ดีล AIS - 3BB ประโยชน์ VS กระทบ ‘ใคร’ ในไทย

25 ก.ค. 2566 - 03:53

  • วิเคราะห์ ดีลธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม กับทุกภาคส่วนในไทย

  • ชี้เคส AIS – 3BB ทำผู้บริโภคมีทางเลือก-ธุรกิจเข้มแข็ง

Deal-AIS-3BB-merger-broadband-internet-service-business-SPACEBAR-Hero
ดีล AIS – 3BB  ถูกมองด้วยความกังวลเรื่องการครอบงำตลาด เช่นเดียวกับดีลทรู-ดีแทค แต่เมื่อวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่า มีมุมมองในเชิงสร้างสรรค์ มากกว่าความกังวล การรวมกันเป็นการส่งเสริมสภาพการแข่งขันในตลาดต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกล (Accessible & Local) เพื่อให้เกิดการช่วงชิงผู้ใช้บริการ ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ โดยการจัดโปรโมชั่น รายการส่งเสริมการขาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นผลทำให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากขึ้น 

การรวมธุรกิจไม่ได้เป็นอุปสรรค กับการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการรายย่อย ในพื้นที่ต่างจังหวัดกว่า 100 รายทั่วประเทศ หากมีผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ก็สามารถเข้าสู่ตลาดได้ เพราะไม่ต้องใช้คลื่นความถี่ หรือสามารถเช่าใช้โครงข่ายของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF รวมถึง ผู้ให้บริการรายอื่นได้ 

จากข้อมูลผลประกอบการ ปี 2565 พบว่า จำนวนครัวเรือนในประเทศไทยที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ มีจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราการเข้าถึงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ในระดับร้อยละ 80-100 ต่อจำนวนครัวเรือน หรือเทียบกับอัตราการเข้าถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระดับร้อยละ 177 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ซึ่งการรวมธุรกิจนี้ จะช่วยส่งเสริมตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ให้เติบโตได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น 

มาที่ขนาดของธุรกิจหลังรวมกิจการ ขนาดของธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ คิดเป็น 1 ใน 3 ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น โดยข้อมูลผลประกอบการปี 2565 รายได้ของธุรกิจเน็ตบ้านทั้งภาพรวม อยู่ที่ 66,254 ล้านบาท และมีจำนวนผู้ใช้บริการเพียง 13 ล้านราย ขณะที่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้รวมกว่า 251,502  ล้านบาท และมีจำนวนผู้ใช้บริการรวมกว่า 101 ล้านเลขหมาย (ณ สิ้นปี 2565: ที่มา ข้อมูลเปิดเผยของบริษัทจดทะเบียน AIS, TRUE และ DTAC) 

ดังนั้น การรวมธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ จึงไม่มีนัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบกับผู้ใช้บริการ เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการไม่มากนัก แต่ในทางกลับกันการให้บริการจะมีคุณภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากความแข็งแกร่งของทั้งสองบริษัท มีส่วนช่วยเติมเต็มการบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการใช้โครงข่ายที่ซ้ำซ้อน เพราะการรวมธุรกิจ นอกจากจะช่วยให้เกิดการประหยัดโดยเพิ่มขนาด (Economy of Scale) แล้ว ยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (Efficiency gain) จากการสนับสนุนการใช้ทรัพยากรร่วมกันของทั้งสองเครือข่าย โดยจะมีปริมาณเท่าใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้บริการ ว่าพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่สามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้มากน้อยเพียงใด 

การรวมกันยังช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) ในประเทศไทยโดยรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล เพื่อนำงบประมาณไปใช้ในการขยายโครงข่ายเพิ่มเติมในพื้นที่ที่ยังไม่มีการให้บริการ หรือไม่เพียงพอต่อการให้บริการ และลดความซ้ำซ้อนการลงทุนโครงข่าย รวมถึงลดการขาดดุลของประเทศในการซื้ออุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อพัฒนาโครงข่าย รวมถึง ภายหลังการรวมธุรกิจ จะช่วยลดการพาดสายสื่อสารที่ซ้ำซ้อนกัน ปริมาณจึงค่อยๆ ลดลง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสายสื่อสารที่รกรุงรัง และไม่เป็นระเบียบในที่สุด 

สำหรับกลุ่มผู้รับเหมา เมื่อการรวมธุรกิจส่งเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น จึงมีการขยายการให้บริการมากขึ้น ทั้งในแง่ของพื้นที่การให้บริการและปริมาณ เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น ดังนั้น จึงจะส่งให้ผู้รับเหมามีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง มีการพยายามหาบริการ และนวัตกรรมใหม่ เพื่อแข่งขันกับผู้ให้บริการรายใหญ่ได้อย่างเต็มที่ 

สิ่งที่จะเกิดกับผู้บริโภค ลูกค้าที่ใช้งานอยู่ปัจจุบัน (Existing Customers) สามารถเข้าใช้บริการได้หลากหลาย แบบหลอมรวม (Fixed-Mobile Convergence : FMC) โดยมีคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น จากกลุ่ม AIS อาทิ คุณภาพโครงข่ายที่เร็วขึ้น เสถียรมากขึ้น ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น อีกทั้ง มีสินค้าและบริการ (Product & Service) ให้ลูกค้าเลือกใช้บริการมากขึ้น เช่น บริการดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) บริการด้านการเงิน ประกันภัย, การเชื่อมต่อ WiFi ในพื้นที่ให้บริการของ AIS และบริการอื่นๆ รวมถึง สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับมากขึ้น ระบบคอลเซ็นเตอร์ที่มีมาตรฐาน และบริการหลังการขายที่รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึง ลูกค้ายังสามารถใช้บริการที่หลากหลายเพิ่มเติมจากส่วนที่เป็นพันธมิตรของทั้งสองบริษัทอีกด้วย 

