AI ผิดไหม? ตรวจโกงไทย ไม่ถึงไหน?

6 ก.ย. 2566 - 10:01

  • วันต่อต้านคอร์รัปชัน ย้อนมองประเทศไทย ในวันที่ทั่วโลกมี AI ช่วยตรวจสอบ ชี้ ไทยก็มีแล้ว แต่การ ‘โกง’ ก็ยังเหมือนเดิม

  • จับตาการพัฒนา AI ประเทศไทย และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ทัน-ไม่ทัน?

Corruption-Thailand-ACT-AI-transparency-Government-open-data-SPACEBAR-Thumbnail
6 กันยายน วันต่อต้านคอร์รัปชัน... วันที่รัฐบาล และองค์กร ออกมาจัดกิจกรรม ‘ต่อต้านการโกง’ แต่ดูเหมือนว่า บรรยากาศและสีสันการจัดงานจะไม่คึกคัก รึอาจแค่เป็นพิธี  

ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกต ‘ต้านโกงบ้านเราทำกันเงียบๆ ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่’ มองการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการต้านโกง มีการใช้ AI เหมือนต่างประเทศ มีเครื่องมือทันสมัย แต่การ ‘โกง’ ก็ยังเหมือนเดิม  

สองสามปีก่อนแม้จะเป็นช่วงโควิด-19 ยังมีการจัดแข่งขัน นำ AI มาใช้ต้านโกง ด้วยการใช้ประโยชน์จาก Open Data ในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรทางสังคม มาผ่านการสแกนหาจุดผิดปกติ ของการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีหลายโปรเจ็กต์ดีของคนรุ่นใหม่ แต่พอจบโครงการแล้ว ทุกอย่างจบ หายเงียบไปซะอย่างงั้น! 

คอขวดของการจัดการปัญหาคอร์รัปชันด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ ‘ทำไม่ได้’ เพราะกลไกที่จะเอื้ออำนวยต่อการใช้ AI ไม่เอื้อให้การตรวจสอบทำได้จริง การเข้าถึงฐาน open Data ไม่ได้ Open จริง ข้อมูลเก่า ไม่อัพเดต ไม่เชื่อมโยงกัน แถมมีนักการเมือง ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นทีส่วนเกี่ยวข้อง 

ทั่วโลก ‘ต้านโกง’ แบบไหน? 

การเปิดเผยข้อมูลเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ไต้หวัน เป็นประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเป็นอันดับ 1 จากการจัดลำดับของ global data index ในปี ค.ศ. 2016 เพราะมีการเปิดเผย ข้อมูลในหลายด้าน เช่น งบประมาณภาครัฐ ข้อมูลสถิติต่างๆ รวมไปถึงผลการเลือกตั้ง

สหรัฐอเมริกา เปิดการเข้าถึงเรื่องงบประมาณ 

ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา นโยบายการเปิดเผยข้อมูลก็ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรกของการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ บารัค โอบามา ในปี ค.ศ. 2009 เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Memorandum on Transparency and Open Government) เพื่อสร้างรัฐที่เปิดเผยและมีความรับผิดชอบ ลดอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากนักล็อบบี้ การเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนเข้าถึงง่าย ก็สามารถติดตามการใช้จ่ายงบประมาณได้ และถือเป็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมีบทบาทต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง และนำไปสู่การมี Open Government Initiative  

อังกฤษ ให้ใช้ข้อมูลภาครัฐอย่างเปิดเผย 

ส่วนสหราชอาณาจักร ภายใต้แนวนโยบาย Government Transformation Strategy : better use of data ที่ได้จัดทำเว็บไซต์ data.gov.uk ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลของภาครัฐไปใช้ได้อย่างเปิดเผย และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐยังถูกเขียนไว้ใน UK Anti-Corruption Plan เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ลดปัญหาการทุจริต 

การเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นข้อมูลสำหรับการต้านคอร์รัปชันเท่านั้น แต่สามารถเป็นชุด ข้อมูลใดๆ ที่จะสามารถเพิ่มโอกาสให้กับประชาชน ได้ใช้ข้อมูลเปิดเผยเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ  

