วิจัยพบประชากรโลกไม่ถึง 1% มีอากาศดีๆ หายใจ ประเทศเอเชียอากาศแย่สุดในโลก

8 มีนาคม 2566 - 06:12

Study-finds-Asian-countries-the-worst-air-quality-in-the-world-SPACEBAR-Thumbnail
  • การศึกษาระบุว่า มีเพียงร้อยละ 0.001 ของประชากรโลกเท่านั้นที่หายใจเอาอากาศปราศจากมลพิษเข้าไป

  • ประมาณร้อยละ 99.82 ของพื้นที่โลกสัมผัสกับ PM 2.5 ในระดับอันตราย ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดความปลอดภัยที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)

จากการศึกษาครั้งใหม่พบว่า ประชากรโลกน้อยกว่าร้อยละ 1 ที่จะหายใจเอาอากาศปราศจากมลพิษเข้าไป และประเทศในเอเชียนั้นเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่รุนแรงที่สุด  

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet Planetary Health ระบุว่า ประมาณร้อยละ 99.82 ของพื้นที่โลกสัมผัสกับฝุ่นละอองขนาด 2.5 (PM 2.5) ในระดับอันตราย ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดความปลอดภัยที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และมีเพียงร้อยละ 0.001 ของประชากรโลกเท่านั้นที่หายใจเอาอากาศที่ไม่มีมลพิษเข้าไป 

การศึกษานี้ดำเนินการโดยนักวิจัยในออสเตรเลียและจีน โดยใช้สถานีตรวจสอบมากกว่า 5,000 แห่งทั่วโลกและการจำลองด้วยข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และปัจจัยทางภูมิศาสตร์เพื่อประเมินความเข้มข้นของ PM 2.5 รายวันทั่วโลก 

ในปี 2019 พบว่า ค่าฝุ่นในระดับโลกมากกว่าร้อยละ 70 ของวันมีความเข้มข้นของ PM 2.5 ต่อวันเกิน 15 ไมโครกรัมของมลพิษที่เป็นก๊าซต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นขีดจำกัดรายวันที่ WHO แนะนำ โดยผลการศึกษาระบุอีกว่าคุณภาพอากาศน่าเป็นห่วงโดยเฉพาะในภูมิภาคต่างๆ เช่น เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ซึ่งมากกว่า 90% ของวันมีความเข้มข้นของ PM 2.5 สูงกว่าเกณฑ์ 15 ไมโครกรัม 

การสัมผัสกับ PM 2.5 ในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันนั้นเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาระโรคและการเสียชีวิตทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าระดับ PM 2.5 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไปและทั่วโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา 

“ผมหวังว่าการศึกษาของเราจะสามารถเปลี่ยนความคิดของนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการสัมผัส PM 2.5 ในแต่ละวันได้ หากเราสามารถทำให้ทุกวันมีอากาศที่สะอาด แน่นอนว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศในระยะยาวจะดีขึ้น” กัวอวี่หมิง หัวหน้านักวิจัยและศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยโมนาชกล่าว 

ทั้งนี้ นักวิจัยยังได้ตรวจสอบว่ามลพิษทางอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วง 2 ทศวรรษจนถึงปี 2019 เช่น พื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชีย แอฟริกาตอนเหนือและตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา โอเชียเนีย ลาตินอเมริกา และแคริบเบียน ประสบกับความเข้มข้นของ PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากไฟป่าที่ทวีความรุนแรงขึ้น 

การศึกษาระบุอีกว่า ความเข้มข้นของ PM 2.5 ประจำปีและวันที่มีค่า PM 2.5 สูงในยุโรปและอเมริกาตอนเหนือลดลงเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น 

นอกจากนี้ยังพบว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงสุดในเอเชียตะวันออกที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือเอเชียใต้ที่ 37 ไมโครกรัม และแอฟริกาเหนือที่ 30 ไมโครกรัม 

ในทางตรงกันข้าม ชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กลับเผชิญกับภัยคุกคามจากฝุ่นละอองขนาดเล็กน้อยที่สุด ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ ในโอเชียเนียและอเมริกาตอนใต้ก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ PM 2.5 ต่ำที่สุดประจำปีเช่นกัน 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์