เศรษฐา ทวีสิน รัฐมนตรีคลังที่ไร้ผลงาน

30 เม.ย. 2567 - 10:18

  • การนั่งควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กับ รัฐมนตรีคลัง กลายเป็นจุดอ่อน

  • การเปลี่ยนรัฐมนตรีคลัง อาจเป็นตำแหน่งเดียวที่เหมาะสมที่สุด

  • ผลงานไม่มี นโยบายไม่เห็น มอบหมายรัฐมนตรีช่วย ถึงเวลายุติแล้ว

ministry-finance-thailand-economy-SPACEBAR-Hero.jpg

ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เผ็ดร้อนขนาดไหนหลังการปรับคณะรัฐมนตรีของนายกฯเศรษฐา ผ้าขาวม้าหลากสี โดยเฉพาะคำถามว่า ‘ใครคือผู้ตัดสินใจตัวจริง?’

ลามไปจนถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างคาดไม่ถึงจากผู้ที่ผิดหวังอย่าง รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ ‘ปานปรีย์ พหิทธานุกร’ ที่เกิดอาการ ‘ของขึ้น’ ถอดปลั๊กลาออก หลังจากถูกปลดจากตำแหน่งรองนายกฯด้านต่างประเทศ จนต้องปรับ ครม.ใหม่อีกรอบ ดัน ‘ทูตปู’ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ มารับตำแหน่งแทน แต่ก็ยังคงคาดเดาไม่ได้ว่าจะมีแรงกระเพื่อมที่จุดอื่นตามมาอีกหรือไม่?

แต่ต้องยอมรับว่ามีอยู่หนึ่งตำแหน่งที่ นายกฯ เศรษฐา ตัดสินใจปรับได้ถูกต้องคือการปรับ ‘รมว.คลัง เศรษฐา ทวีสิน’ ออกจากตำแหน่ง และดึงมือดีทางด้านเศรษฐกิจอย่าง ‘พิชัย ชุณหวชิร’ มารับตำแหน่งแทน เพราะต้องยอมรับว่า ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา 

หากมีการวัด KPI (Key Performance Index) หรือตัวชี้วัดในเรื่องของผลงานในแบบที่นำมาเปรียบเทียบกับการทำงานในภาคธุรกิจเอกชน เศรษฐา ในฐานะ รมว.คลัง สอบไม่ผ่านอย่างแน่นอน 100%

เริ่มตั้งวิธีการทำงานที่ รมว.คลังเศรษฐา ‘โฟกัส’ กับงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่า จึงเข้าไปทำงานที่กระทรวงการคลัง ริมคลองประปานับครั้งได้ โดยฝากงานส่วนใหญ่ไว้กับ 2 รมช. คือ ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ และ อดีตปลัดคลัง ‘กฤษฎา จีนะวิจารณะ’ แต่ก็อย่างที่เห็นผลงานที่ปรากฎออกมาในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต้องยอมรับว่าล้มเหลวในหลาย ๆ เรื่อง 

ทั้งที่ ๆ ก่อนการเข้ามารับตำแหน่งในเดือนกันยายนปีทีแล้ว นายกฯเศรษฐาดูจะให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจ และเคยระบุว่าเศรษฐกิจไทยกำลัง ‘โคมา’ จำเป็นต้อง ‘ปั้มหัวใจ’ ไม่ใช่ปล่อยให้ต้องนอน ‘หยอดน้ำเกลือ’ เหมือนที่ผ่านมา และชูธงนโยบาย ‘แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท’ ว่าจะเป็นยาชุบชีวิต โดยเชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิด ‘พายุหมุน’ ทางเศรษฐกิจ ที่จะทำให้ GDP ของไทยเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 4% !!!

จากวันนั้นถึงวันนี้ โครงการแจกเงินหมื่นให้คนไทย 50 ล้านคน ที่ต้องใช้เม็ดเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ยังคงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ถึงแม้จะเปลี่ยนปกและเนื้อใน ยอมยกเลิกแนวคิดในการออกพ.ร.บ.กู้เงิน หันมาพลิกแพลงใช้เม็ดเงินในรูปแบบ ‘ไฮบริด’ นำเงินมาจาก งบประมาณปี 2567-2568 และเงินจาก ธ.ก.ส.โดยวาดหวังว่าน่าจะทำคลอดได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่เพราะทุ่ม ‘แทงม้า’ ตัวเดียว เมื่อทุกอย่างผิดแผน จึงทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะสูญญากาศมากว่า 7 เดือน 

ยิ่งไปกว่านั้น การเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณก็เป็นไปอย่างล่าช้า โดย พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 เพิ่งจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯลงมาเมื่อวันที่26 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่เหลืออีกเพียง 5 เดือน จะสิ้นสุดปีงบประมาณ

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในฐานะรมว.คลัง เขา ‘ไม่สามารถสอดประสานในเชิงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง’ กลับมีความพยายามกดดันให้ ‘แบงก์ชาติ’ ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง จนเกิดความขัดแย้งบานปลายกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนและต่างชาติ แทนที่จะเร่งผลักดันมาตรการด้านการคลังมาช่วยพยุงเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงเรื่อย ๆ   โดยเพิ่งมีมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฯ ออกมาเมื่อต้นเดือนเมษายน

เพราะเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจที่ แม้แต่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง อย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยังต้องมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 2.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2.8% โดยมีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังต้องรับบท ‘เดอะแบก’ ช่วยประคองเศรษฐกิจไทย แต่ก็อาจจะอ่อนแรงลงในช่วงกลางปีนี้ตามวัฎจักรของการท่องเที่ยว ที่คงจะไปคึกคักอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้าย 

ในขณะที่ภาคการส่งออก จากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ ปรากฏว่าการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลดลงเหลือ 2.49หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐฯ ลดลงถึง 10.9% กลับมาติดลบครั้งแรกในรอบ 8 เดือน โดย ไตรมาสแรกการส่งออกมีการขยายตัวลดลง 0.2% โดยส่งออกคิดเป็นมูลค่า 7.09 หมื่นล้านเหรียญ สหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงถึง 12.3%

การเข้ามาของพิชัย จึงน่าจะทำให้กระทรวงการคลังมีเจ้ากระทรวงแบบ ‘ฟูลไทม์’ ที่จะเข้ามาตั้งใจแก้ไขปัญหา ซึ่งมีโจทย์ยาก ๆ ในเวลานี้หลายเรื่อง โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการการคลังเพื่อเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ระหว่างที่ยังต้องรอโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 

ปัญหาเฉพาะหน้าที่ รมว.พิชัย ต้องเร่งตัดสินใจคือการดึงงบปี 2567 จำนวนถึง 1.75 แสนล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เพราะต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะหมายความว่าเม็ดเงินที่ควรจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเหือดหายไปถึง 1.75 แสนล้านบาท ที่อาจทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถขยายตัวเร่งขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ2567

สำคัญที่สุดคือ การผลักดัน ‘เรือธง’ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของพรรคเพื่อไทย ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่ง รมว.พิชัย อาจจะต้องเผชิญบททดสอบที่ท้าทายที่สุดในชีวิตก็เป็นได้...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์