สว.ยุคซอฟต์พาวเวอร์ เลือก(ตั้ง)ระบบปิด?!

2 พ.ค. 2567 - 07:43

  • เริ่มมีรายละเอียดมากขึ้นกับเงื่อนไขการเลือก สว.2567

  • หลาย ๆ ฝ่ายเห็นหลักเกณฑ์ต่าง ๆ แล้ววางแผนหาเสียงไม่ถูก

  • กกต.ยกเหตุผลมาหักล้างว่า เลือก สว. ไม่ใช่เลือก สส. อย่านำมารวมกัน

Senator in the soft power era-SPACEBAR-Hero.jpg

นับถอยหลังเลือกสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ฉบับพิสดารครั้งแรกของไทย กำลังจะเปิดฉากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ในท่ามกลางความสับสนวุ่นวายเรื่องกฎ กติกา ระเบียบต่างๆ ที่ยังวิวาทะกันอยู่ในหมู่ผู้คุมกฎ ว่าที่ผู้สมัคร ไปจนถึงเหล่ากองเชียร์ ที่ติดใจระเบียบหยุมหยิม ไม่เปิดกว้าง และการเลือกในระบบปิด?!

คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) วางระเบียบข้อห้ามไว้มากมาย ในขณะที่เปิดโอกาสให้ผู้สมัครได้แนะนำตัวอย่างจำกัดจำเขี่ย เช่น เอกสารแนะนำตัวขนาดไม่เกินกระดาษ A4 ให้ระบุข้อมูลส่วนตัว มีรูปถ่ายผู้สมัคร ประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานและประสบการณ์ไม่เกิน 2 หน้า มีพื้นที่กรอกข้อความเพียง 5 บรรทัดเท่านั้น

ส่วนการนำเอกสารไปเผยแพร่ ก็จำกัดพื้นที่ไว้อีกเหมือนกัน โดยห้ามโพสต์ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่วาง โปรย หรือติดประกาศตามที่สาธารณะ ยกเว้นส่งให้ผู้สมัครคนอื่นเป็นการเฉพาะ รวมทั้ง ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ เคเบิ้ล หรือสิงพิมพ์ แม้แต่การให้สัมภาษณ์สื่อ นักข่าว หรือสื่อโฆษณา ก็ไม่ให้เฉียดเรื่องการแนะนำตัว

ดูแล้วแทบจะ ‘กระดิก’ ตัวลำบากกว่าการเลือกตั้งสว.ครั้งแรกในปี2543 เสียอีก ครั้งนั้น ผู้สมัครยังได้ลงพื้นที่แนะนำตัวตามตลาด ตรอกซอกซอยต่างๆ แม้เปิดกว้างขนาดนั้น ก็ยังมีคนบ่นว่าสมัครเสร็จต้องให้ลูกเมียมัดตัวเองติดกับเสาที่บ้านไว้ เพราะกลัวจะ ‘ถูกร้องเรียน’ แนะนำตัวเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

แต่หนนี้ ‘แสวง บุญมี’ เลขาธิการ กกต.ยอมรับว่า รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ไม่ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการเลือก แต่เปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างอื่นได้ ตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกา ไปจนถึงวันลงคะแนน สามารถเข้าไปสังเกตการณ์ได้อย่างใกล้ชิด

พร้อมย้ำว่า สว.เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ ที่มาเลือกกันเองส่วน สส.หรือสภาผู้แทนราษฎร เป็นสภาของสมาชิกพรรคการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัคร สว.ทำได้แค่แนะนำตัวเท่านั้น

‘เพราะเชื่อว่าผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเองที่สมัครทุกคน มีความดี เด่น ดัง ในสาขาอาชีพของตัวเองเป็นที่ประจักษ์และทราบกันดีในวงการนั้นดีอยู่แล้ว..การแนะนำตัวคือ การบอกว่าตัวเองเป็นใคร มีประสบการณ์ในกลุ่มสาขาอาชีพนั้นอย่างไร เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้วยกันเอง มีข้อมูลในการเลือกกันเองแล้ว ไม่ว่าจะเลือกในกลุ่มหรือเลือกไขว้ก็ตาม’

เลขาธิการ กกต.ว่าอย่างนั้น และด้วยเหตุนี้จึงไม่อยากให้ประชาชนเกิดความสับสน เมื่อพูดถึงที่มาของ สว.

‘ต้องรู้ให้จริงว่ามาจากการเลือก การแนะนำตัว อย่าไปสับสนกับที่มา สส.ที่มาจากการเลือกตั้ง การหาเสียง นั่นแสดงว่าไม่รู้จริง หรือแกล้งไม่รู้ทำให้ประชาชนสับสน’

แต่ประเด็นที่เลขาธิการ กกต.พยายามสื่อสารออกมานั้น ยังมีคำถามตามมาไม่สิ้นสุด เมื่อกลุ่มบุคคลต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวในนามของการรณรงค์ เชิญชวนให้ออกมาสมัครกันเยอะ ๆ เพื่อให้ได้ สว.ที่มาจากประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม ‘ไอลอว์’ และ ‘คณะก้าวหน้า’ ออกมาโต้แย้งระเบียบและประกาศ กกต.ว่าใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ขณะที่บางรายไปยื่นร้องศาลปกครอง ขอให้สั่งเพิกถอนระเบียบกกต.ที่ออกโดยไม่ชอบ พร้อมขอไต่สวนฉุกเฉินให้มีการคุ้มครองชั่วคราวด้วย ทั้งยังมีผู้ไปยื่นร้อง ‘ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกสว.ในลักษณะนี้จะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่   

ล่าสุด กกต.ย้ำว่า ระเบียบที่ออกมานั้น จะมีผลใช้บังคับหลังพระราชกฤษฎีกาเลือก สว.มีผลบังคับใช้แล้ว เท่ากับส่งสัญญาณไปยังกลุ่มที่เคลื่อนไหวหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมายอยู่เวลานี้ ให้หยุดการกระทำหลังมีพระราชกฤษฎีกาออกมา

แต่ไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า เพราะเหล่าผู้ที่เคลื่อนไหวปักใจว่า กกต.ลุแก่อำนาจ ออกประกาศเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำกัดสิทธิการแนะนำตัวผู้สมัคร ที่ควรมีสิทธิเสรีภาพในการแนะนำตัวให้เป็นที่รู้จักของประชาชนโดยทั่วไป เพราะ สว.ตามรัฐธรรมนูญถือเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย 

คงต้องรอศาลปกครองจะเห็นเป็นอย่างไร รวมทั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กกต.และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำชี้แจง ก่อนมีมติส่งหรือไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

ไหน ๆ ก็มาถึงตรงนี้แล้ว ในเมื่อประเทศไทยมีการเลือก สว.แบบพิสดารในยุคที่กำลังโหมเรื่องซอฟต์พาวเวอร์พอดี บรรจุให้เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ในมิติเชิงวัฒนธรรมการเมืองไปด้วยเลยดีไหม?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์