ดอกเบี้ย Fed อาจขึ้นแรงเกินไปจนเศรษฐกิจตกอยู่ในความเสี่ยง

6 ม.ค. 2566 - 05:19

  • ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่คิดว่าในปีนี้จะเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ยังหนักอยู่

  • แต่เฟดจะทำได้สำเร็จหรือไม่โดยปราศจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

Business- fed-interest-rates-hike-may-put-the-economy-at-risk-SPACEBAR-Thumbnail
ดูเหมือนว่าอัตราดอกเบี้ยทั้งในสหรัฐฯและทั่วโลก (รวมถึงไทย) อาจจะยังสูงไปเรื่อยๆ อย่างน้อยก็ในปีนี้ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ไม่คิดว่าในปีนี้จะเป็นเวลาที่ “เหมาะสม” ที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยโดยที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง ตามรายงานการประชุมนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา 

เฟดทุ่มเทสรรพกำลังอย่างเต็มที่เพื่อทำให้เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯเสียหายน้อยลงเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในปีที่แล้ว โดยเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐาน 7 เท่าเพื่อบรรเทาอุปสงค์ 

ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงระหว่าง 4.25% ถึง 4.50% หลังการประชุมของเฟดในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2550 

แต่ผู้กำหนดนโยบายของเฟดเชื่อว่า “จะต้องมีการรักษาจุดยืนนโยบายที่เข้มงวด” จนกว่าข้อมูลจะแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเส้นทางขาลงอย่างยั่งยืน ตามรายงานการประชุมเมื่อเดือนที่แล้ว เป้าหมายคือให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาอยู่ที่ 2% 

“ไม่มีผู้เข้าร่วมประชุมคนใดคาดคิดว่าจะเป็นการเหมาะสมที่จะเริ่มลดเป้าหมายอัตราเงินของรัฐบาลกลางในปี 2023” รายงานการประชุมกล่าวเสริม 

แม้ว่าเฟดจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมหลังจากขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง แต่รายงานล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าเฟดที่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับ “ความเข้าใจผิด” ต่อท่าทีของธนาคารกลาง 

เจ้าหน้าเฟดที่เตือนว่าการผ่อนคลายเงื่อนไขทางการเงินโดย “ไม่สมควร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการทำไปโดยคล้อยตามความเข้าใจผิดของสาธารณะ จะทำให้ความพยายามในการฟื้นฟูเสถียรภาพราคาซับซ้อนขึ้น เนื่องจากนโยบายการเงินทำงานผ่านตลาดการเงินเป็นสำคัญ รายงานระบุ 

ผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนหนึ่งยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการ “สื่อสารอย่างชัดเจน” ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ช้าลงไม่ได้เป็นสัญญาณของวางมือจากการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ
 

ตลาดแรงงานตึงตัว

สำหรับตอนนี้ อัตราเงินเฟ้อยังคง “คงอยู่และสูงจนไม่สามารถยอมรับได้” และการเติบโตของ GDP “ที่ต่ำกว่าแนวโน้มชั่วระยะเวลาหนึ่ง” เป็นสิ่งที่จำเป็น รายงานระบุ 

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การใช้จ่ายมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและครัวเรือนต่างๆ ใช้เงินที่เก็บออมในช่วงการระบาดใหญ่ และความเคลื่อนไหวนี้อาจดำเนินต่อไป 

แต่เจ้าหน้าที่เฟดบางคนยังตั้งข้อสังเกตว่าปในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเริ่มที่จะมีปัญหาเรื่องการเงิน โดยผู้บริโภคจำนวนมากเปลี่ยนไปใช้ตัวเลือกอื่นที่มีราคาไม่แพง 

เฟดจึงมองว่าเรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวม  

เฟดมองว่าตลาดแรงงานยังคง “ตึงตัวมาก” ด้วยอัตราการว่างงานต่ำ เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และการเติบโตของค่าจ้างที่สูงขึ้น 

นี่เป็นสาเหตุของความกังวล โดยเจ้าหน้าที่เฟดกังวลว่าค่าจ้างที่สูงขึ้นจะดึงต้นทุนการบริการที่สูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค 

รายงานการประชุมระบุว่า เบื้องต้นมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเรื่องนี้ แต่เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานจะ “เข้าสู่ภาวะสมดุลที่ดีขึ้น” ด้วยการยึดมั่นกับนโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างเหมาะสม
 

เสี่ยงที่จะเจ็บตัว

ไรอัน สวีต (Ryan Sweet) จากบริษัท  Oxford Economics กล่าวว่า “เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว รายงานการประชุมครั้งนี้เน้นย้ำว่าเฟดกำลังจะลดอัตราเงินเฟ้อโดยเสี่ยงที่จะทำร้ายตลาดแรงงานและเศรษฐกิจในวงกว้าง”  

เขาเสริมว่าเฟดวางแผนที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของต้นทุน แต่ “พวกเขาจะทำได้สำเร็จหรือไม่โดยปราศจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน” 

ในรายงานการประชุม ผู้กำหนดนโยบายเฟดยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างสมดุลของนโยบายที่เข้มงวดกับ “การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจสร้างภาระที่ใหญ่ที่สุดให้กับกลุ่มที่เปราะบางที่สุด” 

เอียน เชพเพิร์ดสัน (Ian Shepherdson) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pantheon Macroeconomics กล่าวว่า สำหรับตอนนี้ สมาชิกของคณะกรรมการกำหนดนโยบายตลาดเปิดของรัฐบาลกลางกำลังมุ่งเน้นไปที่อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันและความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ 

ในทางตรงกันข้าม “ความกลัวเรื่องการใช้นโยบายควบคุมทางการเงินจนมากเกินไป” กลับได้รับความสนใจน้อยกว่า เขากล่าว 

“อย่าคาดหวังว่าพวกเขาจะลดอัตราเงินเฟ้อลงจนกว่าจะเห็นได้ชัดว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างร้ายแรงในข้อมูล (ทางเศรษฐกิจ)” เชพเพิร์ดสันกล่าวเสริม    

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์