Credit Suisse กับตัวเลขที่บอกกับเราถึงสัญญาณหายนะการเงินโลก

16 มีนาคม 2566 - 07:12

Credit-Suisse-and-the-numbers-that-hint-the-global-disaster-SPACEBAR-Thumbnail
  • ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Credit Suisse แตกต่างจากกรณีของ SVB

  • มันสะท้อนความสั่นคลอนของการเงินโลกในมิติที่ต่างออกไป แต่ผลเหมือนกัน

1. 110,000 ล้านฟรังก์สวิส 

นี่คือตัวเลขเงินที่ลูกค้าถอนเงินจาก Credit Suisse มันมากกว่า 110,00 ล้านฟรังก์สวิสในไตรมาสที่ 4 ในปี 2022 แต่มีทัศนะต่างๆ กันไปเรื่องสาเหตุของการถอนเงินออก
 
  • ถ้ามองด้วยกรอบของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (หรือวิธีมองแบบชาติตะวันตก) การแห่ถอนเงินเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใสของธนาคารสัญชาติสวิสที่ปกปิดข้อมูลของลูกค้าที่เป็นปฏิปักษ์กับชาติตะวันตก (เช่น รัสเซียและจีน) รวมถึงลูกค้าที่พัวพันกับระบอบเผด็จการ และอาชญากรบางกลุ่ม 
  • ถ้ามองด้วยวิธีคิดที่ตรงกันช้ามกับชาติตะวันตก การแห่ถอนเงินอาจเกิดขึ้นจากความไม่มั่นใจในธนาคารสวิสต่างๆ ที่หลังจากเกิดสงครามในยูเครน รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ละทิ้งจุดยืนวางตัวเป็นกลาง และยิ่งชัดขึ้นเมื่อ อิกนาซิโอ คัสซิส (Ignazio Cassis) รัฐมนตรีต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2023 ว่าทรัพย์สินของรัสเซียที่ถูกอายัดในธนาคารสวิส “อาจถูกนำมาใช้เพื่อสร้างยูเครนใหม่” 
  • ท่าทีแบบนี้ทำให้ลูกค้าที่เชื่อมั่นในธนาคารสวิสที่รักษาความลับของลูกค้าเท่าชีวิต เริ่มไม่มั่นใจว่าสวิตเซอร์แลนด์ยังเป็นที่ฝากเงินที่พึ่งพาได้หรือไม่ ตัวอย่างคือ รายงานของ The Financial Times ที่ระบุว่าลูกค้าชาวจีนรวยๆ เริ่มกังวลว่าเงินของพวกเขาจะปลอดภัยหรือไม่? และที่สำคัญคือลูกค้าชาวเอเชียคือลูกค้ารายหลัก  

2. 10% ของ GDP สวิสฯ 

เมื่อความมั่นใจของลูกค้าสั่นคลอน ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่ปัญหาของ Credit Suisse แต่เป็นปัญหาของธุรกิจธนาคารของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งหมด และมันยังเป็นปัญหาของสวิตเซอร์แลนด์ทั้งประเทศ เพราะภาคธนาคารคิดเป็น 10% ของ GDP  
 
  • หากสวิตเซอร์แลนด์ยังยืนกรานที่จะอายัดทรัพย์สินของรัสเซียและอาจจะยึดมามอบให้ยูเครน ลูกค้าทั้งชาวรัสเซียและลูกค้าอื่นๆ อย่างจีน (ซึ่งมีความมั่งคั่งมหาศาล) ก็จะเลิกพึ่งพาระบบธนาคารของที่นี่ ผลที่ตามมาจะสั่นสะเทือนเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์อย่างมาก  
  • นอกจากปัญหากับรัสเซีย ชาติตะวันตกยังแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรกับจีน ซึ่งอาจทำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรง ดังนั้น ธนาคารสวิสบางแห่งจึงเริ่มซ้อมแผนรับมือว่าจะทำอย่างไรหากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนแย่ลงอย่างมาก  
  • ขณะเดียวกัน ‘ชาติเอเชีย’ นำโดย จีน, รัสเซีย และซาอุดีอาระเบีย เริ่มจับมือกันเพื่อสร้าง ‘ระเบียบโลก’ ของพวกเขาเองที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลชาติตะวันตก และสิ่งที่ตามมาคือ เอเชียจะเริ่มปลีกตัวจากการพึ่งพาระบบการเงินตะวันตก  

3. 9.9% คือหุ้นที่ซาอุฯ ถือได้ 

ชาติเอเชียเริ่มที่จะสลัดตัวเองจากระบบการเงินที่ชี้นำโดยชาติตะวันตก เพราะเห็นแล้วว่าชาติตะวันตกสามารถใช้ ‘อาวุธทางการเงิน’ เล่นงานชาติไหนก็ได้จากการณีการคว่ำบาตรรัสเซีย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ชาติเอเชียจึงหันมาพึ่งพากันเองมากขึ้น และเริ่มกระจายความเสี่ยงจากระบบการเงินชาติตะวันตก 
 
