ครั้งหนึ่ง วินสตัน เชอร์ชิล ก็เคยไปพูดกลางสภาคองเกรสสหรัฐฯ เหมือนเซเลนสกี

22 ธันวาคม 2565 - 09:56

zelensky-follows-in-churchill-footsteps-addressed-US-congress-SPACEBAR-Hero
  • เซเลนสกีเดินทางเยือนสหรัฐฯ ปราศรัยของบสนับสนุนยูเครนสู้สงครามรัสเซีย

  • เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ของอังกฤษ ก็เคยปราศรัยเช่นนี้ที่สภาคองเกรสเช่นกัน

เมื่อค่ำวันพุธที่ 11 ธ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน กล่าวปราศรัยต่อสภาคองเกรสของสหรัฐฯ เพื่อขอความสนับสนุนจากคนอเมริกัน เช่นเดียวกับที่อดีตนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ของอังกฤษเคยทำเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว

การเดินทางยือนสหรัฐฯ ของเซเลนสกีเกิดขึ้นในขณะที่ยูเครนถูกโจมตีอย่างหนัก และความช่วยเหลือจากนานาชาติเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับความสามารถในการต่อสู้ต่อไปของยูเครน คล้ายกับสถานการณ์ของเชอร์ชิลเมื่อเดือนธันวาคม 1941 

“ยูเครนจะยืนหยัดและจะไม่มีวันยอมจำนน” เซเลนสกีเผยกับสมาชิกสภาคองเกรส โดยสะท้อนหนึ่งในวลีที่โด่งดังที่สุดของเชอร์ชิลและได้รับการยืนปรบมือให้เกียรติ

ก่อนหน้านี้เซเลนสกีสวมวิญญาณเชอร์ชิลในการกล่าวปราศรัยกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ โดยรับปากว่าจะ “สู้ในป่า กลางแจ้ง ชายฝั่ง และบนถนน”

ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหนึ่งในบรรดานักการเมืองสหรัฐฯ ที่นำผู้นำยูเครนไปเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โดยบอกว่า เซเลนสกีกำลังนำพาประเทศของเขาด้วย “ความกล้าหาญและแน่วแน่แบบเชอร์ชิล”

“ข้อความของเราตอนนี้ต้องเหมือนเดิมจากทุกภาคส่วนเหมือนที่เคยเป็นคือ เราอยู่ข้างคุณ” ฮิลลารีกล่าว

ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ เผยว่า เขาบอกกับเซเลนสกีวา “ที่ที่เชอร์ชิลเคยยืนเมื่อหลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา คืนนี้เขาเองก็ยืนอยู่ในจุดนั้นเช่นกัน ไม่ใช่ในฐานะประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ในฐานะของทูตของเสรีภาพด้วย”
 

ข้อจำกัดของความสนับสนุนจากสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของเชอร์ชิลและเซเลนสกีมีข้อจำกัด รวมถึงระยะเวลาที่ผู้นำยูเครนพำนักอยู่ด้วย

เชอร์ชิลใช้เวลาอยู่ในวอชิงตัน 3 สัปดาห์ตามคำเชิญของประธานาธิบดี แฟรงกลิน รูสเวลต์ ซึ่งบรรดานักประวัติศาสตร์บอกว่านานพอที่จะทำให้ เอเลนอร์ รูสเวลต์ สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ที่ไม่ได้เอนจอยกับการสูบซิการ์และบทสนทนาที่มีบรั่นดีเป็นตัวขับเคลื่อนในช่วงกลางดึก รู้สึกรำคาญได้

ขณะที่เซเลนสกีอยู่ที่นั่นเพียงสองสามชั่วโมง รวมเวลาในการพบปะที่ห้องทำงานรูปไข่ของประธานาธิบดี การแถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน และการปราศรัยต่อสภาคองเกรสแล้ว

เชอร์ชิลเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยเรือแม้ว่าจะเสียงที่จะถูกเรือดำน้ำโจมตีก็ตาม ขณะที่เซเลนสกีเดินทางด้วยเครื่องบิน

เมื่อเชอร์ชิลเดินทางมาถึงสหรัฐก็ต้องพบว่าสหรัฐฯ ถูกญี่ปุ่นสั่นคลอนด้วยการโจมตีฐานทัพเรือที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ และถูกลากเข้าสู้ความขัดแย้งระดับนานาชาติที่ตัวเองพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด

แม้ว่าไบเดนจะเต็มใจที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับรูสเวลต์สำหรับความพยายามในการปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่ไบเดนย่อมไม่ต้องการถูกลากเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 แน่นอน จากการที่ไบเดนไม่ยอมส่งกองกำลังไปที่ยูเครน หรือแม้แต่อาวุธยุทโธปกรณ์บางอย่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการยกระดับการทำสงคราม
 

เซเลนสกีอาจไม่ได้ตามที่ขอ

อย่างไรก็ดี หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณช่วยเหลือยูเครนไปแล้วกว่า 65,000 ล้านดอลลาร์หสรัฐตลอดการทำสงคราม 10 เดือนที่ผ่านมา การของบเพิ่มจากสภาคองเกรสอาจไม่ง่าย

เซเลนสกีพยายามโน้มน้าวสภาคองเกรสว่า การช่วยเหลือยูเครนของสหรัฐไม่ใช่ “การกุศล” แต่เป็น “การลงทุน” เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับโลก

แต่ต้องไม่ลืมว่า อนาคตของ “การลงทุน” ในยูเครนของสหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในมือของไบเดนเพียงผู้เดียว แต่ยังต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส จากบรรดาสมาชิกสภาที่เป็นคนคุมกระเป๋าเงินของสหรัฐฯ ด้วย 

ตลอดปีที่ผ่านมา สภาคองเกรสอนุมัติงบประมาณสำหรับช่วยเหลือทางการทหารและเศรษฐกิจของยูเครนไปแล้วเกือบ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังจ่ออนุมัติเพิ่มเติมอีกราว 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์นี้

แต่การของบประมาณครั้งใหม่จะกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ 

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รีพับลิกัน 57 เสียงจากสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 435 เสียง และวุฒิสมาชิก 11 เสียงจากทั้งหทด 100 เสียง โหวคไม่เห็นด้วยกับงบช่วยเหลือแบบเดี่ยวๆ และโพลล์ยังชี้ว่า การสนับสนุนของพรรครีพับลิกันสำหรับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องได้ลดลงตั้งแต่นั้นมา

การสำรวจความคิดเห็นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาพบว่า พรรครีพับลิกันสนับสนุนความช่วยเหลือยูเครนลดลงเหลือครึ่งหนึ่งจากเดิมสนุบสนุนถึง 80% ในเดือนมีนาคม 

นอกจากนี้ สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนยังแสดงความกังขาอย่างเปิดเผยระหว่างหาเสียงเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนที่แล้วว่า ทำไมสหรัฐฯ จึงต้องใช้จ่ายเงินมหาศาลไปกับประเทศที่อยู่ห่างไกลกันอย่างยูเครน แทนที่จะนำเงินนั้นมาใช้ในการรักษาความมั่นคงชายแดนและต่อสู้กับอาชญากรรมในประเทศตัวเอง

เช่นเดียวกับ เควิน แม็คคาร์ธี ตัวเก็งประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการ “เขียนเช็คเปล่า” ให้ยูเครน และยังเกิดความสงสัยในกลุ่ม ส.ส. รีพับลิกันบางคน เมื่อ มิตช์ แม็คคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยของวุฒิสภาเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า การใช้ความช่วยเหลือยูเครนคือ “ความสำคัญอันดับหนึ่ง” สำหรับพรรครีพับลิกัน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์