APEC พลังงานที่สหรัฐฯ ไทยเคลื่อนเป้า ร่วม 21 ประเทศ

9 ส.ค. 2566 - 02:26

  • ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 13

  • ร่วมเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และกำหนดเป้าหมายใหม่ด้านพลังงาน 21 เขตเศรษฐกิจ มีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ 15-16 สิงหาคมนี้

Cabinet-approves-APEC-Energy-Ministers-Statement-security-SPACEBAR-Thumbnail
‘พลังงาน’ ความท้าทายใหม่ด้านหนึ่ง ซึ่งคนทั่วโลกกำลังหนุนความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ และการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 สิงหาคม 2566 ก็มีมติต่อเรื่องนี้  

โดย รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมฯ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค (APEC Energy Ministers' Statement) ครั้งที่ 13 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2566 ณ เมืองชีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริก  

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Creating a Resilient and Sustainable Future for All ซึ่งเป็นเวทีในการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของรัฐมนตรีพลังงาน 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคในการส่งเสริมความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ การแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันและอนาคต การรับมือกับความท้าทายต่อความมั่นคงด้านพลังงาน การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน 

ร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานเอเปค (APEC Energy Ministers' Statement) ครั้งที่ 13 นี้ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีพลังงานเอเปคในการกำหนดทิศทางและวางกรอบนโยบายความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกัน ซึ่งมีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนความร่วมมือตามเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy: BCG) และวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ที่มุ่งเน้น “การเปิดกว้าง มีพลวัต พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีสันติภาพ” เพื่อให้เขตเศรษฐกิจเอเปคสามารถบรรลุเป้าหมายด้านพลังงานของเอเปค (APEC Energy Goals) ได้แก่  
  1. เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 2 เท่าภายในปี ค.ศ.2030  
  2. เป้าหมายการลดค่าความเข้มของการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลงร้อยละ 45 ภายในปี ค.ศ.2035 เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality  
  3. เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานและพลังงานที่มีความยั่งยืนร่วมกัน 
มากไปกว่านั้น การประชุมครั้งนี้ จะเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งเชื้อเพลิงปลอดคาร์บอนและแหล่งเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้ได้ประมาณร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ.2035 และร่วมกันลดการปล่อยมีเทนอย่างน้อยร้อยละ 50 จากภาคพลังงานฟอสซิลภายในปี ค.ศ.20230 (เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2020) โดยลดการปล่อยมีเทนจากกระบวนการผลิตน้ำมันและก๊าช และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคถ่านหิน  

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกายังเสนอการจัดตั้งข้อริเริ่มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเป็นธรรม (Just Energy Transition Initiative) Just Energy Transition Initiative) เพื่อส่งเสริมความพยายามในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของเขตเศรษฐกิจเอเปคอย่างเป็นธรรมและครอบคลุม ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคแรงงาน 

สำหรับร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ เป็นการให้แนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด รวมถึงการจัดทำเป้าหมายใหม่ด้านพลังงานของเอเปค เพื่อสนับสนุนความพยายามของโลกในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์และความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและปรับปรุงการเข้าถึงพลังงานให้ครอบคลุมและยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับท่าทีของไทยโดยรวมในเอเปค รวมทั้งสานต่อการทำงานของเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นผลลัพธ์สูงสุดของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยปี 2565 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์