‘เจฟฟ์ เบโซส’ ซีอีโอ Amazon ทำ 8 สิ่งนี้ต่อเนื่อง จนเป็นมหาเศรษฐีโลก

20 พ.ย. 2565 - 06:20

  • ความสามารถด้านการเขียนระดับปรมาจารย์ของ ซีอีโอ Amazon

  • สะท้อนวิสัยทัศน์ วิธีคิด การปฏิบัติ และ การเป็นผู้นำ ที่ประสบความสำเร็จ

Brand-marketing-jeff-bazos-amazon-SPACEBAR-Thumbnail
นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้  ‘เจฟฟ์ เบโซส’ (Jeff Bezos) วัย 58 ปี เจ้าของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ Amazon ครองตำแหน่งมหาเศรษฐีโลกอันดับ 2 ประจำปี 2022 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 1.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ   

นอกจากความมั่งคั่งที่ทั่วโลกจับตาแล้ว  ‘เบโซส’  ยังมีอีกหนึ่งบุคลิกที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวมหาเศรษฐีหนุ่มใหญ่รายนี้ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นปรมาจารย์ด้านงานเขียน จากจุดเริ่มต้นการเขียนจดหมายรายงานประจำปีถึงบผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 1997 และทำมาอย่างต่อเนื่องกระทั่งลาออกจากการเป็นซีอีโอ ในปี 2021 ที่ผ่านมา  

Entrepreneur  วิเคราะห์จดหมายของเบโซส กว่า 48,000 คำ ที่ถูกถ่ายทอดในหนังสือ The Bezos Blueprint  โดย ‘ฌ็อง หลุยส์ กัสซี’ (Jean-Louise Gassee) อดีตผู้บริหาร Apple และผู้บริหารกองทุนซิลิกอน วัลเลย์ ยกย่อง ‘จดหมายของเบโซส สะท้อนความเป็นอัจฉริยภาพด้านการทำงานด้วยเนื้อหาที่ยอดเยี่ยมและเหมาะที่จะถูกนำไปใช้กับหลักสูตรธุรกิจเกี่ยวกับกลยุทธ์และการสื่อสาร’  ด้วยการทำ 8 สิ่งที่น่าประทับใจ เหล่านี้
 

  1. ร่ายมนตร์ภารกิจ

จดหมายฉบับแรกในปี 1997 ของเบโซส  กล่าวถึงหลักการตัดสินใจดำเนินธุรกิจในอีก 25 ปีถัดไป ซึ่งจะต้องครอบงำจิตใจลูกค้าให้ได้ ที่ต่อมากลายเป็นพันธกิจหลักที่เบโซส ได้ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรว่า ‘Amazon จะเป็นศูนย์กลางของลูกค้ามากที่สุดในโลก’

อย่างไรก็ตาม พันธกิจนี้จะไม่มีความหมายเลยหากไม่มีการนำกลับมาทบทวนเพื่อขยายผลต่อในทุกๆ ด้าน ตัวอย่างเช่น เบโซส ได้อ้างถึง ‘ลูกค้า’ 506 ครั้งผ่าน 24 ตัวอักษร เฉลี่ย 21 ครั้งต่อจดหมายหนึ่งฉบับ และยังให้เครดิตในภาระกิจการสร้างสูตรลับความสำเร็จของอเมซอนว่า ‘ลูกค้า’ เป็นสิ่งแรกที่ทำให้พวกเราประสบ‘ความสำเร็จ’
 

2. ใช้คำง่ายๆ พูดถึงเรื่องยากๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่าราว 70% จดหมายของเบโซส ยังเป็นข้อความที่อ่านง่ายสำหรับคนทั่วไปที่มีการศึกษาตั้งแต่อายุ 13-15 ปีขึ้นไป และเมื่อกิจการ Amazon ขยายใหญ่และมีความซับซ้อนมากขึ้น เบโซส ก็เลือกใช้คำที่เรียบง่ายเพื่อแสดงถึงแนวคิดที่ยิ่งใหญ่ 

