อาร์เจนตินาแชมป์โลกเงินเดือนขึ้นเร็วสุด แต่ทำไมทุกข์กว่าเดิม?

21 ธ.ค. 2565 - 06:52

  • อาร์เจนตินาเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงมานานกว่า 20 ปีแล้ว

  • เงินเดือนจึงต้องถูกปรับขึ้นหลายครั้งใน 1 ปี แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น

BUSINESS-argentina-is-the-world-champion-of-wage-increase-SPACEBAR-Hero
คงไม่มีประเทศไหนที่เงินเดือนของคนทำงานจะเพิ่มขึ้นเร็วเท่ากับประเทศอาร์เจนตินาอีกแล้ว ซึ่งมันควรจะเป็นเรื่องน่ายินดี พอๆ กับที่ทีมฟุตบอลของพวกเขาเป็นเจ้าบอลโลก แต่เงินเดือนที่ขึ้นไม่หยุด และค่าแรงขั้นต่ำที่ถูกเพิ่มระดับไม่เลิก มันไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่มันเป็นสัญญาณของ ‘ภาวะเศรษฐกิจล้มเหลว’ 

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อาร์เจนตินาเป็นเจ้าแห่งเวิลด์คัพในเรื่องค่าแรงที่เพิ่มเร็วจี๋ โดยเพิ่มขึ้นเกือบทุกเดือนในช่วงครึ่งปีหลัง ตั้งแต่มิถุนายน (45,540 เปโซ) สิงหาคม (47,850 เปโซ) กันยายน (51,200 เปโซ) ตุลาคม (54,550 เปโซ) และพฤศจิกายน (57,900 เปโซ) นี่เป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะครึ่งหลังของปี 2022 เท่านั้น ยังไม่นับเดือนละปีที่ผ่านๆ มาที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด 

ถ้าเป็นประเทศอื่น การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนแบบนี้คงต้องปิดออฟฟิศฉลองกันทุกเดือน แต่ในอาร์เจนตินามันกลับเป็นสัญญาณของความหายนะ เพราะเมื่อค่าแรงขึ้น เท่ากับว่า “ของแพงอีกแล้ว” 

นั่นก็เพราะอาร์เจนตินามีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อมักจะเกิน 20% หรือบางครั้งมากกว่า 50% ไม่ต้องย้อนกลับไปไกล เอาแค่เดือนพฤศจิกายนปีนี้ เงินเฟ้อสูงถึง 92.4% เลยทีเดียว ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 30 ปี 

เงินเฟ้อที่สูงขนาดนี้หมายความว่าได้เงินเดือนมาก็แทบจะซื้ออะไรไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือได้เงินมา 100 ส่วน ค่าของเงินก็จะถูกเงินเฟ้อเขมือบไปแล้ว 90 ส่วน  

ถ้า 90% ถือว่าสูงแล้วมันยังไปไกลกว่านั้นได้อีก เพราะคาดว่าเงินเฟ้ออาร์เจนตินาอาจจะทะลุ 100% เมื่อถึงสิ้นปี แต่มันอาจะไม่จบแค่นั้น เพราะในอดีตอาร์เจนตินาเคยเจอกับเงินเฟ้อที่สูงปรี๊ดถึง 4,000% มาแล้ว 

ยกเว้นว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำกันใหม่ทุกเดือน และภาคธุรกิจจะต้องขึ้นเงินเดือนกันหลายครั้งใน 1 ปี ต่างจากประเทศอื่นที่มักจะขึ้นเงินเดือนกันแค่ปีละครั้งหรือสองครั้ง  

โดยส่วนใหญ่  60% (ช่วงก่อนการระบาดใหญ่) องค์กรต่างๆ ในอาร์เจนตินาต้องเพิ่มเงินเดือน 3-5 ครั้งใน 1 ปี ไม่มีที่ไนในโลกที่ทำกันแบบนี้ แต่ที่นี่มันเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ 

