เมื่อทัวร์จีนกำลังจะบุกไทย จะรับทรัพย์หรือว่ารับมือกันก่อน?

4 ม.ค. 2566 - 10:12

  • เรื่องหนึ่งที่จีนถูกโจมตีมากเป็นพิเศษ คือ ความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการระบาดในประเทศ

  • แต่การกีดกันคนและเงินจากจีนอาจจะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อประเทศนั้นและจีนอย่างร้ายแรง

BUSINESS-how-will-thailand-cope-with-influx-of-chinese-tourists-SPACEBAR-Thumbnail
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ทั้งในแง่การส่งออกและการท่องเที่ยว ‘การพึ่งพา’ ในที่นี้ไม่ได้มีแค่ความหมายแง่บวกในเชิงพึ่งพาอาศัย แต่ยังมีความนัยในด้านลบในแง่ที่ไทยต้องอาศัย (dependent) ประเทศจีนเพื่อที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของตัวเอง หากขาดจีนไปสักคน เศรษฐกิจไทยจะขาดแรง และอาจจะขาดใจได้ 

ดังนั้น เมื่อจีนล็อกดาวน์ตัวเองนานกว่า 3 ปี ประเทศที่เสียหายที่สุดก็คงจะไม่พ้นประเทศไทย GDP ของไทยอยู่ในสภาพทรงๆ ไม่ถึงกับติดลบแต่ก็ไม่อาจจะโตไปกว่านี้ได้ ตราบใดที่ตลาดจีนยังไม่เปิด โดยเฉพาะสถานการณ์ท่องเที่ยวที่ไร้ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนโดยสิ้นเชิง ทำให้การท่องเที่ยวไทยยังไม่ฟื้นเต็มที่  

ถึงขนาดมีผู้วิเคราะห์ว่า แม้ว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวจะดูเหมือนจะมาไทยจนแน่นขนัด แต่ปีหน้าอาจจะซาลงไปบ้าง และทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเงียบเหงาลงอีก จนกระทั่งมีข่าวที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นจากจีน นั่นคือข่าวที่รัฐบาลจีนตัดสินใจเปิดประเทศในที่สุด
 

ไม่รู้ดีใจหรือหนักใจดี

แทนที่จะดีใจที่นักท่องเที่ยวจีนกลับมาแล้ว บางประเทศรีบวางมาตรการ ‘ป้องกัน’ คนจีนในทันที ด้วยการกำหนดให้คนจีนจากจีนต้องผ่านการตรวจโควิดก่อนจะเข้าประเทศนั้นๆ ในเรื่องนี้ก็เป็นวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่แต่ละประเทศไป เพราะในขณะที่ประเทศตะวันตกใช้มาตรการเหล่านี้ แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่พึ่งพาจีนอย่างหนักในด้านเศรษฐกิจ (ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้น) กลับไม่กำหนดมาตรการ ‘ป้องกัน’ คนจีนที่จะเข้ามาเลย 

ก่อนอื่น เรามาตั้งข้อสังเกตกันก่อนว่า มาตรการกวดขันคนจีนเข้าประเทศของบางประเทศตะวันตกนั้นมันสมเหตุสมผล หรือว่าแอบแฝงด้วยวาระซ่อนเร้นทางการเมือง? ในกรณีของประเทศในซีกโลกเหนือที่กำลังรับมือการระบาดของโควิดอีกครั้งในช่วงฤดูหนาว เราอาจจะพอจะเข้าใจได้ว่าพวกเขาไม่ต้องการจะแบกรับผู้ติดเชื้อจากข้างนอกอีก แต่ประเทศซีกโลกใต้อย่างออสเตรเลีย ที่เป็นประเทศแรกๆ ที่ออกคำสั่งตรวจโควิดนักท่องเที่ยวจีน กลับเป็นเรื่องยากจะเข้าใจ เพราะตอนนี้ออสเตรเลียอยู่ในช่วงฤดูร้อน และยอดผู้ติดเชื้อก็น้อยมาก  

แม้แต่ในประเทศซีกโลกเหนือเอง ต่อให้ต้องระวังการระบาดช่วงฤดูหนาว มันยังอดคิดไม่ได้ว่าพวกเขากวดขันคนจีนอย่างลำเอียงหรือไม่? อย่างอิตาลีที่เป็นประเทศแรกที่สั่งตรวจคนจีนทุกคนที่เข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2022 โดยกำหนดว่าผู้โดยสารทุกสายการบินจากจีนจะต้องผ่านการตรวจโควิดภาคบังคับเมื่อเดินทางมาถึง แต่อิตาลีเลิกตรวจนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นมาตั้งนานแล้ว นั่นหมายความว่าอิตาลีไม่ได้สนใจมานานแล้วว่าคนเข้าออกประเทศจะพาเชื้อเข้ามามากแค่ไหน แต่ทำไมจู่ๆ ถึงได้กลัวนักท่องเที่ยวจีนขึ้นมา?

