CRG วาง 5 กลยุทธ์ รับเชนร้านอาหารกลับมาสดใส ฟื้นแผนเข้าเวียดนาม

22 มี.ค. 2566 - 02:46

  • เซ็นทรัล เรสตอรองส์ (CRG) ประกาศเดินหน้าสร้างการเติบโตผ่าน 5 กลยุทธ์

  • ลุยลงทุนขยายร้านอาหารเพิ่ม 150 สาขา เน้นแบรนด์ศักยภาพ สร้างรายได้งาม

  • เล็งแบรนด์ใหม่ 1-2 แบรนด์ เสริมพอร์ตโฟลิโอ

CRG-The-Next-Chapter-of-Growth-SPACEBAR-Hero
‘เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป’ หรือ CRG ประกาศ กลับมาโต เหมือนช่วงก่อนโควิดแล้ว ลุยลงทุนขยายร้านอาหารเพิ่ม 150 สาขา ปักธงต่างแดน นำร่องเวียดนาม พร้อมพัฒนา CRG Ecosystem หนุนพันธมิตร ‘โตร่วมกัน’ 

ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ฉายภาพธุรกิจร้านอาหาร ว่า กำลังอยู่ในทิศทางที่ดี แนวโน้มสดใส CRG จึงวางกลยุทธ์สร้างการเติบโตเต็มที่ โดยตั้งเป้าหมายขยายสาขาเพิ่ม การเพิ่มพันธมิตรเป็นแบรนด์ใหม่ๆ และการฟื้นแผน ขยายธุรกิจไป ‘เวียดนาม’ ด้วย 

เผย ปี 65 เป็น Top 3 เชนร้านอาหารไทย 

สำหรับผลประกอบการปี 2565 ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นปีที่พลิกฟื้น มียอดขายทั้งหมดประมาณ 1.28 หมื่นล้านบาท เติบโตตามเป้าที่วางไว้  โดยมีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้น 3 แบรนด์ คือ ‘ชินคันเซ็น ซูชิ’ ที่ผ่านการ Joint Venture มาเมื่อเดือน พ.ค. 2565 ซึ่งต่อมาได้เปิดแบรนด์ปิ้งย่างภายใต้แบรนด์ ‘นักล่าหมูกระทะ’ นอกจากนี้ปีที่แล้วยังมีการเปิดร้าน ‘ราเมน คาเกทสึ อาราชิ’ ซึ่งเป็นแบรนด์ราเมนอันดับ 3 ในญี่ปุ่นด้วย 

ทำให้ปัจจุบัน CRG มีธุรกิจร้านอาหารอยู่ในเครือถึง 20 แบรนด์ รวมกว่า 1,500 สาขา เป็นการเปิดสาขาใหม่ในปีที่แล้ว 200 สาขา 

หลายปัจจัย หนุนเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารปี 66 คึกคัก 

สำหรับแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารปี 2566 นั้น มองว่า ในภาพรวมเห็นการฟื้นตัวเต็มที่ จากปัจจัยโควิด-19 คลี่คลาย ผู้บริโภคออกมาช้อป ชิล ชิม หรือรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจการบริโภค แม้เทรนด์การบริโภคอาหารภายในร้าน กลับมาคึกคักเติบโต แต่บริการเดลิเวอรี่ สั่งอาหารผ่านออนไลน์ยังขยายตัวได้ เป็นอัตราชะลอลงชั่วคราวเท่านั้น บริษัทจึงให้ความสำคัญ ในการทำตลาดต่อเนื่องกระตุ้นการเติบโต   

ณัฐ ยังมองว่า ปี 2566 มีความท้าทายสำหรับธุรกิจร้านอาหาร โดยผู้ประกอบการต้องรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น การขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากตลาดฟื้นตัว ทำให้ความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น ในปี 2566 บริษัทได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้ Concept ‘ก้าวต่อไปแห่งการเติบโต’ หรือ The Next Chapter of Growth วาง 5 กลยุทธ์สำคัญ ประกอบด้วย 