แต่มันหมายความว่าบริษัทห้างร้านได้กำไรมาเท่าไรก็ต้องเอามาถมที่ค่าแรงราวกับไม่มีที่สิ้นสุด แต่ไม่ขึ้นเงินเดือนก็ไม่ได้ เพราะแรงงานจะไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงตัวเอง แต่ถ้าขึ้นไปเรื่อยๆ ธุรกิจก็จะพัง คนก็จะตกงานอยู่ดี วงจรอุบาทว์แบบนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Stagflation นั่นคือเงินเฟ้อ (inflation) เกิดขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจหยุดชะงัก (Stagnation) 

ในบางกรณี เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นในภาวะเศรษฐกิจที่มีเงินในระบบมาก (คือที่มาของคำว่า เงิน ‘เฟ้อ’) ซึ่งอาจหมายความว่าเศรษฐกิจคึกคักในระดับหนึ่ง ดังนั้น อย่างน้อยมันจึงมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี แต่กับ Stagflation มันมีแต่เรื่องไม่ดี และอาร์เจนตินาเจอกับมันทุกวี่วันนานถึง 20 ปี   

คำถามก็คือ สาเหตุอะไรที่ทำให้อาร์เจนตินาตกอยู่ในนรกเงินเฟ้อที่ไม่มีจบสิ้นแบบนี้? 

อย่างที่บอกไปว่าเงินเฟ้อเกิดจากปริมาณเงินไหลเข้ามาในตลาดมากเกินไป คนที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ได้ก็คือธนาคารกลาง/รัฐบาลที่มีอำนาจสั่งพิมพ์เงินเพิ่มและอัดเข้าสู่ตลาด เช่นเดียวกัน รัฐบาลอาร์เจนตินาสั่งพิมพ์เงินเพิ่มไม่หยุด เพื่อนำมาชำระหนี้และลงทุน (ซึ่งจะว่าไปมันถือเป็นเรื่อง ‘มโนเอาเอง’ ในทางเศรษฐศาสตร์ว่าตัวเองมีเงิน) มันจึงทำให้เงิน ‘เฟ้อ’ เมื่อเงินในระบบมีมาก ราคาก็จะ ‘เฟ้อ’ ตามไปด้วย 

นี่เองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอาร์เจนตินาจึงให้คำมั่นสัญญาว่าจะหยุดพิมพ์เงินเพิ่ม แต่ไม่รู้จะหยุดวิกฤตได้หรือไม่ 

ถามว่าทำไมอาร์เจนตินาถึงพิมพ์เงินออกมาไม่หยุดหย่อน? ก็เพราะรัฐบาลประเทศนี้ใช้เงินมือเติบเกินไป เช่นในปี 2015 การใช้จ่ายสาธารณะสูงถึง 44% ของ GDP 

ผลของการใช้จ่ายสาธารณะที่ไม่บันยะบันยังแบบนี้ สิ่งที่จะตามมาคือ ‘อภิมมหาเงินเฟ้อ’ (Hyperinflation) คือสภาพที่เงินเฟ้อจนเงินไม่มีค่า ธนบัตรกลายสภาพเป็นเศษกระดาษ เวลาซื้อของชิ้นเดียวอาจจะต้องแบกถุงใส่เงินเป็นฟ่อนๆ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเวเนซุเอลา, ซิมบาบเว และเกิดขึ้นบ้างแล้วในอาร์เจนตินา 

และการที่รัฐใช้เงินหนักมือจนเกิดอภิมหาเงินเฟ้อ ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘ประชานิยม’ (Populism) ซึ่งก็ลงล็อคกับที่อาร์เจนตินามักใช้นโยบายประชานิยมแบบนี้ด้วย โดยเรียกกันว่า ‘ลัทธิเปรอน’ (Peronism) ตามชื่อของ ฮวน เปรอน อดีตผู้นำประเทศที่เป็นบุคคลแรกๆ ที่ใช้นโยบายประชานิยมจนกระทั่งตัวเขาประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำที่นั่งอยู่ในใจผู้คน และทายาทการเมืองรุ่นต่อๆ มาก็ยังสืบทอดแนวคิดนี้ รวมถึงผู็นำคนปัจจุบัน คือ อัลเบร์โต เฟร์นันเดซ 

แล้วลัทธิเปรอนนี่เองที่ทำให้อาร์เจนตินาเจอกับชะตากรรมแบบนี้ ในวันนี้ 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์