กรมพัฒน์ฯ เตือนผู้ทำบัญชีบกพร่อง 6,973 ราย ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย

23 พ.ย. 2565 - 10:30

  • กรมพัฒน์ฯ เชิญผู้ทำบัญชี 64 ราย ชี้แจง หลังพบรับทำบัญชีเกินกฎหมายกำหนด

  • แนะภาคธุรกิจต้องตรวจสอบตัวตนผู้ทำบัญชีรอบคอบก่อนจ้าง ป้องกันปัญหาตามหลัง

DBD-accountant-defective-6973-cases-SPACEBAR-Thumbnail
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ตรวจเข้มผู้ทำบัญชี หลังพบผู้ทำบัญชีบกพร่องไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขเรื่องการแจ้งชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชี จำนวน 6,973 ราย ออกหนังสือเตือนปฏิบัติให้ถูกต้อง พร้อมเรียกผู้ทำบัญชี 64 ราย เข้าชี้แจง เหตุรับทำบัญชีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากพบตั้งใจกระทำความผิดส่งดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด สร้างความเชื่อมั่นภาคการลงทุนของประเทศ  

ทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ทำบัญชีรวมทั้งสิ้น 78,858 ราย จำนวนนี้มีชื่อเป็นผู้ทำบัญชีในการนำส่งงบการเงินของธุรกิจรวมทั้งสิ้น 52,134 ราย จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า มีผู้ทำบัญชีที่บกพร่องในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี ทั้งเรื่องการแจ้งรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชีไม่ครบถ้วน หรือ แจ้งรายชื่อธุรกิจที่รับทำบัญชีเกินกว่า 30 วัน นับจากวันที่รับจ้างทำบัญชีจากธุรกิจ จำนวน 6,973 ราย โดยกรมฯ ได้มีหนังสือเตือนผู้ทำบัญชีให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังพบมีผู้ทำบัญชีจำนวน 64 ราย รับทำบัญชีเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ เกินกว่า 100 รายธุรกิจ ซึ่งกรมฯ ได้มีหนังสือเรียกให้เข้าชี้แจง หากพบตั้งใจกระทำความผิดจะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด  

ดังนั้น ธุรกิจต่างๆ ในฐานะผู้ว่าจ้างผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ทั้งผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี เพื่อป้องกันการจ้างงานที่ไม่ได้งาน ก่อนว่าจ้างงาน ธุรกิจควรตรวจสอบและสอบถามผู้ทำบัญชีว่า ยังคงเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีฯ อยู่หรือไม่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือไม่ เมื่อตกลงว่าจ้างแล้ว ควรจัดทำสัญญาจ้างงาน  กำหนดขอบเขตการจ้างงาน และราคาให้ชัดเจน รวมทั้ง หลังจากที่ได้มีการว่าจ้างผู้ทำบัญชีแล้ว ควรตรวจค้นข้อมูลว่า ผู้ทำบัญชีได้แจ้งรายชื่อธุรกิจ (ที่ว่าจ้าง) กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือยัง ทาง www.dbd.go.th >> บริการออนไลน์ >> ผู้ทำบัญชี e-Accountant >> ตรวจค้นข้อมูลผู้ทำบัญชีของนิติบุคคล  

และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับงบการเงินที่จัดทำขึ้นโดยผู้ทำบัญชี เมื่อภาคธุรกิจจะจัดหาผู้สอบบัญชี ก็ต้องเช็คว่าเป็นผู้สอบบัญชีจริง ไม่ใช่นายหน้า หรือมิจฉาชีพ ตกลงการว่าจ้างผ่านหนังสือตอบรับงาน และควรตรวจค้นข้อมูลว่า ผู้สอบบัญชีได้แจ้งรายชื่อธุรกิจ (ที่ว่าจ้าง) กับสภาวิชาชีพบัญชีฯ แล้วทาง www.tfac.or.th >>TFAC Online Service >> ตรวจค้นข้อมูลผู้สอบบัญชีของนิติบุคคล
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2iywMsGEVsHq37bKK9u8dr/372c0d29988538a486c6c72c7ca79f32/DBD-accountant-defective-6973-cases-SPACEBAR-Photo01
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการทำบัญชีตามหลักการของกฎหมายบัญชี ย้ำเตือนหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันระหว่างธุรกิจกับผู้ทำบัญชี เปิดทุกข้อบกพร่องที่มักพบจากการตรวจบัญชีของธุรกิจ พร้อมให้คำแนะนำและแจงทุกขั้นตอนเพื่อให้ผู้ทำบัญชีปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชีทุกข้อ รวมทั้งตระหนักถึงจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ด้านการทำบัญชี กรมฯ จึงได้จัดอบรมโครงการ ‘ส่งเสริมองค์ความรู้ในการปฏิบัติตามกฎหมายบัญชีให้ถูกต้องแก่ผู้ทำบัญชี’ ผ่านช่องทางออนไลน์ (Zoom) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ทำบัญชีที่บกพร่องทั้ง 6,973 ราย และผู้ทำบัญชีที่ขึ้นทะเบียนใหม่ในปี 2565 อีก 3,273 ราย รวมทั้งสิ้น 10,246 ราย โดยมีกำหนดการจัดอบรมทุกสัปดาห์ รอบละ 500 ราย เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน 2565 - วันพุธที่ 25 มกราคม 2566  

กรมฯ หวังว่าผู้ทำบัญชีจะนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้กับการปฏิบัติงาน ให้คำปรึกษา/ข้อแนะนำกับธุรกิจในการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 รวมทั้ง ผู้ทำบัญชีเองจะได้ปฏิบัติตามประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี พ.ศ.2557 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือ ตามเงื่อนไขของการเป็นผู้ทำบัญชี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และอาจส่งผลต่อการนำส่งงบการเงินของธุรกิจผ่านระบบ DBD e-filing” อธิบดีฯ กล่าว
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7mUDMTMZ9B9FkyLxdd80dz/4ff340a7d416f32b866f6fea9f47be0f/DBD-accountant-defective-6973-cases-SPACEBAR-Photo02
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3eqw9AZ3MMRtJzKCCzWcQQ/b4ba4dd32af824883922ebb08eaf9806/DBD-accountant-defective-6973-cases-SPACEBAR-Photo03

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์