BTS ยัน ‘ไม่ฮั้วประมูลสายสีเขียว’ ตั้งข้อสงสัย เปิดปมช่วงประมูลสายสีส้ม

15 มี.ค. 2566 - 02:42

  • ‘คีรี’ แจงข้อมูลสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ไม่เข้าข่ายใช้ พรบ.ร่วมทุน

  • มั่นใจ เป็นกระบวนการกลั่นแกล้ง ทำลายความเชื่อมั่น จนหุ้นดิ่งฟลอร์ ลุยสู้ถึงที่สุด

  • ประกาศไม่หยุดเดินรถ จี้ รัฐเร่งจ่ายหนี้ 5 หมื่นล้านบาท

BTS-BTSC-sky-train-Green-SPACEBAR-Hero
กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ขณะดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับพวกรวม 13 คน รวมถึง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BTS คีรี กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ในฐานะกรรมการของ BTSC เกี่ยวกับการทำสัญญาให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ประกอบด้วย  
  • ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท สถานีอ่อนนุช-แบริ่ง  
  • สายสีลม สถานีสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่  
  • และการต่อสัญญาว่าจ้างเดินรถไฟฟ้าในเส้นทางสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางไปสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585 
โดยกล่าวหาในประเด็นหลักว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายนี้ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ (กฎหมายร่วมทุน) นั้น

คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS  ตั้งโต๊ะชี้แจง พร้อมด้วย สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริษัทฯ โดยยืนยันหนักแน่น ‘ไม่เคยฮั้วประมูล’  

แต่ข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนว่า ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวก 13 คน ซึ่งปรากฏชื่อผมและบริษัทฯ ในความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบและความผิดฮั้วประมูล ในเนื้อข่าว ยังมีการนำเสนอภาพเอกสารราชการของ ป.ป.ช. และอ้าง มาจากแหล่งข่าวระดับสูงของ ป.ป.ช. นี่จึงเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล ทำลายความเชื่อมั่นจนราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ ลงไปถึง 5.40 บาท แต่ก็กลับมายืนได้ในที่สุด  

ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังเชื่อว่า มีขบวนการจงใจให้เกิดเรื่อง โดยเฉพาะช่วงเวลาการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคน เห็นภาพการต่อสู้ และผลของการต่อสู้ความไม่ถูกต้องที่กำลังเกิดขึ้น 

ผู้บริหาร BTS ชี้แจงข้อกล่าวหา 
คีรี กล่าวว่า เบื้องต้น กับข้อกล่าวหาว่า กทม.ไม่มีอำนาจดำเนินการ เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติกำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษในเวลานั้นได้ทำการสอบสวนเสร็จสิ้น และมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผมและบริษัทฯ เพราะจากพยานหลักฐานไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับผม และบริษัทเลย และพนักงานอัยการก็มีความเห็นไม่สั่งฟ้องไปแล้ว  

คดีที่อยู่กับ ป.ป.ช. ส่วนตัวนั้นไม่ทราบเรื่อง เพราะ ป.ป.ช. ไม่เคยแจ้ง หรือเรียกไปให้ข้อมูล กระทั่งบีทีเอส ได้แสดงตัวต่อสู้กับเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ไม่ถูกต้อง วันนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่ายกฎหมายอ่านตั้งแต่บรรทัดแรกจนบรรทัดสุดท้าย เรายังไม่ทราบเลยว่า เราไปร่วมกระทำความผิดกับใคร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และมีพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าเราไปกระทำความผิด เชื่อมั่น เรื่องนี้มีขบวนการที่ต้องการให้บีทีเอสได้รับความเสียหาย ถึงขนาดให้ล้มละลาย 

คีรี กล่าวด้วยว่า แม้ว่าบีทีเอสจะถูกกลั่นแกล้งอย่างไร แต่ขอให้ประชาชนและผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นว่า บีทีเอสยังเข้มแข็ง กระแสเงินสดในมือยังมีเพียงพอ และจะไม่หยุดเดินรถเพื่อให้กระทบกับการบริการประชาชน สิ่งเหล่านี้ไม่ทำให้บีทีเอสอ่อนแอ แต่หากสักวันมีปัญหาเกิดขึ้น ถึงวันนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรัฐบาลก็คงต้องรับผิดชอบ เพราะบีทีเอสยืนยันว่า จะไม่หยุดเดินรถ ไม่มีบริษัทไหนในโลกที่รัฐบาลติดหนี้ถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่บริษัทก็ยังทำงานต่อไป ถึงแม้ต้องกู้เงิน ก็ล้มไม่ได้ เพราะผู้ถือหุ้นเข้าใจ ทุกครั้งที่ยื่นขอกู้ก็อนุมัติด้วยความเชื่อมั่นใจ  

“ผมว่าเรื่องพวกนี้ส่วนตัวกล้าพูด มันเริ่มมาจากที่ผมไปประมูลสายสีส้ม เกิดการเปลี่ยนทีโออาร์กลางอากาศ หลังจากนั้นนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็เริ่มแย้งมาตลอด เรื่องการใช้ ม.44 ในการต่อสัมปทาน แต่วันนี้ผมต้องการแค่เอาเงินมาวันนี้หนี้ท่วมไป 5 หมื่นล้านบาทแล้ว คงอยากทำให้บีทีเอสอ่อนแอ แต่ผิดคนแล้ว ผมยืนยันว่าเราจะไม่หยุดเดินรถ จะอยู่แบบนี้ เพราะคุณกำลังทำลายความสะดวกของคนในกรุงเทพ ผมยืนยันว่ายังไหวอยู่ เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีสกปรกกว่านี้” คีรี กล่าว 

