ตรงข้ามกับกรณี SVB ที่ข่าวลือแพร่สะพัดเพียง 2 วัน 

จากการเก็บข้อมูลของ Frontline Analysts พบว่า ข้อความบน Twitter และที่แสดงความวิตกเกี่ยวกับ SVB เพิ่มสูงขึ้นช่วง 2 วันก่อนหน้าที่ธนาคารจะล้ม เช่นเดียวกับบทสนทนาที่ถูกแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่องใน WhatsApp ประกอบกับความสะดวกในการเข้าถึงที่ธนาคารออนไลน์ผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือของปัจจุบัน ถูกมองว่าเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ร้ายแรงสำหรับวิกฤตในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่าอิทธิพลในยุคโซเชียลมีเดีย ที่มีผลต่อพฤติกรรมทางจิตวิทยา อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ Bank Run ของธนาคาร SVB
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5uUgTSkYtGsBiXJSxBbEv0/d55ff54514272dd6ff01e276ae1857af/SVB-to-credit-suisse-crisis-driven-by-social-media-bank-run-SPACEBAR-Photo03
Photo: ลูกค้าของ Silicon Valley Bank ต่อแถวรอที่สำนักงานใหญ่ของ SVB ในซานตาคลารา แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2023 (Photo: NOAH BERGER / AFP)
สอดคล้องกับความเห็นของ ไมเคิล ไอเมอร์แมน (Michael Imerman) ศาสตราจารย์จากวิทยาลัย Paul Merage School of Business แห่งมหาวิทยาลัย California-Irvine กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ SVB มันคือปรากฏการณ์ bank sprint ไม่ใช่ bank run ที่มีโซเชียลมีเดียเป็นตัวเร่งกระแสตื่นตระหนก 

สิ่งที่ลูกค้า SVB เพียงไม่กี่รายจะเข้าใจคือ ผลพวงจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เช่นเดียวกับธนาคารทุกแห่ง SVB ได้ลงทุนเงินฝากของลูกค้าในรูปแบบพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีอายุนาน ปัญหาคือพันธบัตรมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ พันธบัตรที่ SVB เป็นเจ้าของก็เริ่มสูญเสียมูลค่าที่มีนัยสำคัญ  

ลูกค้าของ SVB หลายรายโดยเฉพาะที่เป็นบรรดาบริษัทสตาร์ทอัพ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน ในขณะที่พวกเขายังจำเป็นต้องเข้าถึงเงินฝากเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายทางธุรกิจในแต่ละวัน แต่ด้วยมูลค่าการลงทุนที่ลดลง ธนาคารจึงพยายามดิ้นรนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าผ่านการระดมทุนผ่านการขายหุ้นของธนาคาร มีรายงานว่าบริษัทร่วมทุน Founders Fund ได้แจ้งให้บริษัทต่างๆ ในพอร์ตโฟลิโอย้ายเงินออกจาก SVB  

ประกอบกับบรรดาเทคสตาร์ทอัพในซิลิคอนวัลเลย์ ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าของ SVB มักใช้ช่องทางสื่อโซเชียลแพร่กระจายข่าวเหล่านี้สู่การพูดคุยบนโลกอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว นั่นยิ่งทำให้ผู้คนหวั่นวิตก แห่กดเข้าแอปพลิเคชันนำเงินออกจากบัญชี ขณะที่บางส่วนก็แห่ไปที่ธนาคารเพื่อถอนเงินสด  

ข่าวนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้มีลูกค้าถอนเงินรวมเกือบ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ SVB ถือครองในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง จนธนาคารต้องสั่งระงับการถอนเงิน จุดนี้เองที่ทำให้ท้ายที่สุดหน่วยงานกำกับด้านเงินฝากของเฟดต้องกระโดดเข้ามาช่วย 

แพทริก แมคเฮนรี สมาชิกสภาคองเกรส ประธานคณะกรรมการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ กล่าวถึงความวุ่นวายของ SVB ว่าคือ “ปรากฏการณ์ Bank Run แห่งแรกขับเคลื่อนโดยทวิตเตอร์" ข้อความบางข้อความที่ทำให้ลูกค้าธนาคารหลงเชื่อจนเกินข้อเท็จจริง ซึ่งในทางกลับกันหากลูกค้าของ SVB ไม่แห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคารอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ธนาคารคงมีเวลาเพียงพอในการระดมสภาพคล่องเพื่ออยู่รอดต่อไปได้  