ตัวอย่างเช่น จดหมายในปี 2007 เมื่อ เบโซส ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ ‘Kindle e-reader’ เป็นครั้งแรก  ด้วยการใช้คำที่มี 1 และ 2 พยางค์เกือบทั้งหมด ซึ่งการที่ เบโซส เลือกใช้คำที่เรียบง่ายนั้นไม่ได้ทำให้เนื้อหาดูด้อยค่าลงอย่างใด แต่กลับกลายว่าดูฉลาดเหนือคู่แข่ง ไปด้วยซ้ำ
 

3. (ส่วนใหญ่) ใช้รูปประโยค Active Voice

จากรูปประโยค ‘เบโซส ก่อตั้ง Amazon ในปี 1994’ สะท้อนการใช้ ‘Active Voice’ (การกระทำ) ของประธาน (เบโซส) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ (ก่อตั้ง)  ด้วยประโยคที่เขียนด้วยคำที่น้อยลง เข้าประเด็นเร็วขึ้นนั้น จะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า ซึ่ง เบโซส เลือกใช้การเขียนด้วยรูปประโยค Active Voice เป็นส่วนใหญ่ และมีเพียง 6.5% ของข้อความทั้งหมดเท่านั้น ที่เขาเลือกใช้รูปประโยค Passive Voice
 

4. ฝึกอุปมาอุปไมย

มีใครรู้บ้าง ที่มาชื่อบริษัท Amazon นั้นมาจากคำอุปมาอุปไมย โดย เบโซส เปรียบเทียบจากของสองสิ่งที่คล้ายคลึงกัน โดยในปี 1998 เบโซส ต้องการสื่อสารว่า ‘Amazon’ คือบริษัท ‘ร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ เช่นเดียวกับที่ Amazon ในอเมริกาใต้เป็น ‘แม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก’

เรื่องนี้ นักประสาทวิทยา อธิบายว่า สมองของมนุษย์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้คำอุปมาอุปไมยในการสื่อสารและประมวลผล เมื่อเราพบเจอสิ่งใหม่ๆ สมองจะเริ่มทำงานและค้นหาการเปรียบเทียบกับสิ่งที่คุ้นเคย โดยนักสื่อสารที่ดีจะทำงานแทนผู้อ่านและผู้ฟัง โดยใช้คำอุปมาอุปไมยเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ซึ่ง เบโซส มักใส่ข้อความคำอุปมาอุปไมยในจดหมายของเขา เมื่อต้องการอธิบายแนวคิดที่ซับซ้อนอยู่เสมอ  

ครั้งหนึ่ง ‘อริสโตเติล’ เคยกล่าวว่าการอุปมาเป็น ‘อาวุธที่น่าเกรงขามที่สุด’ ของผู้พูด ซึ่งเบโซส กลับใช้สิ่งนี้ได้ราวกับปรมาจารย์
 

5. จำไว้ว่างานเขียนที่ดีต้องใช้เวลา

ในช่วงปี 2547 เบโซส เคยตัดสินใจ ‘แบน’ การใช้ Power Point ของทีมหลีดเพื่อเสนอผลงาน และเสนอให้ใช้บันทึกช่วยจำจำนวน 6 แผ่น ในการบรรยายผลงานแทน ซึ่งเขาได้ระบุไว้ในจดหมายผู้ถือหุ้นปี 2017 แม้ว่าเมโมเหล่านี้จะมีคุณภาพการเขียนที่แตกต่างกันออกไป แต่กลับพบว่ามีบางชิ้นให้ ‘ความชัดเจนราวกับทูตสวรรค์ร้องเพลง’ เลยทีเดียว  

เบโซส อธิบายว่า การเขียนว่าเป็นเรื่องยากแล้ว และการเขียนที่ดีก็ต้องใช้เวลา อย่างการนำเสนอผลงานผ่านเมโม 6 แผ่นนั้น ซึ่งในความเป็นจริงอาจต้องใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์หรือมากกว่านั้น พร้อมกล่าวถึง “บันทึกช่วยจำที่ดีจะถูกเขียนและมีการเขียนใหม่ เพื่อแชร์ให้กับเพื่อนร่วมงานเพื่อปรับปรุงการทำงานที่ดีขึ้น แน่นอนว่ามันไม่สามารถทำได้เสร็จภายในวัน หรือ สองวัน”
 

