ศาล รธน. ชี้ รัฐให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเกิน 51% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ขัด รธน.

9 ม.ค. 2566 - 11:14

  • มติศาล รธน. รับรองความชอบธรรมแผน PDP 2022 ที่สัดส่วนผลิตไฟฟ้าของรัฐ ต่ำกว่า 51%

  • เสียงข้างมาก ชี้ไม่ขัด รธน. มาตรา 56 วรรคสอง

  • ระบุ ก.พลังงาน –กกพ. ทำหน้าที่ครบถ้วน ดูแลผลประโยชน์รัฐและค่าไฟ ไม่ให้เป็นภาระประชาชน

EGAT-produces-electricity-below-51-percent-not-violating-law-SPACEBAR-Hero
วันนี้ (9 มกราคม) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่า การที่กระทรวงพลังงาน และคณะกำกับกิจการพลังงานให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 หรือ PDP2022 ทำให้สัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดลงต่ำกว่าร้อยละ 51 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา56 วรรคสอง ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง   

มาตรา 56 วรรคสองบัญญัติว่า โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ  อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐจะกระทำด้วยประการใด ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้   

ส่วนมาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม 

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 (กระทรวงพลังงาน) และผู้ถูกร้องที่ 2 ( คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) ที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56 วรรคสามและวรรคสี่ ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง  

มาตรา 56 วรรคสาม บัญญัติว่า การจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง รัฐต้องดูแลมิให้มีการเรียกเก็บค่าบริการจนเป็นภาระประชาชนเกินสมควร  

วรรคสี่ บัญญัติว่า การนำสาธารณูปโภคของรัฐไปให้เอกชนดำเนินการทางธุรกิจ ไม่ว่าด้วยประการใดๆ รัฐต้องได้รับประโยชน์ทดแทนอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงการลงทุนของรัฐ ประโยชน์ที่รัฐและเอกชนจะได้รับและค่าบริการที่จะเรียกเก็บจากประชาชนประกอบกัน 

กำลังการผลิตไม่ใช่โครงสร้าง 

คดีนี้ สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล อดีตรักษาการ อธิการบดี เอแบค เป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรนูญ ให้วินิจฉัยว่า การที่กำลังการผลิตไฟฟ้าของรัฐลดต่ำลงกว่าร้อยละ 51  ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 56 วรรค 2 หรือไม่   

สุทธิพร เคยนำเรื่องนี้ไปร้อง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ในยุค พลเอกวิทวัส รชตะนันท์ เป็นประธานแล้ว  ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า ‘ขัดรัฐธรรมนูญ’ และให้ กระทรวงพลังงานปฏิบัติให้ถูกต้องภายใน 10 ปี นับจากปี 2562  

กระทรวงพลังงานได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564  

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า  ข้อร้องเรียนของสุทธิพร เป็นเรื่องสัดส่วนการผลิตพลังงาน ไม่ใช่โครงสร้าง แต่มาตรา 56  ของรัฐธรรมนูญกล่าวถึง โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐาน ไม่ใช่สัดส่วนการผลิตพลังงาน  การดำเนินงานของรัฐบาล เป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าและส่งไฟฟ้ามาให้รัฐรวบรวม และจัดให้ประชาชนอย่างทั่วถึง   

การผลิตกับโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของรัฐเป็นคนละกรณีกัน โดยนโยบายของกระทรวงพลังงาน ไม่ได้มีการกำหนดหรือดำเนินการใดๆ  ที่จะจำหน่าย จ่าย แจก หรือโอนโครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานที่เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลออกไปให้กับเอกชน หรือผู้หนึ่งผู้ใดจนลดต่ำลงกว่าร้อยละ 51 แต่อย่างใด  

ปัจจุบัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีกำลังการผลิตถึง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ และเป็นเจ้าของสายส่งไฟฟ้า ซี่งเป็น โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานด้านไฟฟ้า ที่รับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ  มาขายให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แต่เพียงผู้เดียว 100% 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/13qhglpFHFLOdW9dXqTH1e/5e94de223e4dbc12bebb78778ca0fc59/EGAT-produces-electricity-below-51-percent-not-violating-law-SPACEBAR-Photo01

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์