เพราะจีนน่าสงสัยจึงต้องกันไว้ก่อน

เรื่องหนึ่งที่จีนถูกโจมตีมากเป็นพิเศษ คือ ความโปร่งใสเกี่ยวกับข้อมูลเรื่องการระบาดในประเทศ แม้แต่คนในประเทศจีนเองก็ไม่เชื่อใจรัฐบาลของตัวเอง เราจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่จีนจู่ๆ ก็ตัดสินใจเปิดประเทศขึ้นมามันอาจเป็นผลมาจากการที่ประชาชนไม่พอใจกับการดึงดันใช้นโยบายปิดประเทศและล็อกดาวน์ไปเรื่อยๆ และเข้มงวดกับทุกสิ่งทุกอย่างโดยอ้างเรื่องการระบาด ทำให้เกิดการประท้วงขึ้นในหลายพื้นที่ ความไม่โปร่งใสและความน่าสงสัยเรื่องการจัดการของจีน ทำให้ต่างประเทศเองก็ไม่วางใจไปด้วย 

และจีนเองก็น่าจะรู้ตัวดี อย่างที่ โจวลี่หมิน (Zhou limin) กงสุลใหญ่ของรัฐบาลจีนประจำซิดนีย์ ออสเตรเลีย มีบทความชี้แจงใน Financial Review ชี้แจงเรื่อง ‘มายาคติ’ (Myth) เป็นข้อๆ ที่เขาเชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ออสเตรเลียต้องเข้มงวดกับชาวจีนที่กำลังจะแห่เข้ามา เช่น มายาคติเรื่องสถานการณ์ COVID-19 ของจีนอยู่เหนือการควบคุม, มายาคติเรื่องที่จีนกลบเกลื่อนตัวเลขผู้ติดเชื้อ, มายาคติเรื่องจีนยังไม่พร้อมสำหรับการปรับมาตรการป้องกันโควิด และมายาคติเรื่องวัคซีนจีนไม่มีประสิทธิภาพ  

หัวข้อเหล่านี้ที่กงสุลจีนยกมาเป็นข้อๆ แล้วตอบเป็นข้อๆ สะท้อนความกังวลของคนทั้งโลกจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส่ในการควบคุมโรคของจีนและประสิทธิภาพของวัคซีนจีน เราจะมาดูกันในประเด็นที่คนกังวลที่สุดก่อน (และใกล้ตัวคนไทยด้วย) นั่นคือ มายาคติเรื่องวัคซีนจีนไม่มีประสิทธิภาพ กงสุลโจวลี่หมินตอบไว้อย่างนี้ “มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ทางวิทยาศาสตร์ว่าไม่มีวัคซีนใดในโลกที่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไฟเซอร์ติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งที่สองหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนเสริม mRNA ครั้งที่สี่ เราสามารถสรุปได้หรือไม่ว่าวัคซีนของไฟเซอร์ไม่ได้ผลเพราะเหตุนี้? เห็นได้ชัดว่าไม่” 

และเขายังบอกว่า “ในบรรดาผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 และ 80 ปี มากกว่า 85% และ 65% ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนตามลำดับ จีนมีกำลังการผลิตยาลดไข้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และได้ใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อเพิ่มการผลิต การจัดหายาสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่” 

ไม่ว่าคำตอบนี้ (และคำชี้แจงเรื่องมายาคติอื่นๆ) จะเชื่อถือได้หรือไม่ก็ตาม มายาคติเหล่านี้สะท้อนความกังวลพื้นฐานร่วมกันของหลายประเทศต่อการจัดการการระบาดที่จีน และมาตรการกวดขันคนจีนเข้าประเทศอาจจะดูเหมือนการปฏิบัติที่มีอคติ แต่มันก็มีเหตุผลให้เข้าใจได้ว่าทำไมต้องทำแบบนั้นเหมือนกัน


