ที่น่าสนใจคือ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่คนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองใช้มากที่สุดในปี 2565 ไม่ใช่สื่อออนไลน์ แต่เป็น อีคอมเมิร์ซ (95%) รองลงมาได้แก่ บริการจัดส่งอาหาร (78%) ของใช้ทั่วไป (63%) วิดีโอออนดีมานด์ (53%) และเกม (56%) นี่คือตัวเลขจากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2022 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย Google ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา Bain & Company และ Temasek
อย่างไรก็ตามผู้บริโภคจะเจอแรงกดดันหนักจากค่าครองชีพสูง ตั้งแต่ของใช้ทั่วไป อาหาร บริการต่างๆ ไปจนถึงน้ำมันที่มีราคาแพงขึ้น แต่รายได้ของตนเองยังเท่าเดิม ดังนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงยังเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกเป็นหลัก ขณะที่ 39% ของคนไทยมองว่าการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือให้ความสำคัญกับความยั่งยืนจะช่วยประหยัดในระยะยาว เช่น รถยนต์ไฟฟ้า
ทีนี้ ลองมาดูตัวเลขการคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) กันบ้างว่า มีกลุ่มธุรกิจไหนที่จะรักษาอัตราการเติบโตได้ดีและมีโอกาสไปได้ไกล

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอะไร?
-
ธุรกิจสายอีคอมเมิร์ซ สื่อออนไลน์ และบริการส่งอาหาร จะยังคงรักษาอัตราการเติบโตไว้ได้หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะบริการเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว เพียงแต่คนไม่ได้ใช้บริการบ่อยๆ เมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดโรคระบาด
-
บริการทางการเงินดิจิทัลที่เติบโตสูงในช่วงโควิด-19 จะยังรักษาระดับได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการกู้ยืมและการลงทุนซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต
-
ผู้บริโภคจะมองหาบริการด้านการเงินที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง และช่วยวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น บริการจ่ายทีหลัง (Pay Later) การกู้ยืม การลงทุน และประกัน
-
ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ เช่น บริการจองที่พักอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 2 ปี แต่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีนับตั้งแต่ปี 2565-2568 จะสูงถึง 52% เลยทีเดียว