What If... ค่าแรงไทยทะลุ 600 จะเกิดอะไรขึ้น?

28 ธ.ค. 2565 - 09:47

  • ใครๆ ก็อยากจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ปกติแล้วการขึ้นค่าแรงจะทำกันเป็นรายบุคคลหรือรายองค์กร โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม

  • งานวิจัยเรื่องการขึ้นค่าแรงในไทยก่อนหน้านี้ ทำให้เรามองเห็นภาพว่าถ้าเราขึ้นค่าแรงครั้งใหญ่อีกครั้ง จะเกิดอะไรขึ้น?

BUSINESS-what-if-minimum-wage-in-thailand-reaches-600-bath-SPACEBAR-Thumbnail
เมื่อตอนที่ไทยขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีเสียงบ่นว่าทำให้ต่างชาติถอนฐานการผลิตไปจากไทยเพราะต้นทุนสูงขึ้น แล้วย้ายไปตั้งฐานการผลิตที่เวียดนามแทน ในปี 2022 เป็นอีกครั้งที่พรรคเพื่อไทยเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คราวนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 600 บาทต่อวัน ทำให้เกิดปฏิกริยาต่างๆ นานา ทั้งสนับสนุน และคัดค้าน และหนึ่งในเหตุผลที่คัดค้านก็คือกลัวว่าทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนออกจากไทยอีกระลอก เพราะรับไม่ไหวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ibOQh4aXywomNucudcvIZ/dce254e2726ec0f48dacd536ad7be980/____________________________
อัตราค่าแรงขั้นต่ำข้างต้นคัดเอามาเฉพาะอัตราสูงสุดที่จ่ายในพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศต่างๆ แต่ยังไม่รวมสิงคโปร์ เพราะถือเป็นประเทศรายได้สูงและประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งหากนำมารวมจะทำให้การวิเคราะห์คลาดเคลื่อนได้ แต่เราจะลองสมมติดูในตอนท้ายว่า ถ้าเกิดจู่ๆ ไทยมีค่าแรงสูงเท่ากับสิงคโปร์ จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย?  

แต่ก่อนอื่นมาลองสมมติสถานการณ์กันก่อนว่า ถ้าไทยที่เคยมีอัตราค่าแรงขั้นต่ำไล่เลี่ยกับเพื่อนบ้าน วันดีคืนดีเกิดเพิ่มค่าแรงอีกสองเท่าตัวจนล้ำหน้าเพื่อนบ้าน มันจะเกิดอะไรขึ้นกับไทย? 

ในวันที่ค่าแรงเป็น 600 บาท

ใครๆ ก็อยากจะได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น แต่ปกติแล้วการขึ้นค่าแรงจะทำกันเป็นรายบุคคลหรือรายองค์กร การขึ้นค่าแรงแบบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่หากมันเป็นการประกาศขึ้นค่าแรงแบบทั่วประเทศโดยคำสั่งของรัฐบาล แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจแน่นอน  

แต่นักเศรษฐศาสตร์ยังเถียงกันไม่รู้จัดจบสิ้นว่าตกลงแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศควรจะออกมาในรูปแบบไหน ระหว่าง  

1. ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนบริษัทเพิ่มขึ้น บริษัทต้องเพิ่มราคาสินค้าและบริการ ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ขณะเดียวกันต้นทุนการบริหารเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องลดจำนวนแรงงาน และอาจใช้จักรกลเข้ามาแทนที่  

2. ค่าแรงเพิ่มขึ้น ทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้น ช่วยลดช่องว่างภาวะเงินเฟ้อ ทำให้บริษัทขายสินค้าและบริการได้มาก เศรษฐกิจจึงคึกคัก และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น  

นี่เป็นความเป็นไปได้ 2 แนวทางหลัก ซึ่งมันสามารถเป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทาง สมมติว่าวันหนึ่งค่าแรงไทยขึ้นมา 600 บาท มันก็อาจทำให้บริษัทรับไม่ไหวและเศรษฐกิจของชาติซบเซา แต่มันก็อาจทำให้แรงงานมีกำลังซื้อมากขึ้นและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนกัน  

การลงทุนจะอยู่หรือจะไป? 

ข้างต้นนั่นเป็นสถานการณ์สมมติสำหรับแรงงานกับนายจ้าง แล้วทุนจากต่างประเทศล่ะจะทำอย่างไรเมื่อไทยขึ้นค่าแรง? เพื่อที่จะตอบคำถามนี้เราสามารถย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในวันที่ไทยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท  

จากการศึกษาของ Fuangfoo, 2018 ที่ตีพิมพ์ใน พบว่าการขึ้นค่าแรง 39.5% มาเป็น 300 บาทเมื่อปี 2013 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ตรงกันข้าม การลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาไทยกลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐระหว่างปี 2014 - 2015 ผู้ทำการวิจัยจึงชี้ว่า การขึ้นค่าแรงไม่ได้กระทบต่อนักลงทุนจากต่างประเทศ แต่ปัจจัยอื่นๆ ต่างหากที่ส่งผลกระทบต่อทุนที่เข้ามาในไทย เช่น ความโปร่งใสของรัฐบาล, เสถียรภาพทางการเมือง, หรือความรุนแรงในประเทศ  

แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นไม่มีข้อสรุป เพราะงานวิจัยของ Kornkarun C. et al., 2015 ชี้ว่า ค่าแรงที่แพงขึ้นในไทยบวกกับคุณภาพแรงงานต่ำทำให้การลงทุนจากต่างประเทศไหลออกจากไทยในอัตราที่สูงมาก และ “การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องหนัง”

ตกลงแล้วมันดีหรือไม่ดี?