เพราะคิดแยกทางจากเศรษฐกิจจีน

ถึงแม้ว่าจะมีเหตุผลเรื่องความไม่โปร่งใสของจีน แต่โปรดสังเกตว่าประเทศที่รีบร้อนเข้มงวดกับรับคนจีนเข้าประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศ ‘พันธมิตรต้านจีน’ หรือไม่ก็มีรัฐบาลที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตรกับจีนเกือบทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี (รัฐบาลล่าสุดเป็นพวกขวาจัดที่เอียงเข้าหาไต้หวันและตีตัวออกห่างจีน) สหรัฐฯ (เป็นคู่กรณีโดยตรงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจกับจีน) อังกฤษ (รัฐบาลยุคหลังมีจุดยืนไม่เอาจีน) ออสเตรเลีย (เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนที่รุนแรงมากในระยะหลัง) แคนาดา (เกือบจะแตกหักกับจีนกรณีจับตัวลูกสาวผู้ก่อตั้งบริษัท Huawei) ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ (มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเลยกับจีนในระยะหลัง) และอินเดีย (เป็นคู่สงครามย่อยๆ กับจีนในช่วงปีที่ผ่านมา) ส่วนประเทศอื่นๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับจีนโดยตรง เช่น ฝรั่งเศส สเปน และมาเลเซีย น่าจะมีมาตรการอกมาเพราะความกังวลเป็นหลัก  

ประเทศส่วนใหญ่ที่ที่ ‘กีดกัน’ คนจีนเข้าประเทศล้วนแต่เป็นประเทศที่มีปัญหากระทบกระทั่งกับจีนทั้งสิ้น อดคิดไม่ได้ว่าการการกำหนดมาตรการกวดขันคนจีนมีความเป็นวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์แค่ไหนหรือว่าเป็นปัญหาในเชิงรัฐศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์การเมืองกันแน่?  

อย่าลืมว่าประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีนเหล่านี้ ในระยะหลังใช้แนวทางที่เรียกว่า Decoupling หรือการลดการผูกมัดหรือเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ/ธุรกิจกับประเทศอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นมีอิทธิพลต่อประเทศตนมากเกินไป เช่น จีนพยายามที่จะ Decoupling ตัวเองจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการทางการค้าโจมตีจีน (อย่างที่เรียกกันว่าสงครามการค้า) ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็พยายาม Decoupling จากเศรษฐกิจจีน โดยลดการลงทุนจากจีน กีดกันสินค้าจีน ขึ้นบัญชีดำบริษัทจีนไม่ให้จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้จีนใช้อิทธิพลบงการสหรัฐฯ ผ่าน ‘เงิน’  

ยุโรปบางประเทศอาจไม่ได้คิดลึกถึงขั้น Decoupling เพราะเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจที่โยงกับการเมือง แต่เพราะได้รัฐบาลฝ่ายขวาที่ชาตินิยมจัดแบบรัฐบาลอิตาลี ในเอเชีย ประเทศอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หวาดกลัวการผงาดของจีนว่าจะทำให้ตนถูกครอบงำ จึงต้องคล้อยตามแนวทาง Decoupling ของสหรัฐฯ ประเทศอย่างออสเตรเลียทำสงครามการค้ากับจีนเพราะเดินตามแนวทางสหรัฐฯ ทำให้ต้อง Decoupling จากการค้ากับจีนไปด้วย  

ประเทศที่พยายามสลัดตัวเองออกจากการโยงกับเศรษฐกิจจีนต่างก็มีเหตุผลเรื่องการเมืองเป็นหลักเรื่อง ส่วนการค้าขายเป็นเรื่องรอง ดังนั้น เวลามีเสียงคัดค้านจากคนในประเทศว่าอย่าทำ Decoupling กับจีนเดี๋ยวเศรษฐกิจจะซบเซา พวกเขาจึงไม่ค่อยฟัง ทั้งๆ ที่การ Decoupling ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อตัวเองและจีนอย่างร้ายแรง
 

คนอื่นทำสงคราม อาเซียนรับทรัพย์?

