กนง. ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 1.50% เพราะอะไร อ่านเหตุผลชัดๆ

26 ม.ค. 2566 - 03:31

  • ชี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใกล้ระดับก่อนโควิด อานิสงส์จีนเปิดประเทศหนุนท่องเที่ยวไทยสุดบูม

  • สวนทางส่งออกแผ่วยาวต่อเนื่อง คาดทยอยฟื้นตัว ปี 67

  • แนะเกาะติดเงินบาทใกล้ชิด ประเมินเงินเฟ้อทยอยเข้ากรอบปลายปีนี้

BOT-Increase-interest-rate-1-baht-50-satang-tourism-growth-SPACEBAR-Thumbnail
ในที่สุด ที่ประชุม ‘กนง.’ ก็มีมติเอกฉันท์ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ตามคาด ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน ขยับเป็น 1.50% ต่อปีแล้ว พร้อมให้ ‘มีผลทันที’ 

ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน  (กนง.) เผยเหตุผลการขยับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ขณะนี้ ว่า เป็นการประเมินทิศทางจากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ กล่าวได้ว่า เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน จะได้รับแรงส่งต่อ เนื่องจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการกระจายรายได้ของลูกจ้างในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระจำนวนมาก รวมทั้งเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน  

ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ แต่จะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น และผ่านจุดต่ำสุดในปี 2566 ก่อนจะปรับดีขึ้นในปีหน้า 

“จีดีพีของไทยเริ่มกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิด และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนที่เปลี่ยนไป คือภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้แรงและมากกว่าที่คาดการณ์ หลังจากที่จีนเปิดประเทศ  ขณะที่ภาคการส่งออกในปี 2566 และปี 2567 อาจจะเบาลงเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน และปี 2567 ที่ 34 ล้านคน จากปีที่ผ่านมาที่ 11 ล้านคน ซึ่งการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งผลไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องและเข้มแข็งดี กิจกรรมที่ฟื้นตัวดีขึ้นนี้นำไปสู่รายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปสู่การบริโภคที่จะยังเติบโตต่อไปได้ในปีนี้” ปิติ กล่าว 

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มลดลง ตามราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง แต่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทรงตัวในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนทยอยปรับลดลง 

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีความเสี่ยงที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด จากการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เพิ่มขึ้น  

ต้องติดตามความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยต้องติดตามความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาด จากการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่อาจเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ 

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 4-5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่เทียบกับสกุลเงินอื่นแข็งค่าขึ้นราว 2% โดยรวมสะท้อนปัจจัยพื้นฐานจากธนาคารกลางของประเทศหลักซึ่งมีท่าทีว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะใกล้เคียงจุดสูงสุด ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงบ้าง และปัจจัยภายในคือการที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศ ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้เงินบาทแข็งค่า ซึ่งเรื่องนี้ตลาดรับรู้ปัจจัยดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ณ จุดนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินยังเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล มีระเบียบ ยังไม่ได้มีประเด็นอะไรที่ต้องนำมาพิจารณาในเรื่องของนโยบาย แต่ก็ต้องจับตากันต่อไป 

“เงินบาทอาจจะแข็งค่าช่วงแรก และอาจจะแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านบ้าง แต่ก็มีเหตุเฉพาะที่เข้าใจได้ เพราะไทยได้รับอานิสงส์เยอะจากนักท่องเที่ยวจีน โดย กนง.มองว่าค่าเงินไม่ได้มีการปรับตัวที่เหมือนฉีกออกไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ก็เฝ้าติดตามดูอยู่ และในแง่วัฏจักรเศรษฐกิจไทยเทียบกับต่างประเทศ ปีก่อนเรายังไม่ฟื้น เขาฟื้น แต่ปีนี้สลับกัน เราฟื้นต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็มีเหตุผลว่าทำไมการลงทุนในไทย สินทรัพย์ของไทยจึงมีความน่าลงทุนมากขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ ก็เป็นไปตามธรรมชาติ โดยตอนนี้ กนง.ก็เฝ้าระวังและติดตามอยู่ แต่ก็ยังไม่ต้องมีการทำอะไรเป็นพิเศษ”  เลขานุการ กนง.ระบุ 

นโยบายการเงินในระยะต่อไป การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ โดยพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์