ชวนรู้จัก ‘บัญชีม้า’ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลามเศรษฐกิจ-สังคม

17 ม.ค. 2566 - 09:47

  • ‘บัญชีม้า’ ปัญหาสำคัญ หลอกคนไทยเสียหายรายวัน จากกลโกงหลากรูปแบบ

  • รัฐเร่งกวาดล้างจับกุม หลังกระทบทั้งประชาชนและประเทศชาติ จากขบวนการฟอกเงินสีเทา

BOT-DES-Criminal-illegal-money-account-transfer-call-center-SPACEBAR-Hero
คนไทย สู้ สู้ ... เชียร์คนไทย ต่อสู้ภัยไซเบอร์และอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพราะในขณะที่ประเทศไทย เคลื่อนเข้ายุค Digital Transformation การรู้และไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี เป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะ ‘เทคโนโลยีทางการเงิน’ ที่เข้ามาอำนวยความสะดวก-รวดเร็ว ขณะที่ปัจจัยสำคัญอีกด้าน อาจมาจากความยากจน หรือความอยากได้ ‘ลาภที่ไม่ควรได้’ จึงหลงใหลคล้อยตามสิ่งที่คนร้าย ‘อ้างจะมอบให้’ แต่หารู้ไม่ กว่าจะถึงจุดหมายของการได้ลาภ-ของรางวัลตามคำอ้าง ยังมีหลายขั้นตอนระหว่างทางนำสู่กระบวนการ ‘หลอกโอนเงิน’ เปลี่ยนสถานะจากผู้โชคดี กลายเป็นผู้เสียหายได้ในบัดดล!  

ถึงเวลานั้น แม้ผู้เสียหายจะรู้แล้วว่าตัวเองถูกหลอก แต่ขั้นตอนการตามเพื่อเอาเงินคืนกลับ หรือแค่ระงับบัญชีที่โอนเข้าก็สุดแสนจะยาก เพราะแบงก์ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ผู้เสียหายต้องมีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัด เพื่อให้แบงก์เชื่อได้ว่า เป็นบัญชีที่ใช้หลอกโอนเงิน หรือ ‘บัญชีม้าจริง’  

ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลายาวนาน จากการต้องเป็นคดีเพื่อให้ศาลสั่ง แต่เส้นทางการเงินของเงินผู้เสียหายเดินทางจากบัญชีหนึ่งสู่บัญชีหนึ่ง เป็นรายวินาที โอนเป็นทอดๆ จบในเวลาไม่กี่นาที และเส้นทางการเงินนั้นก็ตามยาก เพราะมิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบเงินอาจถึงขั้นเป็นเงินดิจิทัลข้ามประเทศ นี่จึงเป็นช่องว่าง หรือ หลุมดำสำคัญ ที่ยังทำให้คนทำธุรกิจสีเทานี้ ทำงานบนความเดือดร้อนของผู้อื่นได้ต่อเนื่อง 

รากเหง้า บัญชีม้า 

กล่าวได้ว่า บัญชีม้าเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว พร้อมๆ กับ การมีตู้เอทีเอ็มในประเทศไทย เพราะในการหลอกซื้อขายบัญชีนั้น ขบวนการมิจฉาชีพจะมาจ้างเปิดบัญชี แล้วให้ผู้รับจ้าง นำ ATM กลับไปให้มิจฉาชีพ ที่อาจใช้ในการโอนเงินผิดกฎหมายเข้ามา ดังนั้น เงินในการโอนเข้าบัญชีม้า จึงเป็นได้ทั้ง ประชาชนถูกหลอก และการฟอกเงินผิดกฎหมาย เลยทีเดียว 

ชี้ให้ชัด ‘บัญชีม้า’ คืออะไร? 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ให้ข้อมูล ‘บัญชีม้า’ ว่าคือ บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ซึ่งถูกคนร้ายนำมาใช้เป็นช่องทางในการรับเงิน และถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัวได้  

