เหมืองแร่ทองคำ ‘อัครา’ นับถอยหลังวันเปิดเหมือง

20 กุมภาพันธ์ 2566 - 03:32

Akara-Gold-mine-counts-down-opening-community-economy-SPACEBAR-Hero
  • อัครานับถอยหลังวันเปิดเหมือง ย้ำชุมชนตอบรับล้นหลาม หวังช่วยชุมชนและเศรษฐกิจกลับมาคึกคัก

  • แจงแผนดำเนินงานระยะแรก ใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว กำลังการผลิต 2.7 ล้านตันต่อปี

เชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายความยั่งยืนขององค์กร บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบกิจการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทองและเงิน-ผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทองและเงิน เผยถึงกระแสข่าวถึงการเตรียมกลับมาเปิดดำเนินการของเหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท อัคราฯ โดยแจ้งความคืบหน้าล่าสุดว่า ขณะนี้ บริษัทฯ ได้ยกเครื่องซ่อมแซมเครื่องจักรและโรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใช้งบประมาณกว่า 600 ล้านบาท และพร้อมกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง  

ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสือแจ้งหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลทราบ เพื่อเข้ามาตรวจสอบว่าบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดครบถ้วนแล้ว และเมื่อบริษัทฯ ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงจะสามารถเริ่มดำเนินการทำเหมืองได้ 

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า บริษัทฯ ปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมาย และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ศาลปกครองสูงสุด (พิษณุโลก) ก็ได้มีคำพิพากษา ให้ยกฟ้องคดีที่ผู้ประท้วงได้ฟ้องร้องต่อศาลโดยกล่าวหาว่าการออกประทานบัตร 5 แปลงในเขตจังหวัดพิจิตรนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยประการต่าง ๆ  

โดยศาลได้ชี้ว่า บริษัทฯ ได้รับความเห็นชอบหรือได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนและโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงประเด็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ EHIA) ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงขอยืนยันอีกครั้งว่า การดำเนินงานของบริษัทฯ มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทราบดีและให้การสนับสนุนบริษัทฯ ด้วยดีเสมอมา 

“พี่น้องในชุมชนที่ต้องจากบ้านเกิดไปหางานทำที่อื่น ก็ได้ทยอยเดินทางกลับมาในพื้นที่ ส่วนหนึ่งก็จะกลับมาเป็นพนักงานของเหมือง” เชิดศักดิ์ กล่าว โดยอ้างอิงผลภายหลังบริษัทฯ ได้ประกาศเรื่องการรับสมัครพนักงานจำนวนกว่า 160 อัตรา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ปรากฏว่าได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้สนใจส่งใบสมัครมากว่า 1,700 คน ซึ่งเกินกว่าอัตราที่เราจะรับไว้มาก  

สำหรับแผนดำเนินงานระยะแรกนั้น จะใช้โรงประกอบโลหกรรมที่ 2 เพียงโรงเดียว ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.7 ล้านตันต่อปี และภายหลังที่บริษัทฯ กลับมาดำเนินการไปแล้วสักระยะหนึ่ง จึงจะเริ่มซ่อมโรงประกอบโลหกรรมที่ 1 ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 2.3 ล้านตันต่อปี จากนั้นจึงจะรับพนักงานเพิ่มอีก เพื่อรองรับปริมาณงานที่มากขึ้นต่อไป  

สำหรับการคัดเลือกพนักงานนั้น บริษัทฯ พิจารณาผู้ที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่เป็นอันดับแรก ในขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็เตรียมหาลู่ทางทำธุรกิจที่จะมารองรับเศรษฐกิจที่จะคึกคักขึ้นหลังจากที่เหมืองกลับมาเปิดอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่ง ที่เรามีส่วนช่วยให้สถาบันครอบครัวมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และผลกระทบเชิงบวกทางด้านสังคมเช่นนี้มีคุณค่ามหาศาลและไม่สามารถประเมินค่าได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/46iNqXEy7P0RbpSvx0trFK/9e9b0cf892604edcf49ac88a711793c7/Akara-Gold-mine-counts-down-opening-community-economy-SPACEBAR-Photo01
แม้บริษัทฯ ยังไม่ได้เปิดดำเนินการ แต่การจับจ่ายใช้สอยของพนักงานและผู้รับเหมาของบริษัทฯ ที่มาซ่อมแซมโรงงานและเครื่องจักรในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนอย่างชัดเจน  

โดย ปริยาณัฐ สีดวงแก้ว เจ้าของร้านสะดวกซื้อในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เล่าว่า ได้เริ่มกิจการในช่วงที่เหมืองเริ่มซ่อมแซมโรงงาน ซึ่งตอนนั้นยอดขายของร้านเดือนละไม่ถึงหมื่นบาท แต่ตอนนี้สามารถเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักหมื่นได้ โดยทุกเช้าจะมีผู้รับเหมาและพนักงานของเหมืองวนเวียนมาซื้อของกินเล็กน้อยก่อนไปทำงาน และหลังเลิกงานร้านก็จะคึกคักเป็นพิเศษ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/dYOOU6Ooi3FdknJOXkWsM/4b10069c9cccda6c5b7a58a3d7339d13/Akara-Gold-mine-counts-down-opening-community-economy-SPACEBAR-Photo02
เช่นเดียวกับร้านอาหารตามสั่งและก๋วยเตี๋ยวของนายวัชระ เรียงผา ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เป็นร้านที่ชาวบ้านและพนักงานเหมืองแวะเวียนไปทานอาหารกลางวันเป็นประจำ ได้เล่าให้ฟังว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากจำนวนลูกค้าที่มากขึ้นในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/74Yfucs7fcshyJRlCWSR9d/21c0b4aca112f26177ec02c5d44be113/Akara-Gold-mine-counts-down-opening-community-economy-SPACEBAR-Photo03
กรณีที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาต่อต้านการเปิดเหมืองนั้น บริษัทฯ เชื่อว่าสาเหตุหลักเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีผู้ร้องเรียนหรืออ้างว่าได้รับผลกระทบด้านต่าง ๆ บริษัทฯ ไม่เคยนิ่งนอนใจ จัดให้มีการตรวจสอบทันที และให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ และในปัจจุบันที่บริษัทฯ เตรียมกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งนั้น บริษัทฯ มีการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนรวมทั้งผู้ประท้วง โดยรับฟังข้อห่วงกังวลที่มี ตอบคำถามและชี้แจงให้เห็นถึงมาตรการด้านความปลอดภัยในการดำเนินงาน ซึ่งผู้ประท้วงมีความเข้าใจมากขึ้นและคลายความกังวลลง  

สำหรับความคืบหน้าของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เชิดศักดิ์ ย้ำว่า การเจรจาไม่ได้มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ แต่เป็นการเจรจาตามสิทธิที่บริษัทฯ และประเทศไทยควรได้ตามกฎหมาย โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง  

บริษัทฯ มั่นใจว่าเหมืองแร่ทองคำชาตรีจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจออกไปอีกหลายชั้นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งจากข้อมูลสถิติในอดีตพบว่า บริษัทฯ ได้ป้อนเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยไปแล้วกว่า 39,000 ล้านบาท ผ่านการสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศ การชำระค่าภาคหลวงและภาษี และการจ้างงาน โดยธุรกิจของบริษัทฯ ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์