เส้นทาง ‘ล่ามธุรกิจ’ ของ ‘กิตติพัฒน์ มณีใหญ่’ ที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้

21 พ.ย. 2565 - 08:39

  • จุดเริ่มต้นเส้นทางอาชีพล่ามที่เกิดจากจับพลัดจับผลู

  • กับข้อถกเถียง ‘ล่ามที่ดี’ vs ‘ล่ามที่เก่ง’ นั้นต่างกันยังไง

  • แต่ในบางครั้ง ‘ล่าม’ ก็ยังเป็นนักกอบกู้สถานการณ์ อีกด้วย

  • พิเศษ! ฟังเรื่องราวของ ‘กิตติพัฒน์ มณีใหญ่’ ในรูปแบบพอดคาสต์ได้ในรายการ ‘What is Professional’ ที่ท้ายบทความ

Economic- Interpreter-professional-carrier-SPACEBAR-Thumbnail
อาชีพ ‘ล่าม’ อีกหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ที่เข้ามาช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างการสื่อสารที่แตกต่างกันออกไป ล่าสุดสายงานนี้ ยังเข้าไปเป็นส่วนประกอบความสำเร็จในการจัดการประชุมเอเปค 2022 (APEC 2022 Thailand) ระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และได้ปิดฉากไปพร้อมกับเสียงชื่นชมจากผู้นำเอเปคต่อการจัดงานเวทีระดับสากลที่ ‘ประเทศไทย’ เป็นจ้าภาพในครั้งนี้ 

ในโอกาสนี้ SPACEBAR ชวนทุกคนไปพูดคุยกับ ‘ม่อน - กิตติพัทธ์ มณีใหญ่’ มืออาชีพในสายงานล่าม พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานบนเส้นทางนี้ ที่ไม่ได้ใช้แค่ทักษะความเข้าใจของคู่ภาษาแต่ยังมี ‘บางสิ่ง’ ที่ลึกไปกว่านั้น    
 

แบ่งสาย ‘ล่าม’ 


กิตติพัฒน์ วัย 33 ปี ปัจจุบันทำงานล่ามในบริษัทเอกชนญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ให้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ล่ามธุรกิจ’ พร้อมเล่าจุดเริ่มต้นอาชีพนี้เกิดจากการจับพลัดจับผลู จากก่อนหน้าตั้งใจจะเป็น ‘นักการทูต’  

ด้วยในช่วงที่เขายังศึกษาในไทยได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงานอาจารย์ที่ต้องการล่ามแปลภาษาญี่ปุ่น-ไทย รวมถึงในช่วงเรียนที่ญี่ปุ่นก็ได้รับงานล่ามจากสถานกงสุลที่ต้องการให้นักศึกษาไทยมาช่วยงานด้านนี้หลายครั้ง ก่อนสะสมประสบการณ์จนกลายเป็นทักษะ ที่ปูสู่เส้นทางสายอาชีพล่ามอย่างจริงจังร่วม 8 ปี  

เขา อธิบายต่อถึงอาชีพ ‘ล่าม’ (Interpreter) ว่า สามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ของผู้จ้างงานหรือองค์กร เช่น งานล่ามสำหรับการประชุม การติดตามศิลปิน ล่ามสำหรับคดีความในศาลฯ เป็นต้น   

หรือแบ่งตามลักษณะการทำงาน ซึ่งหลักๆ มี 3 ประเภท ได้แก่ ล่ามแปลสลับ (Consecutive interpreter) ซึ่งพบบ่อยที่สุด ล่ามแปลพร้อม (Simultaneous interpreter) ที่แปลความไปพร้อมๆ กับผู้พูด พบบ่อยในการประชุมผู้นำระดับนานาชาติ และ ล่ามกระซิบ (Whispering interpreter) ที่ล่ามจะนั่งอยู่ข้างๆ กับคนพูด 

นอกจากนี้ยังมี การแปลแบบล่ามมอง (Sight translation) คือ มีเอกสารแผ่นหนึ่งให้ล่ามมองเห็นแล้วแปลออกมาได้ในทันที โดยไม่ต้องอาศัยนักแปลเอกสาร   
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/iELyVuRIATYyB7amanQBS/733320723b4ba3e4ac74926fc96f9770/Economic-_Interpreter-professional-carrier-SPACEBAR-Photo01

