ใครว่าขึ้นค่าแรงแล้วเศรษฐกิจจะล้ม? กรณีศึกษาจากสมัยยิ่งลักษณ์

16 ธ.ค. 2565 - 10:23

  • นักเศรษฐศาสตร์ยังเถียงกันว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะบวกหรือลบ

  • แต่กรณีของไทยสามารถศึกษาผลกระทบของมันต่อการลงทุนได้จากสมัยยิ่งลักษณ์

BUSINESS-minimum-wage-increase-benefit-economy-SPACEBAR-Hero
เมื่อตอนที่ไทยขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเสียงบ่นว่าทำให้ต่างชาติถอนฐานการผลิตไปจากไทยเพราะต้นทุนสูงขึ้น แล้วย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนามแทน ในปี 2022 เป็นอีกครั้งที่พรรคเพื่อไทยเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คราวนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 600 บาทต่อวัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆ นานา ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน และหนึ่งในเหตุผลที่คัดค้านก็คือ กลัวว่าทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนออกจากไทยอีกระลอก เพราะรับไม่ไหวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้นว่าตกลงแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศควรจะออกมาในรูปแบบไหน ระหว่าง 

1. ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนบริษัทเพิ่มขึ้น บริษัทต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนการบริหารเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องลดจำนวนแรงงาน และอาจใช้จักรกลเข้ามาแทนที่  

2. ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ช่วยลดช่องว่างภาวะเงินเฟ้อ ทำให้บริษัทขายสินค้าและบริการได้มาก เศรษฐกิจคึกคัก และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น  

นี่เป็นความเป็นไปได้ 2 แนวทางหลัก ซึ่งมันสามารถเป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทาง สมมติว่าวันหนึ่งค่าแรงไทยขึ้นมา 600 บาท มันก็อาจทำให้บริษัทรับไม่ไหวและเศรษฐกิจของชาติซบเซา แต่มันก็อาจทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนกัน  

ข้างต้นนั้นเป็นสถานการณ์สมมติสำหรับแรงงานกับนายจ้าง แล้วทุนจากต่างประเทศล่ะจะทำอย่างไรเมื่อไทยขึ้นค่าแรง? 

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้เราสามารถย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในวันที่ไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท 

จากการศึกษาของ Fuangfo, 2018 ที่ตีพิมพ์ใน International Journal of Economics and Financial Issues ประเมินสถานการณ์ในขณะนั้นเอาไว้ว่า “แผงขายอาหารริมทางส่วนใหญ่ เช่น ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม ราคาประมาณ 30–40 บาท การรับประทานอาหาร 3 มื้อต่อวันจะทำให้แรงงานไทยต้องมีเงินประมาณ 200 บาท (6 เหรียญสหรัฐ) หลังจากทำงานมาหนึ่งวัน” 

การประเมินนี้จะทำให้เห็นภาพว่าแรงงานไทยจะใช้เงินจนหมดไปกับแค่เรื่องที่จำเป็นที่สุดคือการซื้ออาหารมารับประทาน และจะไม่มีเงินเหลือเก็บเลยหากค่าแรงไม่เกิน 200 บาท 

ในแง่นี้ การขึ้นค่าแรงเท่ากับเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้น และเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อด้านอื่นๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ 

กับคำถามที่ว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้การลงทุนซบเซาหรือไม่ เราสามารถดูผลกระทบของมันได้จากตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งงานวิจัยนี้ทำการศึกษาเป็นเรื่องหลัก 

การวิจัยพบว่าการขึ้นค่าแรง 39.5% มาเป็น 300 บาทเมื่อปี 2013 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ตรงกันข้าม การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาไทยกลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ คือ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2014 - 2015 

ผู้ทำการวิจัยจึงชี้ว่า การขึ้นค่าแรงไม่ได้กระทบต่อนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ปัจจัยอื่นๆ ต่างหากที่ส่งผลกระทบต่อทุนที่เข้ามาในไทย เช่น ความโปร่งใสของรัฐบาล เสถียรภาพทางการเมือง หรือความรุนแรงในประเทศ 

แต่อย่างที่บอกไว้ การศึกษาผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้ งานวิจัยนี้เป็นเพียงหนึ่งในบทสรุปด้านหนึ่งเท่านั้น ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไปจากงานวิจัยนี้ด้วย ซึ่งเราจะนำเสนอแง่มุมอื่นๆ ต่อไป 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์