เพราะความที่การทำ Decoupling ทำลายโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล บริษัทในยุโรปจึงกังวลกันมากเพราะกลัวว่าสหภาพยุโรปจะเดินตามรอยสหรัฐฯ แล้วออกมาตรการห้ามโน้นห้ามนี่จนไม่สามารถตักตวงความมั่งคั่งจากจีนได้ แต่แล้วรัฐบาลในยุโรปบางประเทศก็ยังคิดว่าการไม่ค้าขายกับจีนเป็นเรื่องที่ดีกว่า จึงมีมาตรการกีดกันธุรกิจจีนและคนจีนอกมาง่ายๆ แม้ว่ามันจะกระทบต่อการท่องเที่ยวและการค้าขายก็ตาม 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเพียงมาเลเซียที่มีมาตรการตรวจไข้ผู้เข้าประเทศทุกคนไม่ว่าจะมาจากจีนหรือไม่ก็ตาม แต่ก็ยังมีมาตรการเฉพาะสำหรับเที่ยวบนขาเข้าจากจีนที่จะมีการตรวจน้ำเสียบนเครื่องว่าจะมีเชื้อกลายพันธุ์ปะปนมาด้วยหรือไม่ มาตรการของมาเลเซียแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะไม่ทำให้จีนไม่พอใจ โดยเลือกที่จะตรวจผู้เข้าเมืองขาเข้าทุกคน แต่เลี่ยงไปตรวจน้ำทิ้งบนเครื่องบินแทน นับเป็นวิธีที่ชาญฉลาดในการปกป้องตัวเองจากสถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจจีน และยังช่วยรอดพ้นจากความไม่พอใจขจองจีนไปด้วย เพราะนักท่องเที่ยวจีนคือแหล่งรายจากการท่องเที่ยวใหญ่อันดับที่ 3 รองจากชาวสิงคโปร์และอินโดนีเซีย อันที่จริงควรนับเป็นอันดับ 1 ด้วยซ้ำ เพราะสองประเทศแรกเป็นเพื่อนบ้านที่มีการเข้าออกของประชาชนเป็นปกติ 

ขณะที่ไทยยังไม่วางมาตรการใดๆ กับการที่คนจีนอาจจะทะลักมาในอีกไม่กี่เดือนนี้ บางทีแนวทางของมาเลเซียอาจเป็นหนทางสร้างความบอบช้ำน้อยที่สุด นั่นคือ แทนที่จะเข้มงวดกับคนจีนแบบเต็มๆ เหมือนประเทศที่เป็นคู่กรณีจีน (ซึ่งจะทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก) ไทยอาจดำเนินการ ‘ตรวจไข้’ (fever) ไม่ใช่ตรวจโควิดกับนักท่องเที่ยวทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ และขอความร่วมมือกับสายการบินจากจีนเพื่อขอตรวจสอบน้ำทิ้งบนเครื่อง เพื่อตรวจดูว่ามีการกลายพันธุ์หรือไม่ ซึ่งเอาจริงๆ แล้วมาตรการแบบมาเลเซียนั้นค่อนข้างรัดกุมแต่ก็ไม่เข้มงวดเกินไป และแทบจะไม่กระทบความรู้สึกของทุกฝ่ายเลย  

ถ้าหากบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยนั้นยอมให้กับ ‘เงิน’ ของจีนมากเกินไป ก็คงต้องหันไปดูที่เพื่อน้านรอบๆ ไทยด้วยว่าท่าทีต้อนรับทัวร์จีนนั้นกระตือรื้อร้นเสียยิ่งกว่า อย่าง อุดไซดี อูดานิส (Uzaidi Udanis) ประธานการท่องเที่ยวขาเข้าของมาเลเซียมาเลเซีย (MITA) กล่าวว่ารัฐบาลมาเลเซียจะไม่กำหนดข้อจำกัดพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาถึงหลังวันที่ 8 มกราคม เพราะ “หากมาเลเซียขัดขวางการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ประเทศจะประสบความสูญเสียครั้งใหญ่” และยังกล่าวว่า “ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม และอื่นๆ จะสามารถดึงดูด (คนจีน) ตลาดมายังประเทศของตนได้” 

ในเวลาที่เศรษฐกิจหืดขึ้นคอแบบนี้ ไม่ว่าประเทศไหนๆ ในอาเซียนก็มองว่าทัวร์จีนเหมือนพระมาโปรดเลยทีเดียว 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์