ค่าแรงขั้นต่ำ ยิ่งสูง ยิ่งส่งแนวโน้มอะไรบ้าง?

1 พ.ค. 2567 - 04:21

  • วัน May Day ย้อนดูสถานการณ์แรงงานไทย ต่อค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท

  • ยกผลสำรวจ ม.หอการค้า ที่พบแนวโน้มผู้ประกอบการ หันลงทุนใช้เครื่องจักร อย่างไม่ลังเล แต่เบื้องต้น จ่อปรับราคาสินค้าขึ้น 15%

  • จับตา การหารือของทุกฝ่าย 13 พฤษภาคม 2567 นี้ อีกครั้ง

labor-minimum-wage-400-baht-trends-machines-instead-people-SPACEBAR-Hero.jpg

ยิ่งนานวัน ค่าของแบงก์ร้อย 1 ใบ แทบจะเหลือมูลค่า แค่ข้าวจานเดียวแล้ว!

เพราะสินค้า-บริการ ส่งแนวโน้มขึ้นราคาอีกประมาณ 15% ภายใน 1-3 เดือน ข้างหน้า เหตุจากการเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท ที่กำลังนำร่อง 10 จังหวัด ในธุรกิจโรงแรม และเตรียมทยอยขึ้นค่าแรงในธุรกิจ ทั่วประเทศภายในปี 2567 ของกระทรวงแรงงาน พาหน่วยที่ได้รับผลกระทบตรง จากค่าแรงที่ปรับเพิ่ม เช่นบรรดาผู้ประกอบการ เตรียมปรับราคาสินค้า-บริการขึ้นตาม  หวังได้บรรเทาภาระต้นทุน และสะเทือนทั่วสู่ผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการ ส่งสัญญาณผ่านการสำรวจความคิดเห็นของ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ข้อมูล ‘น่าคิด’

โดยเฉพาะในหัวข้อ ‘การปรับค่าจ้าง 400 บาท ส่งผลอะไรบ้าง?’ ข้อมูลเชิงเศรษฐศาสตร์ ก็ชี้ การปรับอัตราค่าแรงในแต่ละครั้ง มักจะมีผลกระทบต่อทั้ง GDP เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน รวมถึงอัตราการว่างงานทั้งบวกและลบ

ผลเชิงบวก เมื่อผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น จะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้นตามไปด้วย สามารถกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภครายได้น้อยให้ดีขึ้น และยังกระตุ้นการผลิตและการลงทุน นอกจากนี้ผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นอาจช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้า เมื่อต้นทุนต่อหน่วยลดลง จะช่วยให้สินค้าในประเทศแข่งขันได้มากขึ้น

เมื่อค่าแรงสูงขึ้น อาจจูงใจให้นายจ้าง ลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงาน หากผลิตภาพเพิ่มมากกว่าต้นทุนค่าแรง จะช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ เช่น สหราชอาณาจักร (UK) ปี 2542 ผลิตภาพเพิ่ม 11-14% แต่เงินเฟ้อเพิ่มจำกัด

ขณะที่ผลเชิงลบ คือ หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป อาจเกิดการว่างงานและกำลังซื้อลดลง เช่น ฝรั่งเศส ปี 2543 ที่ขึ้นค่าแรงมากเกินไปโดยไม่ได้คำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน และถ้าผลิตภาพไม่เพิ่มตามค่าแรง ความสามารถแข่งขันอาจลดลง กระทบการส่งออกและ GDP

อีกทั้งนายจ้างอาจปลดพนักงาน หากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ ต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้า ทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ และต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า เอกชนสัดส่วน 64.7% จะปรับราคาสินค้าและบริการประมาณ 15% ขึ้นไป

ผู้ประกอบการสัดส่วน 17.2% อาจไม่ปรับราคา แต่ใช้กลยุทธ์ ‘ลดปริมาณ’ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงมากนัก 

เครื่องจักร กำลังทดแทนแรงงานคน ใช่หรือไม่!

สุดท้ายแล้ว ประเด็น ค่าแรงสูง ยังเป็นตัวเร่ง ให้ผู้ประกอบการส่วนที่สามารถใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคน หันมาลงทุนเครื่องจักร อย่างไม่ลังเล โดยผลสำรวจชี้ มีสัดส่วนที่สนใจปรับเปลี่ยนแล้ว 11.5% เพราะกำลังการผลิตของแรงงานไม่สามารถเทียบเท่ากับเครื่องจักรได้ และเครื่องจักรมีความแม่นยำ ถูกต้องกว่าแรงงานคน ขณะที่ในด้านแรงงานฝีมือนั้น ก็รับค่าจ้างสูงได้ อย่างไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนี้ ยังต้องติดตามกันต่อไป เพราะวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นี้ จะมีการหารือกันอีกครั้ง ระหว่าง กระทรวงแรงงาน กับผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการพิจารณา ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ที่จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นรอบด้านต่อไป

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์