ปิดตำนานใบพัดสีฟ้า ‘ดีแทค’

2 มีนาคม 2566 - 07:09

DTAC-closing-legend-big-deal-True-DTAC-telecommunication-SPACEBAR-Thumbnail
  • 34 ปี ดีแทค ปิดฉากลง หลังดีลใหญ่ ‘ควบรวม TRUE’ สำเร็จ เป็น 1 ใน 2 เจ้าของวงการสื่อสารโทรคมนาคม

  • ล่าสุด TRUE แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ควบ DTAC จดทะเบียนการตั้ง ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’ เรียบร้อยแล้ว

หลังจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ได้อนุมัติการควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC ตามหลักมาตรา 148 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และบริษัทฯได้รับแจ้งจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ส่งผลให้บริษัทและ DTAC หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล  

บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท กล่าวคือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัท และ DTAC ทั้งหมด โดยผลของกฎหมาย  

ตำนาน 34 ปี ใบพัดสีฟ้า ‘ดีแทค’ 

กล่าวได้ว่า ‘ดีแทค’ ที่ก่อมาตั้งแต่ปี 2532 ภายใต้ชื่อ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) แรกเริ่มชื่อย่อในภาษาอังกฤษคือ TAC มาจาก Total Access Communication Public Company Limited ต่อมาใช้ชื่อการค้าว่า ดีแทค (dtac) เป็นผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย เดิมเป็นบริษัทในเครือยูคอม ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่โดย บีซีทีเอ็น โฮลดิ้ง 

โดยในช่วงแรกข้ามารับสัมปทานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในช่วงความถี่ 850 และ 1800MHz จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.ในขณะนั้นปัจจุบันคือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)) ภายใต้ระยะเวลา 27 ปี ตามสัญญาสัมปทาน พร้อมทั้งให้บริการ 3 G ในช่วงความถี่ 850MHz ภายใต้สัญญาสัมปทานเดียวกัน  

ต่อมาได้มีการโอนย้ายลูกค้า ทรัพย์สิน และการให้บริการให้กับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นผู้ให้บริการหลักภายใต้แบรนด์ดีแทคมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน ดีแทค จดทะเบียนเข้าซื้อขาย ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อเดือนตุลาคมปี 2538 เดือนพฤศจิกายนปี 2539 ได้ยืดสัญญากับ กสท. ไปเป็น พ.ศ. 2561  

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ได้เริ่มต้นขายหุ้นบางส่วนให้กับ ‘เทเลนอร์’ และเปลี่ยนชื่อทางการค้าจาก ‘แทค’ เป็น ‘ดีแทค’ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2544 ต่อมา ตระกูลเบญจรงคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ในยูคอมซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแทค ได้ขายหุ้นให้กับเทเลนอร์ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2548 

วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555 ทางดีแทคได้มีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยมีบริษัทบีซีทีเอ็น โฮลดิ้ง ของตระกลเบญจรงคกุล ที่มีนายบุญชัย เบญจรงคกุลผู้ก่อตั้งดีแทค เป็นผู้บริหารอยู่ ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 มาเป็นเป็นร้อยละ 51 และกลุ่มเทเลนอร์ถือหุ้นที่เหลืออีกร้อยละ 49 เพื่อลดข้อครหาในการเป็นบริษัทต่างชาติ ที่จะเข้าร่วมประมูล 3 จีได้ ทำให้ปัจจุบันผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดีแทคคือ บีซีทีเอ็น โฮลดิ้ง 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของดีแทค เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เผยแพร่บทความว่ากลุ่มเทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ กำลังอยู่ในระหว่างการพูดคุยเรื่องการควบรวมกิจการของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค โดย ทรู คอร์ปอเรชั่น ดีลที่เกิดขึ้นมีมูลค่าสูงถึง 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผลให้ธุรกิจโทรคมนาคมประเทศไทยเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย  