ไม่ต่างกับ ลินด์ซีย์ จอห์นสัน ประธานสมาคมธนาคารเพื่อผู้บริโภค (Consumer Bankers Association) กล่าวในถ้อยแถลงว่า “ช่วงหลายวันที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นจากข้อมูลที่ผิดบนโซเชียลมีเดีย เหล่านี้ไม่ได้บ่งชี้ถึงข้อเท็จจริงในอุตสาหกรรมการเงิน” 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4aDf01Y544fEVEkahKVjzh/8e5abe4e50cdd8c0de6ba8d1199693e7/SVB-to-credit-suisse-crisis-driven-by-social-media-bank-run-SPACEBAR-Photo04
Photo: ธนาคาร Credit Suisse ในย่านใจกลางเมืองเจนีวา (Photo: Fabrice COFFRINI / AFP)

โดมิโนทางโซเชียลมีเดีย 

กรณี SVB อาจเป็นธนาคารแห่งแรกที่ดำเนินการในยุคโซเชียลมีเดีย แต่ไม่ใช่ธนาคารแห่งแรกที่ธุรกิจสั่นคลอนจากการคาดเดาของโลกทวิตเตอร์ เพราะหนึ่งวันหลัง SVB ล้มได้เกิดกรณี Signature สถาบันการเงินของคริปโทเคอร์เรนซีล้ม ตามมาด้วยข่าวที่ธนาคารเครดิตสวิสถูกธนาคารแห่งชาติซาอุฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ปฏิเสธเพิ่มทุน เนื่องจากกฎหมายของสวิสที่มีข้อจำกัดในการถือครอง เพราะนักลงทุนซาอุฯ ได้เพิ่มสัดส่วนในเครดิต สวิสเป็นจำนวนถึง  9.8% และหากเพิ่มทุนอีกสัดส่วนนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเกิน 10% ก็จะมีปัญหาด้านกฎระเบียบของทางการสวิส 

ท่ามกลางสภาวะที่ธนาคารเผชิญมาตั้งแต่ปีที่แล้วที่ลูกค้าของเครดิตสวิสถอนเงินไปไม่น้อยกว่า 123 พันล้านฟรังก์สวิส จากเรื่องอื้อฉาวและความผันผวนของหุ้นในก่อนหน้านั้น ทำให้ในไตรมาสที่ 4 นั่นทำให้ธนาคารชะลอการแถลงผลประกอบการประจำปีออกไป เพราะธนาคารมีผลขาดทุนสุทธิประจำปีอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 7.3 พันล้านฟรังก์สวิส มากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตซัพไพร์มปี 2008   

เหล่านี้ยิ่งทำให้นักลงทุนหวั่นวิตกพากันเทขายหุ้นเครดิตสวิสจนดิ่งแดง หากนับจากจุดสูงสุดของหุ้นเครดิตสวิสที่เคยทำไว้ตอนกลางปี 2022 จนถึงช่วงที่หุ้นตก มูลค่าหุ้นของเครดิตสวิส ลดลงไปกว่า 85% แต่ด้วยความสำคัญของธนาคารแห่งนี้ซึ่ง "ใหญ่เกินกว่าจะล้มได้" ทำให้ธนาคารสวิสโดดอุ้ม ราคาหุ้นก็ค่อยๆ กลับขึ้นมา 20.21% จากการซื้อขายวันนี้ (16 มี.ค.)  

อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ข่าวลือทำหุ้นเครดิตสวิสดิ่ง เพราะย้อนไปเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หุ้นของบริษัทร่วงลง 12% หลังจากที่มีนักข่าวรายหนึ่งทวีตข้อความว่า “ธนาคารเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศรายใหญ่” กำลังใกล้ถึงจุดจบ ทวีตดังกล่าวถูกถอดความอย่างผิดๆ  ข่าวลือแพร่กระจายไปทั่วฟอรัมออนไลน์และบัญชีโซเชียลมีเดียเหมือนไฟป่า  

แม้กรณีของทั้ง SVB และเครดิตสวิสจะมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนปรากฏการณ์ดังกล่าว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่เป็นตัวเร่งวิกฤตด้านการเงินให้เข้าสู่เส้นสีแดงเร็วกว่า ระบบสภาพคล่องของธนาคารเองเสียอีก กรณีเหล่านี้ทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งคำถามว่า สื่อสังคมออนไลน์ควรถูกจัดเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงในโลกการเงินยุคใหม่ได้หรือไม่ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์