‘สกิล’ อื่นก็ต้องมี 


กิตติพัฒน์ อธิบายต่อว่า “การจะเป็นล่ามได้นั้น ทักษะความเก่งด้านภาษาอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ แต่ยังต้องอาศัยความเข้าใจวัฒนธรรม ความเป็นมาของภาษาต้นทางที่ต้องการจะสื่อสาร หรือรู้ธรรมชาติ ของภาษานั้นๆ ซึ่งยังรวมไปถึงโครงสร้างภาษาในการสร้างรูปประโยคที่แตกต่างกัน”  

แต่สุดท้ายเพื่อให้ได้สาระสำคัญมากที่สุด ล่ามที่เก่งจะต้องฟังให้ครบถ้วนทั้งประโยคเพื่อ ‘จับใจความสำคัญ’ ที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร

โดยหลักๆ แล้ว ก่อนจะเริ่มในแต่ละงานนั้น ล่ามจะต้องพูดคุยกับผู้ต้องการให้สื่อสารถึงวัตถุประสงค์ หรือ คอนเซปต์ของงานก่อน ว่ามีความเป็นพิธีการ หรือ สามารถใส่ความบันเทิงผ่อนคลาย ได้มากน้อยแค่ไหน ด้วยสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างเป็นรายละเอียดสำคัญ ที่จะช่วยให้พลิกสถานการณ์ในช่วงที่กำลังสื่อสารอยู่นั้น จากบรรยากาศ อึมครึม ตึงเครียด พลิกเป็นความโล่งใจ ได้  

เจ้าตัวเล่าว่า เคยเจองานที่ตึงมากๆ ระหว่างเจ้านายประเมินการทำงานที่หละหลวมของผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วล่ามไม่ควรแปลงสาร โดยเฉพาะล่ามในศาลฯ ห้ามแปลงสาร ถือเป็นจรรยาบรรณ แต่ในการทำงานก็ต้องดูวัตถุประสงค์ว่าถ้าอยากให้อยู่ร่วมกัน การเลือกใช้โทนน้ำเสียง หรือ การหาคำใกล้เคียงกัน ก็สามารถช่วยผ่อนคลายสถานการณ์นั้นได้ 

“สไตล์การพูดแล้วติดหัวเราะ เป็นเหมือนกันทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น ซึ่งบางครั้งเราก็ต้องเอาทักษะด้านการแสดงดึงออกมาใช้ตีความเจตนาของผู้พูด ว่าพูดแบบนี้มีความหมายอะไร หัวเราะแบบไหน ประชด หรือ จริงใจ เพราะในหนึ่งการหัวเราะมีอาจมีนัยยะซ่อนอยู่มากมาย”   
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4IAE2tUzpFl5YXw0fq2xzL/029b03b3380b46508c925f6fee5bcc55/Economic-_Interpreter-professional-carrier-SPACEBAR-Photo02

นักรักษา ‘ความลับ’ 


ในชีวิตการทำงานอาชีพล่าม ‘กิตติพัฒน์’ บอกว่าจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ ทั้งด้านภาพลักษณ์ การแต่งกาย บุคลิกภาพ เพราะจะสะท้อนความน่าเชื่อถือในสิ่งที่ผู้พูด หรือ สิ่งที่ล่ามถ่ายทอดออกไป “หากล่ามไปออกงาน แล้วไม่ดูแลภาพลักษณ์ตัวเอง ก็อาจทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ”  

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความพร้อมของร่างกายที่จะต้องฟิตอยู่เสมอ พักผ่อนให้เต็มที่ ไปจนถึงหาของกินรองท้องเอาไว้ก่อน อย่างการไปงานติดตามผู้จ้างงานในสถานที่ต่างๆ ทั้งแบบทางการ หรือ ในสถานบันเทิงแบบส่วนตัว ด้วยแน่นอนว่าคนเป็นล่ามมีโอกาสที่จะได้ ‘อิ่ม’ น้อยมากหากต้องอยู่ในงานกินเลี้ยงสังสรรค์  