ย้ำ BTS มีสิทธิคัดค้าน-แก้ข้อกล่าวหา  
ด้าน สุรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า ข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.นั้น เป็นการกล่าวหาในเรื่องกระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการทั้งหมด 3 เส้นทาง โดยกรณีที่เกิดขึ้นยังคงเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น และบีทีเอส ยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด พร้อมกับมีสิทธิที่จะคัดค้านเพื่อแก้ไขข้อกล่าวหาตามกระบวนการของกฎหมาย  

โดยบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือตามกระบวนการทางกฎหมายทุกขั้นตอน ยืนยันว่า การทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และปราศจากการฮั้วประมูลใดๆ ขณะที่ประเด็น นำเอกสารลับ ออกมาเผยต่อสื่อมวลชน ประธาน ป.ป.ช. ต้องรับผิดชอบ 

แจงยิบ ที่มาที่ไปโครงการส่วนต่อขยาย 
สำหรับที่มาของการทำสัญญาจ้างเดินรถ เริ่มต้นจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 26 ธันวาคม 2543 กทม. เสนอต้องการร่วมทุนพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมติที่ประชุม ครม.ให้ไปเปิดประมูล โดยให้เหมือนโครงการเดิม คือ ให้เอกชนลงทุน 100% กทม.จึงมาเชิญบีทีเอสไปทำข้อเสนอ แต่บีทีเอสยืนยันว่าลงทุน 100% ทำไม่ได้ ถ้าจะให้ทำก็ขอรับเงินอุดหนุนโครงสร้างโยธา แต่คณะกรรมการคัดเลือกในขณะนั้นให้ข้อเสนอนี้ไม่ได้ เพราะมองว่าขัดกับมติ ครม. จึงยุติการจัดทำ พรบ.ร่วมทุน 

หลังจากนั้น กทม.จึงดำเนินการลงทุนพัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอง และเมื่อแล้วเสร็จต้องเปิดเดินรถ จึงมีการไปหารือกับสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งชี้ว่าหากจะจ้างเดินรถไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน จึงไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ร่วมทุน และมีการเริ่มขั้นตอนว่าจ้างบีทีเอสตามขั้นตอนทางกฎหมายของ กทม.เอง ซึ่งมีการจ้างเดินรถทั้งในส่วนต่อขยาย และเส้นทางหลัก ช่วงสถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 หลังจากหมดสัญญาจะเป็นการจ้างเดินรถ 

สุรพงษ์ ยังเผยตัวเลขภาระหนี้สินคงค้างจากสัญญาจ้างเดินรถ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ว่า มีตัวเลขรวมประมาณกือบ 5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น  
  • ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) จำนวนกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท  
  • และค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า/เครื่องกล รวมกว่า 2.28 หมื่นล้านบาท  
ซึ่งขณะนี้ข้อพิพาทที่บีทีเอส ได้ยื่นฟ้องเรียกเก็บหนี้สินดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วว่าเป็นหนี้ที่ถูกต้อง และ กทม.ต้องชำระร่วมกับบริษัทกรุงเทพธนาคม 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่าสถานะทางการเงินขณะนี้ยังเข้มแข็ง เพราะแม้จะไม่ได้รับรายได้จากการรับจ้างเดินรถ แต่ในปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู ที่จะทยอยเปิดบริการอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะมีรายได้เข้ามาจากค่าโดยสารและเชิงพาณิชย์รถไฟฟ้าทั้งสองโครงการรวมเฉลี่ยปีละ 2 พันล้านบาท ดังนั้นหากเปิดให้บริการในกลางปีนี้ คาดว่าจะสร้างรายได้รวม 1 พันล้านบาท อีกทั้งจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐส่วนของงานโยธา 4.7 พันล้านบาท โดยรัฐมีกำหนดจ่ายให้เป็นระยะเวลา 10 ปี 

พ.ต.อ.สุชาติ ที่ปรึกษาประธานกรรมการฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายของบีทีเอสกำลังทำหนังสือขอรายละเอียดถึง ป.ป.ช.เพิ่มเติม เกี่ยวกับระเบียบตามกฎหมายของป.ป.ช.ในกรณีที่แจ้งข้อกล่าวหา เพราะต้องการทราบถึงสำคัญและพฤติการณ์แห่งคดีว่า บริษัทกระทำผิดอย่างไรบ้าง รวมทั้งในการกล่าวหานั้นมีพยานหลักฐานหรือไม่ เพื่อที่บริษัทจะได้ต่อสู้ทางคดีต่อไป 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7hDtjbp4yoV1pEH4ChOt9H/d4130929d994f39c448104721f46c1d6/BTS-BTSC-sky-train-Green-SPACEBAR-Photo01
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2UgeCgit1MCgnpsV8coQTC/f170e4f6141e00ce6cd624696b8619d7/BTS-BTSC-sky-train-Green-SPACEBAR-Photo02
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/268imiOq1DQ9VLi0GXgqHM/42d6e6cc5984c89545c65f8e72fc9365/BTS-BTSC-sky-train-Green-SPACEBAR-Photo03

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์