1. เร่งเติมเต็มศักยภาพการเติบโต ด้วยการขยายร้านอาหารสาขาใหม่ ซึ่งตั้งเป้าไว้ที่ไม่น้อยกว่า 150 สาขา  

2. สร้างธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต ใน 2 มิติ ได้แก่ การมองหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งตามแผนงานบริษัทวางเป้าหมายจะเพิ่ม 1-2 แบรนด์ต่อปี และการขยายโอกาสสู่ตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม รองรับประชากรที่มีขนาดเกือบ 100 ล้านคน เป็นคนรุ่นใหม่ และมีกำลังซื้อขยายตัว  

3. ผนึกพันธมิตรสร้างการเติบโตร่วมกัน โดยจะมีการเร่งขยายสาขาของร้านอาหารเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเปิดร้านในรูปแบบ Stand Alone 

“บริษัทวางแผนเพิ่มร้านอาหารแบรนด์ใหม่ 1-2 แบรนด์ แต่ปี 2565 สร้างความสำเร็จเกินเป้าหมาย เพราะมี 3 แบรนด์ใหม่เข้ามาเสริมพอร์ตโฟลิโอ ขณะเดียวกัน บริษัทจะนำธุรกิจร้านอาหารไปบุกตลาด เวียดนามอีกครั้ง หลังจากช่วงโควิด-19 ระบาดต้องชะลอแผนออกไป โดย 2 ปัจจัยจะเป็นกลยุทธ์สร้าง การเติบโตใหม่ให้บริษัท” ณัฐ กล่าว  

4. เพิ่มประสิทธิผล ของการทำงานรอบด้าน ด้วยกลยุทธ์ 3C คือ Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด, Capex เน้นการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด  

และ 5. ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  

ซึ่งปี 2566 บริษัทจะให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหลายมิติ โดยทำงานตามหลัก C-R-G เป็น 3 แกน ได้แก่  
  1. Care For People ด้านบุคลากร มีการเปิดกว้างรับความหลากหลายของพนักงานเข้าทำงาน  
  2. Reduce Greenhouse Gases มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม  
  3. และ Green Waste & Environment ลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบ ในกระบวนการผลิตอาหาร 
อย่างไรก็ตาม จากแผนงาน The Next Chapter of Growth บริษัทคาดการณ์ยอดขายจะเติบโตอัตรา 2 หลัก หรือมียอดขายรวม 15,000 ล้านบาท เติบโต 20% จากปี 2565 บริษัทมียอดขายรวม 12,800 ล้านบาท ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมาบริษัทมีภารกิจสำคัญ เพื่อกลับมาสู่ ความยิ่งใหญ่กว่าเดิม หรือ GREATER WE สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ การหาโอกาสใหม่ หรือ New S-Curve เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ ด้วยการลงทุนขยายสาขาใหม่ ของร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ เพิ่มขึ้น การพัฒนาโมเดลร้านรูปแบบใหม่ การร่วมมือกับพันธมิตรเสริมความแข็งแกร่ง การพัฒนาระบบนิเวศหรือ Ecosystem ต่อยอดธุรกิจ 

สำหรับร้านอาหารภายใต้การดูแลของ CRG มีจำนวน 20 แบรนด์ ดังนี้ 

  1. มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut) 
  2. เคเอฟซี (KFC) 
  3. อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s) 
  4. เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) 
  5. ชาบูตง ราเมน (Chabuton), 
  6. โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) 
  7. ไทยเทอเรส (Thai Terrace) 
  8. โยชิโนยะ (Yoshinoya) 
  9. โอโตยะ(Ootoya) 
  10. เทนยะ (Tenya) 
  11. คัตสึยะ (Katsuya) 
  12. อร่อยดี (Aroi Dee) 
  13. เกาลูน (Kowlune) 
  14. สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) 
  15. บราวน์ (Brown) 
  16. อาริกาโต (Arigato) 
  17. ส้มตำนัว (Somtam Nua) 
  18. ชินคันเซ็น ซูชิ (Shinkanzen Sushi) 
  19. ราเมน คาเกทสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi) 
  20. นักล่าหมูกระทะ (Nakla-mookata) 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์