“รวมไปถึงการรักษาความลับ ของลูกค้าหรือผู้ว่าจ้าง ซึ่งเป็นจรรยาบรรณสำคัญของงานอาชีพนี้ บางกรณีมีงานล่ามติดตามศิลปินที่เดินทางมาพักผ่อนเมืองไทยแบบส่วนตัว เพราะมากับแฟน แล้วไม่ได้บอกแฟนคลับที่ไม่รู้ว่าศิลปินคนนี้มีแฟน หรือ การเป็นล่ามงานประชุมสินค้าใหม่ยังไม่วางตลาด ตรงนี้ถือเป็นข้อมูลความลับลูกค้า ที่แม้ว่าล่ามจะรู้อยากแชร์แค่ไหน แต่ก็ห้ามแพร่งพรายเด็ดขาด ต้องรักษาจรรยาบรรณ”   
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/4eiX9Lfg6kzUcIbDGPt3z6/6b0c32d56eeaa98727b2d5ba7ec5b848/Economic-_Interpreter-professional-carrier-SPACEBAR-Photo03

ร่วมกอบกู้สถานการณ์  


กิตติพัฒน์ ย้ำอีกว่า ในเวลานี้ยังเป็นเรื่องที่หาจุดร่วมกันระหว่างนิยาม การเป็นล่ามที่ดีและล่ามที่เก่งในสายอาขชีพนี้  

ในทางทฤษฎี ล่ามไม่ควรแปลงสารระหว่างการสื่อสารใดๆ แต่หากมองที่วัตถุประสงค์ของงานนั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่ชวนคิดไม่ใช่น้อย  

พร้อมยกตัวอย่างงานระดับประเทศโดยมีผู้นำรายหนึ่งเข้าพบ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจในเหตุการณ์สูญเสียจากภัยพิบัติที่เกิดในสหรัฐฯ  

โดยผู้นำรายนั้นพูดสาเหตุความเสียหายจากพายุแคทรินา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานกว่าสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่ล่ามในงานนี้เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดี และเลือกที่จะไม่เอ่ยชื่อถึงพายุลูกนี้ แต่ก็ยังสามารถแปลสื่อสารความครบถ้วนเอาไว้ได้ ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่าเป็นข้อถกเถียงพอสมควรในวงการล่าม    

กิตติพัฒน์ บอกอีกว่า หากดูที่เจตนาเพื่อต้องการอยู่ร่วมกันและให้เกิดความลื่นไหลของวัตถุประสงค์การจัดงาน การ ‘รักษาภาพลักษณ์’ ให้ผู้นำระดับประเทศ ย่อมหมายถึงการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศด้วยเช่นกัน ขณะที่ตัวล่ามเองอาจจะโดนตั้งคำถาม ณ ช่วงเวลานั้นๆ เพียงเท่านั้น  

พร้อมกล่าวปิดท้ายว่า “ความเป็นมืออาชีพในฐานะล่ามธุรกิจ  ระหว่างล่ามที่ดี กับล่ามที่เก่ง นั้น  ไม่ว่าสำนักล่ามใดๆ บนโลกจะอ้างอิงทฤษฎีเสมอว่า หากพูดแบบไหนก็ควรแปลแบบนั้น คือ ล่ามที่เก่ง ซึ่งส่วนตัวผมซื้อไอเดียนี้นะ แต่ในขณะเดียวกันไม่ควรเป็นล่ามที่เก่งแต่ควรเป็นล่ามที่ดีด้วย พร้อมกัน”   

ด้วยอย่างที่กล่าวข้างต้น คือ ล่ามควรเป็นตัวเชื่อมสัมพันธ์และบรรลุวัตถุประสงค์ของการประชุมนั้นๆ ได้ และที่สำคัญจะต้องศึกษาหาความรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่จะช่วยให้งานล่ามราบรื่น  

ซึ่งไปถึงจุดนั้น ผมมองว่า “เป็นมืออาชีพ”     

ฟังเรื่องราวของ ‘กิตติพัฒน์ มณีใหญ่’ ในรูปแบบพอดคาสต์ได้ในรายการ ‘What is Professional’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์