6. อยู่รอบๆ คนเก่งเข้าไว้

จดหมายของเบโซส ในปี 1998 เขายังได้เปิดเผยแนวทางการตั้งคำถามในการจ้างงานระดับผู้จัดการของ Amazon เพื่อประเมินผู้สมัครงาน ด้วยคำถามเหล่านี้ 
  • คุณจะชื่นชมคนนี้หรือไม่? เบโซส กล่าวว่า “เขามักจะพยายามทำงานร่วมกับผู้คนที่เขาสามารถเรียนรู้ได้จากพวกเขา หรือมองว่าเป็นตัวอย่างแห่งความเป็นเลิศ”
  • คนนี้ จะยกระดับประสิทธิภาพของทีมได้หรือไม่? หากคุณต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน จงคบคนที่สร้างความท้าทายกับการเป็นตัวเราที่ดีที่สุด  
  • คนๆ นั้นจะเป็นซูเปอร์สตาร์ในด้านใด? จงใช้เวลาของคุณกับซูเปอร์สตาร์ (คนเก่ง) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณและตั้งเป้าหมายให้สูงกว่าที่ฝันไว้


7. ถอยหลัง เพื่อก้าวไปข้างหน้า

นอกจากนี้ เบโซส ยังได้ท้าทายทีมผู้บริหาร Amazon ด้วยวิธีการทำงานย้อนกลับจากมุมมองของลูกค้า โดยเขียนข่าวประชาสัมพันธ์จำลองก่อนจะสร้างสินค้า โดยในปี 2008 ราวสี่ปีก่อนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Kindle ทีมงาน Amazon ได้เขียนข่าวประชาสัมพันธ์ที่มีข้อความว่า ‘หนังสือทุกเล่ม ที่เคยพิมพ์ในทุกภาษา พร้อมให้บริการทั้งหมดโดยใช้เวลาไม่ถึง 60 วินาที’

แอนดี แจสซี หนึ่งในผู้บริหาร Amazon กล่าวว่า “ข่าวประชาสัมพันธ์ลักษณะนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อกำจัดประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ออกไปทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าเรากำลังแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างแท้จริง”  
 

8. รักษาวัฒนธรรม ‘วันแรก’

นับตั้งแต่ปี 1998 เบโซส ได้แนบสำเนาจดหมายฉบับแรกของเขาพร้อมข้อความเตือนใจว่า "เป็นวันแรกเสมอ" (It’s always Day1)  

‘วันแรก’ ไม่มีอะไร แต่เป็นความคิดที่หมายถึงการหมกมุ่นอยู่กับลูกค้า คิดระยะยาว และกล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ก่อนที่ เบโซส จะเปิดเผยโฉมหน้า ‘วันที่ 2’ ต่อมาในปี 2016 ซึ่งเขา ได้เขียนไว้ในจดหมายว่า  

“วันที่สอง คือ ภาวะชะงักงัน ตามมาด้วยความปรวนแปร ตามมาด้วยการถดถอยอย่างเจ็บปวดทรมาน ตามมาด้วยความตาย และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นวันแรก เสมอ”

เจฟฟ์ เบโซส บริหารธุรกิจ Amazon เป็นเวลา 9,863 วัน โดยอ้างอิงถึงวันแรกสม่ำเสมอ พร้อมเปลี่ยนคำอุปมาอุปไมยจากคำพูดให้กลายเป็น ‘บลูพรินต์’ เกี่ยวกับ วิธีคิด การกระทำ และการเป็นผู้นำ  


ที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของเขาออกมาได้อย่างน่าทึ่ง

https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/47ud4ICmK17bG0P8FIinkp/d6a27a77436b12479ff422c9383472e5/Brand-marketing-jeff-bazos-amazon-INFO-Edit02-01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์