สำหรับลูกจ้างแล้ว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ดีตราบเท่าที่มันไม่ทำให้ต้นทุนของนายจ้างเพิ่มขึ้น และด้วยความที่นักเศรษฐศาสตร์มองกันคนละมุม ดังนั้น จนกว่าการขึ้นค่าแรงจะส่งผลกระทบอย่างใดอย่างหนึ่งเราคงไปคาดเดาอะไม่ได้ว่ามันจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดี หรือว่าเศรษฐกิจที่ซบเซา

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างยิ่งคือ วงจรของเงินเฟ้อ แม้ว่าหลายคนจะกลัวว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้ของแพงขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ขึ้นค่าแรง ประชาชนก็อาจะแบกรับสินค้าราคาแพงไม่ไหว ประเด็นก็คือ ควรจะขึ้นค่าแรงแบบไหน ระหว่าง 
 
  1. การขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อย่างที่รัฐบาลประยุทธ์ปรับขึ้นค่าแรงที่อัตรา 8-22 บาท/วัน หรือเพิ่มขึ้นต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท/วัน และเพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท/วัน มีอัตราค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท คิดเป็น 5.02% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 (หลังจากไม่มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563) 
  2. การขึ้นแบบพรวดเดียวหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอมาในเดือนธันวาคม 2565 โดยเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบการศึกษาปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 

เมื่อครั้งที่มีการขึ้นค่าแรงแบบพรวดเดียวมาที่ 300 บาทโดยพรรคเพื่อไทยในปี 2556 อัตราเงินเฟ้อหลังจากนั้นก็ไม่ได้พุ่งพรวด แต่กลับลดลงด้วยซ้ำ คือ ในปี 2556 อยู่ที่ 2.2% ในปี 2557 อยู่ที่ 1.9% ในปี 2558 อยู่ที่ -0.9% หลังจากนั้นก็เข้าสู่ช่วงยึดอำนาจโดย คสช. และตามด้วยรัฐบาลประยุทธ์ ในระหว่างนี้เงินเฟ้อก็ยังต่ำมาก และยิ่งต่ำมากในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด 

จนกระทั่งมาถึงปี 2565 เมื่อผ่านพ้นการระบาดใหญ่และเศรษฐกิจฟื้นตัว บวกกับต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นเพราะสงครามในยูเครน ทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จาก 2.17% ในเดือนธันวาคม 2564 มาอยู่ที่ ในเดือนมีนาคม 5.73% ปี 2565 จากนั้นมันก็เร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว จนถึงระดับ 7% ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม แต่มันเริ่มลดลงอีกครั้งในเดือนตุลาคม หลังจากราคาพลังงานค่อยๆ ถูกลงพอดีกับที่รัฐบาลประยุทธ์ตัดสินใจเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำพอดี

เราลองดูข้อมูลการขึ้นค่าแรงกับอัตราเงินเฟ้อเหล่านี้ ก็คงจะพบเห็นภาพแล้วว่ามันควรหรือไม่ควรขึ้นค่าแรงอย่างไร หรือขึ้นแล้วมันน่าจะใช้รูปแบบไหน 

สมมติว่าเราไม่มีค่าแรงขั้นต่ำ

สิงคโปร์เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เข้าข่ายประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนยังได้รับค่าแรงสูงมาก แต่สิงคโปร์ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ (ดูบทความเรื่อง “หรือว่ารวยแล้วไม่ต้องมีก็ได้ เปิดเหตุผลที่สิงคโปร์ไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ” ของ SPACEBAR ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้) โดยใช้วิธีที่รัฐบาลอุดหนุนผู้ที่มีค่าแรงต่ำโดยที่ผู้รับการอุดหนุนหรือช่วยเหลือรายได้ จะต้องแลกกับการเข้าโครงการพัฒนาทักษะ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ให้เหตุผลว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้แรงงานรู้สึกมั่นคงจนเกินไปจนไม่พัฒนาตัวเอง นอกจากเหตุผลของรัฐบาลแล้ว ยังมีผู้เสนอว่าสิงคโปร์ไม่ควรกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้เหตุผลต่างๆ ด้วย 

เหตุผลที่ยกขึ้นมาอ้างก็เช่น บางประเทศหรือดินแดนที่ใช้มาตรการค่าแรงขั้นต่ำ เช่น สหรัฐและฮ่องกงไม่สามารถขจัดความยากจนลงได้ และชี้ว่าประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ใช้มาตรการค่าแรงขั้นต่ำต่างประสบกับปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรงมาก 13.8% เทียบกับประเทศในยุโรปที่ไม่กำหนดค่าแรงขั้นต่ำอัตราเงินเฟ้อจะค่อนข้างเบากว่าที่เฉลี่ย 6.3% เรียกได้ว่าห่างกันครึ่งต่อครึ่ง  

นี่เป็นตัวเลขปี 2014  ซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์ใช้มาตรการโมเดลค่าแรงก้าวหน้า (Progressive Wage Model) เพื่อกำหนดค่าแรงขั้นต่ำให้กับบางอาชีพที่เป็นอาชีพใช้แรงงานทักษะต่ำ แต่การกำหนดมาตรการนี้ก็เกือบจะเป็นการประกาศค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันไม่ดีนักที่จะเอาเศรษฐกิจของประเทศไปผูกมัดกันค่าแรงที่ตายตัว   

แต่นี่คือโมเดลของสิงคโปร์ ซึ่งม่น่าจะใช้ได้กับไทย แต่ถ้านวันหนึ่งคนไทยมีรายได้ต่อหัวเท่ากับคนสิงคโปร์ ไม่แน่ว่าเราอาจจะคิดหันมาใช้โมเดลของสิงคโปร์ก็เป็นได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์