ไทย เริ่มเปิดเผยข้อมูลแล้ว 

และที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่ง ภาครัฐไทยคือ วันนี้เริ่มมีการเปิดข้อมูลมากขึ้นแล้ว แต่ยังไม่หมด ถ้าจะใช้ข้อมูลเพื่อสู้กับปัญหาทุจริตแบบเฉพาะเจาะจงก็คงหนีไม่พ้น ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณภาษี และรายละเอียดโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกรมบัญชีกลางก็ใจดี เปิดเผยข้อมูลให้เราสามารถไปค้นหาได้
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3mQFVa4aMi6ZiasZlm0uAi/392bfbeb9c43fda7725abae28ebfe5db/Corruption-Thailand-ACT-AI-transparency-Government-open-data-SPACEBAR-Photo01
เมื่อมีชุดข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เปิดเผย แล้วมากพอ การตรวจสองหรือจะเอาเทคโนโลยีมาใช้จะง่ายมากขึ้น AI แบบไทย ACT Ai เปิดตัวตั้งแต่ปี 2562 แต่ไม่เคยมีข่าวว่า สามารถจัดการกับความคดโกงได้อย่างจริงจัง เพราะการต้านโกงไม่ได้ใช้เทคโนโลยี ถึงใช้ AI แล้วหาเบาะแสเจอก็ไม่มีคนจัดการต่อ นี่จึงเป็นเรื่องต้องตามดูต่อไปว่า การใช้ AI กับการทุจริตต่างๆ ในอนาคตจะพัฒนาให้เข้าที่เข้าทางได้อย่างไร  

เพราะ ‘ระบบ’ สามารถตรวจสอบ โครงการมีความสุ่มเสี่ยง ว่า จะเกิดการทุจริตได้ โดยเครื่องมือนี้ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปลองเล่นลองใช้ โดยเริ่มจากใส่ค้นหาด้วยคำ keyword เพียงสั้นๆ (เหมือนเวลาเสิร์ช Google เลยครับ) ระบบจะทำการแสดงผลทุกโครงการที่มีคำ keyword นั้นขึ้นมาให้ท่านได้เลือกและ กดเข้าไปดูในรายละเอียด
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/IrmiepT9rzvNb5Es71t2e/47257628efeaf42b1caf110df15b3299/Corruption-Thailand-ACT-AI-transparency-Government-open-data-SPACEBAR-Photo02
ซึ่งจะบอกข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ใช้ของโครงการ หน่วยงานที่ทำการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทที่ประมูลชนะ เอกสารสัญญา และเอกสารสำคัญทั้งหมด และ ACT Ai ยังแสดงตารางเปรียบเทียบวิธีการและรูปแบบการเสนอราคาของแต่ละบริษัทที่เข้าร่วมประมูลในครั้งนั้น และสามารถค้นหาให้ ‘ลึก’ ลงไปอีกว่า บริษัทที่ชนะการประมูลโครงการนี้ เซ็นสัญญากับหน่วยงานรัฐไปแล้วกี่โครงการ รับงานหน่วยงานไหนบ่อยที่สุด มีเจ้าของหรือกรรมการบริษัทเป็นใครบ้าง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2xtVibgxvxuhYV4QMlKVmm/6bb9b37ac3d3bdeda9cc4ce1825f4714/Corruption-Thailand-ACT-AI-transparency-Government-open-data-SPACEBAR-Photo03
กล่าวได้ว่า งานปราบโกงต้องใช้ทั้งคน เทคโนโลยี ความกล้า และการเอาจริงเอาจัง เพื่อทำให้อันดับความโปร่งใสของประเทศไทยขยับขึ้น หลังปี 2566 ยังติดอันดับที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก นี่จึงเป็นอีกการบ้านของรัฐบาลใหม่ กับการนับ 1 เริ่มดำเนินนโยบายเคลื่อนประเทศนับจากนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์