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้แถลงข่าวด่วนเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ดีแทค โดยโฮลดิ้งคอมปานีที่จะจัดตั้งขึ้นร่วมกันอย่างเป็นทางการ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ จะจัดตั้ง ‘บริษัทร่วมค้า’ ขึ้นเป็นโฮลดิ้งคอมปานี และบริษัทแห่งนี้จะเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ ทรู คอร์ปอเรชั่น และดีแทค ด้วยวิธีการแลกหุ้น ภายหลังธุรกรรมเสร็จสิ้น ผู้ถือหุ้นของทั้งทรู และดีแทค จะถือหุ้นบริษัทแห่งนี้ในรูปแบบพันธมิตรที่เท่าเทียมกัน (Equal Partnership) นั่นคือกลุ่มผู้ถือหุ้นของทรูรวมเครือเจริญโภคภัณฑ์จะถือหุ้น 58% และกลุ่มผู้ถือหุ้นของดีแทค รวมถึงเทเลนอร์ และบีทีซีเอ็น โฮลดิ้ง ของ ‘บุญชัย เบญจรงคกุล’ จะถือหุ้น 42% และทั้งสองฝ่ายจะมีอำนาจในบริษัทใหม่อย่างเท่าเทียมกัน 

ต่อมา 4 เมษายน 2565 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของดีแทค ได้มีมติอนุมัติการให้ควบรวมกิจการกับทรู คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 คณะกรรมการของทรูและดีแทคได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นร่วมเป็นครั้งที่ 2 และบรรจุวาระการอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่อย่างเป็นทางการ โดยเห็นพ้องให้ใช้ชื่อเดิมว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เนื่องจากจะสื่อถึงภาพรวมธุรกิจได้มากกว่า  

22 กุมภาพันธ์ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมครั้งที่ 2 ของทรูและดีแทค ได้อนุมัติชื่อบริษัทใหม่ดังกล่าว พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้บริหารของบริษัทใหม่ทั้งหมด 

ก่อนการควบรวมกิจการจะเกิดขึ้น ข่าวการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทเกิดขึ้นมานานแล้ว พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย การแข่งขันที่รุนแรง รายได้ที่ลดลง แต่การลงทุนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านจาก 4G ไปสู่ 5G ในการประมูลคลื่นความถี่ ดีแทคแสดงให้เห็นถึงความระมัดระวังในการลงทุน การปรับโครงสร้างองค์กรที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ก่อนวิกฤตโควิด-19 ธุรกิจโทรคมนาคมในวันนี้ไม่ได้ทำกำไรมหาศาลอีกต่อไป ผู้ให้บริการต้องปรับตัวไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการสื่อสาร  

การปิดตำนานดีแทค ย่อมมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคม การแข่งขันในการให้บริการ ผลต่อรูปแบบและทิศทางการการตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยราย ซึ่งบทสรุปของดีแทค สำหรับนักลงทุน หรือตัวบริษัทแม่ของดีแทค อาจกล่าวได้ว่า นี่อาจเป็นสิ่ง ‘เหมาะสมที่สุด’ แล้ว สำหรับกลุ่มคนในดีแทค โดยเสียงของพนักงานดีแทคที่อยู่กับบริษัทมานาน แม้จะยังอยากต่อสู้ต่อไปในธุรกิจโทรคมนาคมที่แข่งขันดุเดือด แต่เมื่อสิ้นสุดทางไปต่อ จึงเหลือแค่การส่งกำลังใจและคำอาลัย ที่พนักงานบอกผ่านโซเชียลมีเดีย  ต่อจากนี้ไปตลาดโทรคมนาคมจะเป็นอย่างไร สุดแท้แต่แรงเหวียงของตลาด การเมือง และกลุ่มทุน ที่จะทิศทางไปของธุรกิจสื่อสาร
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/31UQl3zOvmyK6yqlWy7wx/729f347168d4080c3072230818032c8b/Info-_____-2

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์