คนร้ายสามารถทำได้หลายวิธี เพื่อให้ได้มาซึ่งบัญชีม้า ทั้งจากการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อนำไปใช้เปิดบัญชีในชื่อของคนนั้น ๆ หรือจ้างให้บุคคลอื่นเปิดบัญชี หรือรับซื้อบัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปใช้กระทำความผิด พบได้อย่างแพร่หลายในสังคมออนไลน์ที่มีการขายบัญชีเงินฝากธนาคารอย่างเปิดเผย ตั้งแต่ราคา 800 บาท จนถึง 20,000 บาท  

โดยบัญชีม้าเหล่านี้จะถูกรวบรวมเป็นแพ็กเกจ พร้อมกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และซิมการ์ดโทรศัพท์ ที่เจ้าของบัญชีเปิดใช้งานด้วย เพื่อให้คนร้ายที่ซื้อบัญชีม้าไปแล้ว สามารถนำข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของบัญชี ไปผูกกับ mobile banking เพื่อใช้ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ทันที 

บัญชีม้าถูกใช้กระทำความผิด อะไรบ้าง? 

บัญชีม้าถูกนำมาใช้ในการกระทำความผิดต่าง ๆ มากมาย  จำแนกตามกลุ่มความผิด ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ฉ้อโกง ยาเสพติด และความผิดอื่น ๆ เช่น กลุ่มนอมินีของมิจฉาชีพ ในอดีตพบว่า กลุ่มที่มีการนำบัญชีม้าไปใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติด กลุ่มวงการพนัน รวมทั้งกลุ่มนอมินีที่ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงิน แทนผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง ซึ่งอยู่เบื้องหลัง  

ปัจจุบันพบว่า บัญชีม้าถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับการหลอกลวงฉ้อโกง เช่น ใช้เป็นบัญชีรับเงินค่าประกันการกู้ยืมเงินที่มิจฉาชีพหลอกว่า ผู้กู้จะได้รับเงินที่กู้เมื่อจ่ายเงินประกันการกู้ยืมเงินมาก่อน ซึ่งพบมากในการหลอกลวงให้กู้ยืมเงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ต่าง ๆ และผ่านช่องทางแอปพลิเคชันไลน์  

รวมทั้งการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ที่โทรศัพท์มาหลอกลวงโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ และทำการโอนเงินไปยังบัญชีม้าของคนร้าย ซึ่งการหลอกลวงผ่านแก๊งคอลเซนเตอร์ที่พบส่วนใหญ่ มีฐานในการกระทำความผิดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้ยากในการติดตามจับคนร้ายมาดำเนินคดี 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4MkbZr14qRdEStPTiJEOSf/84dd1d246542ed19ba9793ef328734df/INFO_________

บัญชีม้า ผลกระทบคนไทย  

แน่นอนว่า ตัวเลขระยะเวลากว่า 50 ปี ที่มีการซื้อขายบัญชีม้า ชี้ได้ว่า ผลกระทบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย มีมาต่อเนื่องยาวนานแล้ว แม้รัฐจะเร่งปราบปราม ผสานกำลังจากทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ แบงก์ชาติ สมาคมธนาคารไทย (และธนาคารสมาชิก) กระทรวงดีอีเอส สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ก็ยังไม่ทันความเสียหาย และนับวัน คดีในศาล ก็ยิ่งเพิ่มขึ้น  

โดยปัจจุบันกล่าวได้ว่า บัญชีม้า สร้างผลกระทบคนไทย 2 ทาง ทั้งฟากฝั่งผู้รับจ้างเปิดบัญชี ที่เมื่อทางการตรวจสอบพบตัวตนคนเปิดบัญชีก็จะกลายเป็นผู้ต้องหา ฐานมีส่วนสนับสนุนการกระทำผิด อันเป็นคดีอาญา รับโทษ 2 ใน 3 ของตัวการผู้กระทำความผิด  

ส่วนถ้าพบเป็นบัญชีฟอกเงิน จะต้องถูกดำเนินคดีความผิดฐานฟอกเงิน หรือร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 10,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  

โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เผยข้อมูลตัวเลขการปราบปราม ดังนี้ 
จำนวนบัญชีที่ขออายัด ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2565 มีทั้งสิ้น 58,463 บัญชี  
  • ขออายัด 5,557.5 ล้านบาท 
  • อายัดได้ 400.8 ล้านบาท 
ขณะที่ในโลกออนไลน์นั้น ในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 มีการปิดกลุ่ม facebook ซื้อขายบัญชีม้า ไปแล้ว 8 กลุ่ม  

รัฐมนตรีว่าการ ดีอีเอส ‘ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ ชี้ทางแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วย ร่วมแก้อย่างใกล้ชิด พร้อมมีความคืบหน้าในการปราบปรามเป็นระยะ ดังนี้  

1. ปัญหาซิมผี  

กสทช. สั่งการผู้ให้บริการโทรคมนาคมแจ้งเจ้าของซิมโทรศัพท์มายืนยันตัวตนให้ถูกต้อง และให้ดำเนินงานตามแผน ดังนี้  
  • กรณีผู้มี 100 ซิมขึ้นไป ประมาณ 8,000 ราย ยืนยันตัวตนภายใน มกราคม 2566 
  • กรณีผู้มี 30 ซิมขึ้นไป ประมาณ 22,000 ราย ยืนยันตัวตนภายใน มีนาคม 2566 
  • กรณีผู้มี 5 ซิม ขึ้นไป ประมาณ 380,000 ราย ยืนยันตัวตนภายใน มิถุนายน 2566 

2. ปัญหา ‘ลักลอบใช้อินเทอร์เน็ตข้ามประเทศผิดกฎหมาย’  

กสทช. ได้กำชับผู้ให้บริการโทรคมนาคมเข้าตรวจสอบการใช้บริการอินเทอร์เน็ตข้ามประเทศ ไม่ให้มีการนำไปใช้อย่างผิดกฎหมาย และ กสทช. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบและดำเนินการหาจุดที่มีการกระทำความผิดตลอดจนหาตัวผู้กระทำความผิด 

3. ปัญหาบัญชีม้า และบัญชีต้องสงสัยนำไปใช้กระทำผิดกฎหมาย  

สำนักงาน ปปง. ได้จัดทำประกาศ หลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดหรือทบทวนรายชื่อบุคคลที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดตามกฎกระทรวงการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศฉบับนี้ ได้ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 12 มกราคม 2566 

“รอบปีที่ผ่านมา มีกว่า 5,000 คดี ตัวเลขความเสียหายอยู่ที่หลัก ‘หลายพันล้านบาท’ โดยนอกจากหลอกลวงแล้ว ยังมีการซื้อขายของออนไลน์ หลอกลงทุน การโทรมาหลอก เป็นต้น ส่วนปลายทางของเงิน มีการโอนไปต่างประเทศ แล้วเปลี่ยนเป็นคริปโต บิตคอยน์ ซึ่งสิ่งนี้ก็ทำให้ตามยาก จึงควรป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้ถูกหลอกตั้งแต่ต้น” ชัยวุฒิ กล่าว 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4I32AHWZ0RHNtJdQnvnzUP/c4066b7deceec9f3f7916b78133b6f54/BOT-DES-Criminal-illegal-money-account-transfer-call-center-SPACEBAR-Photo01
Photo: ธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวโน้มปัญหาบัญชีม้าในอนาคต 

ต้องยอมรับว่า มิจฉาชีพสร้างกลโกงได้รวดเร็วมาก ดังนั้น รูปแบบการหลอกลวงในอนาคต ยังจะเกิดขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี ที่ก้าวล้ำ โดยกลุ่มมิจฉาชีพก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปใช้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ของผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ในระบบชำระเงินต่างๆ ซึ่งมีผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank) มากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้บริการบางรายอาจจะยังขาดความเข้มงวดในการตรวจสอบความถูกต้อง เช่น ตัวตนลูกค้า เป็นต้น  

ดังนั้น เกราะป้องกันภัยที่สำคัญไม่ใช่ภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ตัวเราเอง ก็ควรต้องศึกษาการใช้เทคโนโลยี เพื่อให้เทคโนโลยีตอบโจทย์ความสะดวก เมื่อรู้แล้ว กลโกงมิจฉาชีพ ก็ทำอะไรเราไม่ได้!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์