หัวอกลูกจ้างจากฝรั่งเศสถึงไทย ทำงานหนักขึ้น เกษียณยากขึ้น จนมากขึ้น

2 กุมภาพันธ์ 2566 - 09:53

Business-pension-crisis-work-harder-retire-even-harder-SPACEBAR-Thumbnail
  • การประท้วงต่อต้านการปฏิรูประบบสวัสดิการหลังเกษียณที่ฝรั่งเศสสะเทือนมาถึงระบบสวัสดิการคนทำงานที่เมืองไทยด้วย

  • รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการหลังเกษียณที่แย่ที่สุดในโลก ในขณะที่คนสูงวัยในบ้านเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ฝรั่งเศส ซึ่งมันอาจดูเหมือนเรื่องไกลตัวจากคนไทย แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวมากๆ โดยเฉพาะกับคนทำงานที่ต้องเก็บเงินเอาไว้ใช้ยามเกษียณด้วย ต้องจ่ายภาษีหนักๆ ด้วย แต่สวัสดิการที่รอพวกเขาในอนาคตกลับไม่แน่ไม่นอนเอาเลย ทั้งยังเสี่ยงที่ต้องทำงานกันนานขึ้น 

มาดูกันก่อนว่าที่ฝรั่งเศสเขาประท้วงเรื่องอะไร นี่คือประเด็นหลักๆ  

1. ออมเงินใช้ตอนแก่วุ่นวายมากขึ้น 
ระบบจ่ายเงินสวัสดิการหลังเกษียณที่เริ่มปฏิรูปในปี 2019 ทำให้คนทำงานลำบากขึ้นในการคาดเดาว่าพวกเขาจะมีเงินเก็บแค่ไหนตอนที่เกษียณอายุแล้ว เพราะเมื่ออายุขนาดนั้นแล้ว ทุกคนอยากจะรู้ชัดๆ ว่ามีเงินพอใช้ชีวิตหลังการทำงานแค่ไหน  

2. เงินในกองทุนหลังเกษียณลดลง 
มีการลดเกณฑ์เงินเดือนสูงสุดจาก 29,000 ยูโรเป็น 10,000 ยูโร แม้ว่าจะทำให้คนรายได้น้อยมีโอกาสออมเงินในกองทุนหลังเกษียณมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้รายได้ของกองทุนบำเหน็จบำนาญลดลง 4,900 ล้านยูโรต่อปี หมายความว่าไม่แฟร์กับคนที่ออมเงินอยู่แล้ว 

3. ต้องทำงานนานขึ้นกว่าจะเกษียณ 
แต่การแก้วิธีเก็บเงินยังไม่ใช่เรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่กว่าคือมีการขยายอายุวัยเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี ทำให้คนทำงานต้องทำงานนานปีขึ้น แต่โอกาสจะใช้เงินสวัสดิการหลังเกษียณน้อยลง 

4. ในอนาคตอาจต้องทำงานจนแก่ตาย 
ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่ยังไม่เพิ่มอายุเกษียณ โดยประเทศในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่มีอายุเกษียณตามกฎหมายที่ 65 ปี เยอรมนี สเปน และเนเธอร์แลนด์มีอายุเกษียณ 66 ปี ขณะที่อิตาลีอายุ 67 ปี 

โดยเฉพาะ 2 ข้อหลัง สะท้อนถึงปัญหาใหญ่ของประเทศรายได้สูงไปจนถึงประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มนี้) นั่นคือปัญหาอัตราการเกิดของประชากรต่ำ ทำให้ในอนาคตจำนวนคนทำงานจะน้อยลง ทำให้รายได้สมทบเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญจะลดลง ดังนั้น จึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมประเทศต่างๆ จึงเลื่อนกำหนดการเกษียณอายุให้นานขึ้น และทำไมฝรั่งเศสจึงลดเกณฑ์เงินเดือนผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมกองทุนบำเหน็จบำนาญ 

แล้วปัญหาที่ฝรั่งเศสเกี่ยวกับคนไทยอย่างไร? มันเกี่ยวตรงที่ว่าประเทศไทยกำลังจะเจอปัญหาเดียวกับฝรั่งเศส และประเทศรายได้สูง แต่ประเทศไทยมีรายได้ปานกลาง มีระบบภาษีที่ไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากร และมีอัตราการเกิดต่ำ ยังไม่นับกรจัดอันดับให้ระบบสวัสดิการของไทยอยู่ในอันดับรั้งท้ายของโลก จากการจัดอันดับ 44 ประเทศโดย CFA Institute Global Pension Index 

มาดูกันว่าปัญหาที่คนทำงานไทยจะต้องเจอหนักกว่าคนฝรั่งเศสคืออะไรบ้าง 

1. คนแก่มากขึ้น คนทำงานน้อยลง 
ประเทศไทย เป็นประเทศแห่งผู้สูงวัยแล้ว ค่าเฉลี่ยอายุคนไทยที่สูงถึง 40.1 ปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่แค่ 30.4 ปี เทียบกับฝรั่งเศสที่ 42.2 ปี ในแง่นี้ไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์แบบเดียวกับฝรั่งเศส 

2. ฝรั่งเศสแก่มากขึ้น แต่เงินได้มากอยู่ดี 
ในขณะที่ฝรั่งเศสต้องเจอกับเงินบำนาญหลังเกษียณที่ไม่แน่ไม่นอนขึ้น แต่โดยเฉลี่ยหลังเกษียณแล้วคนฝรั่งเศสจะได้รับเงิน 1,509 ยูโร ซึ่งนี่เป็นเงินที่คนทำงานใช้แรง 62.9% ได้รับ (ตัวเลขปี 2020) 

3. ลูกจ้างไทยเก็บเงินให้ตายก็ไม่พอใช้ 
ขณะที่แรงงานฝรั่งเศสหลังเกษียณได้เงินคนละประมาณ 54,000 ต่อเดือน แต่พนักงานชนชั้นกลางในไทยจะต้องเก็บเงินให้ได้ 3 ล้านบาท เพียงเพื่อที่จะมีเงินไว้ใช้เดือนละ 10,000 บาทซึ่งจะหมดไปใน 10 ปี 

4. คนไทยไม่ร้อมมีชีวิตหลังเกษียณที่ดี 
ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ พบว่าคนไทยที่พร้อมรับชีวิตหลังเกษียณที่สุดคือข้าราชการ (เพราะมีระบบสวัสดิการหลังเกษียณที่แน่นอน) ส่วนกลุ่มอาชีพที่ไม่พร้อมที่สุดคือ รับจ้างกับอาชีพอิสระ  

อย่างที่บอกสาเหตุไว้ก่อนหน้านี้ ปัญหาพวกนี้จะเลวร้ายลง มีสิ่งเดียวที่จะช่วยไม่ให้คนไทยต้องมีชีวิตตอนแก่ที่ยากลำบาก คือ ต้องปฏิรูประบบสวัสดิการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร แบบเดียวกับ Central Provident Fund ของสิงคโปร์ที่บังคับให้ประชากรทุกคนต้องออมเพื่อตัวเองหลังเกษียณ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2u4DHSm4DbJWkpzHntwGER/1b8535eafa5e2b080d12afb8ab221119/Business-pension-crisis-work-harder-retire-even-harder-SPACEBAR-Photo01
Photo: AFP

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์