ลูกค้าใหม่ (New Customers) มีโอกาสเข้าถึงการสมัครบริการได้สะดวกและรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอการขยายโครงข่าย และมีทางเลือกในการรับบริการหรือโปรโมชั่นให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นการลดความเสี่ยงที่ลูกค้าจะไม่ได้รับบริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่ 3BB กำลังเผชิญกับการแข่งขันในตลาดที่มีการช่วงชิงลูกค้า และส่วนแบ่งทางการตลาด (Market Share) อย่างรุนแรง ภายใต้ต้นทุนการให้บริการที่คงที่และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ธุรกิจอาจประสบกับปัญหาในอนาคต ดังนั้น การรวมธุรกิจนอกจากจะช่วยรักษาคุณภาพการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ยังเพื่อรักษาลูกค้าของ 3BB ควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตของธุรกิจด้วย 

สิ่งที่หลายคนกังวล คุณภาพของบริการ ปัจจุบันเครือข่าย 3BB ในหลายพื้นที่ยังใช้เทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสายโทรศัพท์ (ADSL) อยู่ การควบรวมธุรกิจนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้บริการ 3BB ในพื้นที่ที่ AWN ให้บริการ มีโอกาสได้ยกระดับมาใช้เทคโนโลยี Optical Fiber ซึ่งเป็นเทคโนโลยีความเร็วสูง และมีความเสถียรมากกว่า 

และยังเป็นส่งเสริมการใช้อินเตอร์เน็ตในโรงเรียน เนื่องจากปัจจุบัน 3BB มีการสนับสนุนอินเตอร์เน็ตให้กับโรงเรียนกว่า 3,000 แห่ง และคาดว่า เมื่อรวมธุรกิจกันแล้ว จะให้บริการอินเตอร์เน็ตฟรี สำหรับนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการพัฒนารูปแบบกิจกรรมการเรียนการสอนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ 

ยังมีประโยชน์ต่อกลุ่มสตาร์ทอัพ (Start Up) พบว่า การรวมธุรกิจจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมภาคธุรกิจในการปรับองค์กรในยุคดิจิทัล (Digital transformation) อาทิ การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับธุรกิจ, การพัฒนาโซลูชั่นที่สามารถประยุกต์ได้กับธุรกิจที่หลากหลาย (5G Horizontal Solutions) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), ความเป็นจริงเสริม (AR)/ความเป็นจริงเสมือน (VR), วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบวิเคราะห์และประมวลผลภาพ (Video Analytics) 

รวมถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต, การขนส่งและโลจิสติกส์, อสังหาริมทรัพย์, บริการสุขภาพและการเกษตร อีกทั้ง ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกับพันธมิตร และสร้างระบบนิเวศในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการ และสามารถนำไปใช้งานได้จริงของภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับให้สตาร์ทอัพไทยเติบโตอย่างยั่งยืน 

ที่สำคัญ ยังประโยชน์มหาศาลต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมทั้งระดับมหภาค และเศรษฐกิจครัวเรือน การที่ประเทศมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมพื้นที่อยู่อาศัยของประชากร และมีคุณภาพความเร็ว แรง และเสถียร จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และทำให้คนไทยใช้ชีวิตได้มากกว่าเดิม การรวมกิจการของ AIS ที่มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีและบริการคุณภาพสูง เข้ากับ 3BB ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในตลาดบรอดแบนด์มาก่อน มีจุดเด่นเรื่องความครอบคลุมพื้นที่ตามต่างจังหวัด เมื่อรวมกันแล้ว จึงเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไปสู่ระดับครัวเรือน ที่พักอาศัย ของประชาชนในทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ทั่วประเทศ ต้องยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นลมหายใจสำคัญ และจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของคนในทุกๆ ด้าน 

เมื่อเกิดการรวมกิจการ มักจะเกิดข้อกังวลใจอยู่บ้าง ที่ว่าแม้การรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB จะทำผู้ให้บริการในตลาดลดน้อยลง และค่าดัชนีที่ใช้วัดการกระจุกตัวของอุตสาหกรรม (HHI) เปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนรวมธุรกิจ อยู่ที่ 2,694 หลังรวมธุรกิจ อยู่ที่ 3,328 แต่ไม่ได้หมายความว่า การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบในทางลบต่อการแข่งขันในตลาดเสมอไป โดยธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่มีค่าดัชนี HHI ค่อนข้างสูงเกือบทุกตลาดบริการ  

ขณะที่ ตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เป็นตลาดที่มีค่าดัชนี HHI ต่ำที่สุดในกลุ่มตลาดค้าปลีกด้านธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งการรวมธุรกิจนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการแข็งแรง และลงทุนในเครือข่ายที่มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และช่วยยกระดับคุณภาพการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์