  • แต่เพราะชาติมหาอำนาจเอเชียคือผู้ลงทุนหลักในระบบการเงินตะวันตก ในขณะที่มหาอำนาจเอเชียต้องการจะแยกตัวไปตั้งกลุ่มกันเองและลุงทุนกันเอง การเงินตะวันตกยิ่งต้องการเงินของเอเชียมากขึ้น เพราะระบบของตะวันตกได้รับผลสะเทือนอย่างหนักจากสงครามในยูเครน 
  • Credit Suisse ก็ต้องพึ่งเอเชียเช่นกัน และนายทุนที่พวกเขาเรียกร้องให้มาช่วยคือ ธนาคาร SNB จากซาอุฯ เพื่ออัดฉีดทุนสำหรับปรับโครงสร้างบริษัทที่กำลังย่ำแย่ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2023 ประธานของ SNB บอกว่าไม่สามารถอัดฉีดเงินช่วยได้อีกต่อไปเพราะถูกจำกัดด้วยระเบียบไม่ให้ถือหุ้นของ Credit Suisse ได้เกิน 10% หลังจากคำกล่าวนี้แพร่ออกไป หายนะจึงเกิดขึ้นกับ Credit Suisse  

4. 65% คือหุ้นที่ร่วงในปี 2022  

ราคาต่อหุ้นของ Credit Suisse ร่วงลงอย่างหนักเหลือแค่ 2 ฟรังก์สวิสเป็นครั้งแรก และยิ่งดิ่งลงมาถึง 30% ในการซื้อขายวันที่ 15 มีนาคม
 
  • แต่มันไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เพิ่งจะเกิดแบบทันทีทันใด อันที่จริงหุ้นของ Credit Suisse ร่วงถึง 65% ในปี 2022 (ตัวเลขเดือนพฤศจิกายน) และต่อเนื่องด้วยการประกาศผลประกอบการปี 2022 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 7,300 ล้านฟรังก์สวิส เป็นการขาดทุนไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน  
  • มันยังไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก เพราะ Credit Suisse ยังเตือนว่าบริษัทอาจจะขาดทุนทั้งปี ‘เป็นจำนวนมาก’ อีกครั้งในปี 2023 ก่อนที่จะกลับมาทำกำไรในปี 2024 แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะที่เขียนบทความนี้ ทำให้น่าสงสัยว่าพวกเขาจะกลับมาทำกำไรจริงหรือไม่ หรือแค่เอาชีวิตรอดไปก่อน 

5. 50,000 ล้านจากแบงก์ชาติ

เรื่องเหนือความคาดหมายมักเกิดขึ้นแบบเหนือความคาดหมายอยู่แล้ว และหนึ่งในนั้นคือการล้มลงของธนาคาร SVB ในสหรัฐ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ของ Credit Suisse สักเท่าไร แต่มันเกี่ยวกันตรงที่สองกรณีเกิดขึ้นไล่ๆ กันจนความเชื่อมั่นของตลาดที่สั่นคลอนอย่างหนักอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ตลาดตื่นตระหนกเข้าไปอีก 
 
  • ดูเหมือนว่าทั้ง SVB และ Credit Suisse จะได้รับการ ‘อุ้ม’ อย่างทันท่วงทีจากหน่วยงานของรัฐ ปัญหาของพวกเขาคือ ความเสี่ยงที่จะขาดสภาพคล่องระยะสั้น (Liquidity) ไม่ถึงกับขาดสภาพคล่องระยะยาว (Solvency) ดังนั้น เมื่อได้รับการอัดฉีดเงินหรือการเข้าควบคุมกิจการโดยจากธนาคารกลางหรือหน่วยงานการเงินของรัฐ สถานการณ์ก็อาจจะไม่ลุกลามไป 
  • Credit Suisse ได้รับความช่วยเหลือทันทีโดยธนาคารชาติของสวิตเซอร์แลนด์ (SNB ซึ่งใช้ชื่อย่อเดียวกับธนาคารสัญชาติซาอุฯ) เป็นเงิน 50,000 ล้านฟรังก์สวิส ซึ่งน่าจะช่วยประคองสถานการณ์ไปได้ระดับหนึ่ง 
  • แต่มันจะช่วยได้แค่ไหน? ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า Credit Suisse เป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่เกินกว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์จะปล่อยให้ล้มได้ (too big to fail) เพราะมันโยงใยกับระบบการเงินของประเทศและของโลกอย่างเหนียวแน่น หากปล่อยให้ล้มอาจเกิดโดมิโน่แห่งหายนะขึ้นมาได้   
  • สหรัฐฯ ค่อนข้างหละหลวมในแง่ของการควบคุมการลงทุนของธนาคารขนาดกลางๆ และขนาดย่อมมากกว่าในยุโรป อันเป็นผลมาจากการผ่อนปรนสมัยรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ผลก็คือ SVB เข้าไปลงทุนในพันธบัตรมากเกินไปโดยหน่วยงานกำกับดูแลไม่มีโอกาสเข้ามาสอดส่อง  
  • ขณะที่ยุโรปเข้มงวดกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะหลังวิกฤติการเงินคราวที่แล้ว คือระหว่างปี 2007-2008  ดังนั้นหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ (FINMA) เฝ้าระวังไม่ให้ Credit Suisse ล้มง่ายๆ อยู่แล้ว และมีระเบียบที่เข้มงวดกว่าสหรัฐ   

แม้จะดูเหมือนว่ากรณีของ Credit Suisse จะเป็นกรณีเฉพาะ (isolated incident) ที่ไม่น่าจะลุกลาม แต่มันสะท้อนว่าความเชื่อมั่นในตลาดการเงินโลกสั่นคลอนแค่ไหน และสะดุ้งเอาง่ายๆ กับทุกเรื่อง หากยังสะดุ้งบ่อยๆ แบบนี้ มันจะไม่ใช่กรณีเดี่ยวๆ อีกต่อไป และโดมิโนแห่งหายนะอาจะเกิดขึ้นได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์